8 วิธีสื่อสารกับลูก...ให้ถูกวิธี

แม่และเด็ก

8 วิธีสื่อสารกับลูก...ให้ถูกวิธี
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : น.พ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

           คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจคิดว่าการสื่อสารกับลูกเป็นเรื่องง่าย ๆ แค่พูดได้ คุยกับลูกได้ ก็น่าจะสื่อสารกันได้แล้ว แต่แท้ที่จริงแล้วการสื่อสารกับลูกเป็นเรื่องหญ้าปากคอกนะครับ กล่าวคือ เป็นเรื่องอยู่ใกล้ตัว เหมือนรู้แล้ว แต่อาจไม่รู้จริง หรือบางทีอาจรู้ไปผิด ๆ เลยก็ได้

เทคนิคฝึกการสื่อสารที่ดีกับลูก ได้แก่ วิธีการดังต่อไปนี้

1.หลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ทำไม"

           ตัวอย่างการใช้คำถามที่ขึ้นต้นว่า "ทำไม" เช่น "ดึกแล้ว...ทำไมลูกยังไม่ไปอาบน้ำ" จะสื่อสารให้ลูกเข้าใจได้ 2 แบบ คือ

           ลูกทำไม่ดีเลย ทำไมจึงทำเช่นนั้น

           ถ้ามีเหตุผลดี ๆ การกระทำเช่นนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับได้

           ผลเสียที่ตามมาก็คือ เด็กจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองมากขึ้น เพื่อพยายามยืนยันว่า ความคิดและการกระทำของเขาถูกต้อง เลยเป็นการสอนให้เด็กเถียงแบบข้าง ๆ คู ๆ แล้วพ่อแม่ก็จะโมโหลูกเสียเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเริ่มต้นให้เด็กหาเหตุผล แต่เมื่อเด็กแสดงเหตุผล ก็ไม่ยอมรับเหตุผลของเขาอยู่ดี ถ้าต้องการทราบเหตุผลจริง ๆ ของพฤติกรรมเด็ก ควรถามดังนี้

           "แม่อยากรู้จริง ๆ ว่า อะไรทำให้ลูกทำอย่างนั้น"
           "พอจะบอกแม่ได้ไหมว่า ลูกคิดอย่างไรก่อนที่จะทำอย่างนั้น"
           "มันเกิดอะไรขึ้น ไหนลองเล่าให้แม่เข้าใจหน่อย"

2.ตำหนิที่พฤติกรรมมากกว่าตัวเด็ก

           ถ้าพ่อแม่จะตำหนิเด็ก ต้องระวังการต่อต้านไม่ยอมรับวิธีการที่ทำให้เด็กยอมรับ และไม่เสียความรู้สึกด้านดีของตนเอง สามารถทำได้ด้วยการตำหนิที่ตัวพฤติกรรมนั้น ดีกว่าตำหนิที่ตัวเด็ก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

           "ดึกแล้ว การที่ลูกนั่งดูทีวี ยังไม่ไปอาบน้ำ เป็นสิ่งที่ไม่ดี" การพูดแบบนี้ดีกว่าการบอกว่า "ลูกนี่แย่มาก ไม่มีความรับผิดชอบเลย นั่งดูแต่ทีวี"

           หรือการพูดว่า "การทำเช่นนั้น ไม่ฉลาดเลย" ดีกว่า "ลูกโง่มากนะ ที่ทำเช่นนั้น"

           ไม่ควรใช้คำพูดทำนองว่า เป็นนิสัยไม่ดี หรือสันดานไม่ดี เพราะจะทำให้เด็กต่อต้าน หรือแกล้งเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือลามไปถึงพ่อแม่ เช่น "วางของไม่เป็นที่อย่างนี้ นิสัยไม่ดีเลย" ควรพูดว่า "แม่เคยสอนแล้วว่าลูกควรวางของให้เป็นที่"

3.คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกใช้คำพูดที่ขึ้นต้น "ฉัน" มากกว่า "เธอ" (I-YOU Message)

