เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
บ้านไหนกำลังเลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อยคงต้องคอยระวังเอาไว้ให้ดี ไม่ปล่อยให้บรรยากาศในบ้านตกอยู่ในความตึงเครียด เพราะมีผลการศึกษาจากศาสตราจารย์คอรี่ เบอร์กีห์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐฯ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารธรรมชาติประสาทวิทยา (Nature Neuroscience) เมื่อวันอาทิตย์ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ค้นพบว่า เด็กสามารถรับรู้ความเครียดได้ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองส่วนที่รับผิดชอบด้านอารมณ์ ทำให้เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นเด็กที่มีภาวะความเครียดและซึมเศร้าเมื่อเติบโตไปเป็นวัยรุ่น แต่น่าแปลกใจที่มันส่งผลในเด็กหญิงเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ตามรายงานจากเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า การทดลองดังกล่าวเป็นการทดลองระยะยาว เริ่มต้นในช่วงปี 2533-2534 ด้วยบุตรหลานจาก 570 ครอบครัว แต่การศึกษาชิ้นนี้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อติดตามตั้งแต่ยังเป็นเด็กแบเบาะออกมา 57 ราย ประกอบด้วย เด็กหญิง 28 ราย และเด็กชาย 29 ราย ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดอายุ 18 ปีแล้ว เพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อความเครียดในครอบตัวต่อพัฒนาการของเด็ก
วัยรุ่นหญิงและชายทั้ง 57 คน ถูกทำการแสกนสมอง (MRI scan) ในขณะที่สมองกำลังอยู่ในขั้นพักผ่อน (resting state) เพื่อหาค่าความสัมพันธ์ระหว่าสมองส่วน "อะมิกดาลา" (amygdala) ซึ่งรับผิดชอบอารมณ์ในด้านลบและการตอบสนอง กับสมองส่วน "พรีฟรอนทอล คอร์เท็กซ์" ซึ่งช่วยเรื่องการประมวลผลและควบคุมความรู้สึกในแง่ลบ โดยการทำงานของสมองทั้งสองส่วนนี้ ส่งผลถึงอารมณ์ความรู้สึกว่าด้วยความรู้สึกดีหรือหดหู่ของเจ้าของ
ผลปรากฏว่า วัยรุ่นหญิงผู้ที่มีค่าความสัมพันธ์ระหว่างสมองส่วนอะมิกดาลากับพรีฟรอนทอล คอร์เท็กซ์ ต่ำ มีช่วงชีวิตวันเด็กนับแต่ยังทารกกับมารดาซึ่งมีรายงานว่ามีระดับความเครียดสูง (ทั้งด้วยเรื่องของความซึมเศร้า ปัญหาการปรับตัวในการเป็นแม่ ปัญหาด้านความสัมพันธ์ และปัญหาด้านการเงิน) และเมื่อย้อนไปดูผลการตรวจระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดในร่างกายของพวกเธอ ที่เคยทำไว้เมื่อวัย 4 ขวบ ยังพบว่า เมื่อตอนสาววัยรุ่นเหล่านี้ยังเป็นเด็กหญิง พวกเธอมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงกว่าเด็กคนอื่น ๆ อีกด้วย
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่กลุ่มทดลองทั้ง 57 คนจะได้รับการแสกนสมอง พวกเขาได้รับการตรวจระดับฮอร์โมนความเครียดอีกครั้ง (ตรวจหาระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจากตัวอย่างน้ำลาย ซึ่งจะทำการเก็บตัวอย่างในตอนเย็นของวันนั้น ซึ่งจะบอกได้ว่าในทั้งวันนั้นพวกเขามีความเครียดมากแค่ไหน) พบว่าระดับความเครียดที่ได้ในวันนั้น ไม่มีความสัมพันธ์ที่สำคัญต่อสมองส่วนอะมิกดาลา และพรีฟรอนทอล คอร์เท็กซ์ แต่อย่างใด
ศาสตราจารย์เบอร์กีห์ ได้อธิบายผลการทดลองนี้ว่า เด็กหญิงซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่มีสภาพตึงเครียดใครครอบครัว จะเกิดความเครียดตาม (สังเกตได้จากระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ตรวจพบในวัย 4 ขวบ) และส่งผลกระทบต่อระดับการทำงานสอดประสานของสมองส่วนอะมิกดาลา และพรีฟรอนทอล คอร์เท็กซ์ ซึ่งทำหน้าที่เรื่องอารมณ์ความรู้สึก ทำให้เด็กหญิงคนนั้นกลายเป็นคนที่มีความเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย และส่งผลเช่นนั้นถาวรมาจนถึงตอนโต อย่างไรก็ดี กลับไม่พบผลกระทบในทำนองเช่นเดียวกันนี้ในเพศชาย (สังเกตจากระดับค่าการทำงานของสมองทั้งสองส่วน)
เช่นนี้แล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กหญิงได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง และเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่อบอุ่น เพื่อเป็นผลดีต่อตัวเด็กให้กลายเป็นคนที่มีคุณภาพ และสุขภาพดีทั้งกาย-ใจ ต่อไปในอนาคต