           ตัวอย่างการพูดเช่นนี้ ได้แก่

           "พ่อไม่ชอบการที่ลูกยังไม่ยอมปิดทีวี ตามที่พ่อบอก" ดีกว่า "ลูกนี่แย่มาก...ดูแต่ทีวีทั้งวัน"
           "แม่อยากให้ลูกอาบน้ำตามเวลา"
           "แม่อยากให้ลูกหยุดฟัง เวลาแม่พูด"
           "แม่เสียใจที่ลูกทำเช่นนั้น"
           "พ่อแม่อยากให้ลูก..."
           "พ่อแม่จะดีใจมากที่..."

4.ใช้การสื่อสารโดยให้บอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการของเด็ก

           นอกจากจะเป็นการฝึกให้เด็กมีทักษะในการสื่อสาร กล้าพูด กล้าบอกสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึก แล้วยังเป็นการสอนให้เด็กบอกความต้องการอย่างสุภาพ ด้วยความเข้าใจกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ได้ ด้วยการฝึกการสื่อสารดังต่อไปนี้

           "ลูกคิดอย่างไรกับ เรื่องนี้..."
           "ลูกรู้สึกอย่างไร ลองบอกพ่อแม่..."
           "ลูกต้องการให้เป็นอย่างไร..."

           พ่อแม่ควรรับฟังเด็กมาก ๆ ให้เขารู้สึกว่า การพูดบอกเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และพ่อแม่พร้อมที่จะรับฟัง ช่วยคิด หรือแบ่งปันความรู้สึก

5.ชมบนหลังคา ด่าที่ใต้ถุน

           คุณพ่อคุณแม่ควรมีเทคนิคในการชม ให้เกิดความภาคภูมิใจตนเอง ควรชมให้ญาติ พี่น้อง หรือคนในครอบครัวทราบ และร่วมชื่นชมด้วย เป็นเทคนิคแบบเดียวกับการที่คุณครูชมเชยพฤติกรรมดีของนักเรียนคนหนึ่งให้เพื่อน ๆ รับรู้ในห้องเรียน หรือประกาศคุณความดีของนักเรียนคนหนึ่งหน้าเสาธง เวลานักเรียนทั้งหมดเข้าแถวในตอนเช้า เมื่อชมเด็กแล้ว อาจเสริมให้เด็กรู้สึกต่อไปว่า เขาคงจะพอใจที่ตัวเองเป็นคนดีด้วย ต่อไปเด็กจะชื่นชมตัวเองเป็น และไม่ต้องรอให้คนอื่นเห็นความดีของตน หรือรอให้คนอื่นชมเสมอไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้

           "พ่อดีใจมากที่ลูกช่วยเหลือน้อง และสอนน้องทำการบ้าน ลูกก็คงรู้สึกภูมิใจในตัวเองที่ทำเช่นนั้น ใช่ไหม"

           "พ่อแม่ภูมิใจที่ลูกสอบได้คะแนนดี พี่และคุณปู่คุณย่า ช่วยกันตบมือให้หน่อย ลูกคงภูมิใจในตัวเองเหมือนกันใช่ไหม"

           หากแต่เวลาเตือน อย่าให้เกิดความอับอาย หรือทำเป็นการประจาน ควรเปิดโอกาสให้เด็กค่อย ๆ คิด และยอมรับข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง อย่าทำให้เด็กเสียความรู้สึกต่อหน้าผู้อื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ควรเตือนเป็นการส่วนตัว และก่อนจะเตือน ควรหาข้อดีของเขาบางอย่างชมตรงจุดนั้นก่อน แล้วค่อยเตือนตรงพฤติกรรมนั้น เช่น

           "แม่รู้ว่าลูกเป็นคนฉลาด แต่การที่ลูกเอาของพี่เขาไปโดยไม่บอกนั้นไม่ถูกต้อง"

6.ถามความรู้สึกและสะท้อนความรู้สึก

           ตัวอย่างเช่น

           "หนูคงเสียใจ ที่คุณแม่ทำโทษ" (สะท้อนความรู้สึก)
           "ลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง ที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน" (ถามความรู้สึก)
           "ลูกคงโกรธที่ถูกน้องแกล้ง" (สะท้อนความรู้สึก)
           "เรื่องที่คุยกันนี้คงจะกระทบความรู้สึกของลูกมาก เราจะคุยเรื่องนี้กันต่อได้ไหม" (สะท้อนความรู้สึก)

7.ถามความคิดและสะท้อนความคิด

ตัวอย่างเช่น

           "เมื่อลูกโกรธ ลูกคิดจะทำอย่างไรต่อไป" (ถามความคิด)
           หากเด็กตอบว่า "ผมอยากกลับไปชกหน้ามัน (เพื่อนคนหนึ่งที่โรงเรียน)"
           พ่อแม่ควรพูดต่อไปว่า "ลูกโกรธมากจนคิดว่าน่าจะกลับไปชกหน้าเขา" (สะท้อนความคิด)

           การถามและสะท้อนความรู้สึกและความคิดนี้ จะได้ประโยชน์มาก เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า เราเข้าใจในความคิด และความรู้สึกของเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เป็นพวกเดียวกัน และจะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นทำให้เราชักจูง หรืออบรมได้ง่ายขึ้น

8.การกระตุ้นให้เด็กคิดด้วยตนเอง

           ในการฝึกให้เด็กคิด และแก้ปัญหานั้น ควรฝึกให้เด็กคิดเองก่อนเสมอ เมื่อเด็กคิดไม่ออก คิดไม่รอบคอบ หรือไม่กว้างพอ พ่อแม่อาจช่วยเสริม หรือชี้แนะให้ในตอนท้าย เช่น

           "ลูกคิดว่าปัญหาอยู่ที่ไหน" (ให้คิดสรุปหาสาเหตุของปัญหา)
           "แล้วลูกจะทำอย่างไรต่อไปดี" (ให้คิดหาทางออก)
           "ทางออกแบบอื่นล่ะ มีวิธีการอื่นหรือไม่" (ให้หาทางเลือกอื่น ๆ ความเป็นไปได้อื่น ๆ)
           "ทำแบบนี้ แล้วคาดว่าผลจะเป็นอย่างไร" (ให้คิดถึงผลที่ตามมา)
           "เป็นไปได้ไหม ถ้าจะทำแบบนี้...(แนะนำ)...ลูกคิดอย่างไรบ้าง"

           เทคนิคสื่อสารกับลูกให้ถูกวิธี เหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างคุณพ่อคุณแม่และลูกแล้ว ยังช่วยลดความหงุดหงิด และเผลอใช้อารมณ์โกรธของพ่อแม่ที่จะมีต่อลูกได้อีกด้วย นอกจากนั้นเมื่อลูกเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ก็จะมีความเข้าใจในตัวพ่อแม่ มีปัญหาอะไร เขาก็จะเล่าให้ฟัง กล้าปรึกษาพ่อแม่ และไม่ค่อยพูดยั่วให้โมโห หรือท้าทายพ่อแม่อีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม เทคนิคสื่อสารกับลูกให้ถูกวิธีนี้ ค่อนข้างอ้างอิงมาจากการใช้ภาษาของทางตะวันตก (ฝรั่ง) คุณพ่อคุณแม่อาจนำหลักการมาประยุกต์ และใช้ภาษาให้เหมาะสมกับคนไทยได้ตามความสมควร เรามาช่วยกันใช้เทคนิคการสื่อสารดี ๆ แบบนี้กับลูกหลานของเรากันเถิดครับ

        

            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, โรงพยาบาลกรุงเทพ
ปีที่ 36 ฉบับที่ 488 ตุลาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 วิธีสื่อสารกับลูก...ให้ถูกวิธี อัปเดตล่าสุด 21 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15:34:37 3,044 อ่าน
TOP
x close