กล่อมลูกหลับฝันดีด้วย...นิทาน



กล่อมลูกนิทราด้วยนิทานฝันดี
(Mother&Care)
เรื่อง : ม่านบาหลี ภาพ กณวรรธน์

          คาถาปราบคุณหนูให้อยู่หมัด เพราะความดื้อและซุกซน คือ บอกว่าเดี๋ยวจะเล่านิทานให้ฟัง ฉะนั้นทำตัวดี ๆ เชื่อไหม พอเอ่ยคำว่านิทาน เด็ก ๆ มักตาโตตื่นเต้นอยากจะฟัง และพร้อมจะยอมทำตามคำสั่งได้อย่างง่ายดายค่ะ

Why...คุณหนูเทใจให้นิทาน

          นิทานช่วยเพิ่มสมาธิ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อมั่น ความมั่นใจ กล้าแสดงความคิดเห็น ความผูกพันให้ลูกได้ดี มีการวิจัยพบว่าวัย 3-4 ปี เป็นช่วงที่ลูกอยากให้พ่อแม่เล่านิทานก่อนนอนให้ฟังมากที่สุด ริชาร์ด วูฟสัน นักจิตวิทยาเด็กระบุ เด็กวัยนี้บอกช่วงเวลาที่พ่อแม่อ่านนิทานให้ฟังเป็นช่วงเวลาที่เด็กชอบมาก

          จากการสำรวจเด็กในอังกฤษพบว่า การฟังนิทานเป็นกิจกรรมโปรดปรานของเด็ก ที่แซงหน้ากิจกรรมบันเทิงอื่น เช่น ดูทีวี เล่นเกม เพราะช่วยให้เด็กหลับสนิทอย่างเป็นสุข รู้สึกอุ่นใจ เกิดความรู้สึกคุ้นเคยที่จะทำสิ่งดีงามและถูกต้อง จากเนื้อหาในนิทาน เกิดความรู้สึกว่าตนคือส่วนหนึ่งของนิทานที่จะต้องทำสิ่งนั้น

How to...เล่านิทานเพื่อคุณหนูนิทรา

          ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กดี มีพฤติกรรมที่น่าชื่นชมในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องอาหารการกิน การแปรงฟัน การดูแลสุขภาพอื่น ๆ อย่าได้มองข้ามนิทานกับเทคนิคเหล่านี้ไปเชียวนะคะ

อ่านให้เข้าใจ

          อ่าน จดจำ ทำความเข้าใจในเนื้อหาของนิทานที่จะเล่าให้ขึ้นใจเสียก่อน พร้อมจับประเด็นของนิทานให้ได้ว่านิทานเรื่องที่จะเล่าให้ลูกฟังนี้มีแง่คิดดี ๆ หรือประโยชน์อะไรกับลูกบ้าง แล้วเล่าให้ลูกฟังวันละ 15-20 นาที

ปรับให้เหมาะสม

          แบ่งเรื่องเป็นตอน ไม่ต้องให้เหมือนในนิทานเป๊ะ ถ้าเห็นว่าลูกกำลังสนใจ ลองเพิ่มเนื้อเรื่องเข้าไปอีกสิคะ หรือจะลดจะเพิ่มตัวละครเข้าไป หรือปรับให้สอดคล้องกับความสนใจของลูกอย่างไรก็ตามสบายเลย

น้ำเสียงน่าฟัง

          เสียงน่าฟังไม่ได้หมายถึงน้ำเสียงไพเราะเสนาะหู แต่ต้องรู้จักเน้นเสียงหรือเว้นจังหวะให้ดูน่าสนใจ เช่น ใช้เสียงหนัก เสียงเบา เสียงกระซิบ พูดเร็ว ๆ หรือพูดช้า ๆ ลากเสียงเสริมสักนิด อย่าใช้น้ำเสียงราบเรียบมาก

เล่าไม่เป็นเช่นคนอื่น

          ถ้าจำเรื่องไม่ได้ เล่าไม่เป็น ต่อเรื่องไม่ถูก รู้สึกเขินอาย ไม่มั่นใจไปเสียทั้งหมดว่าจะเล่าให้ลูกฟังได้อย่างสนุกสนานอย่างคนอื่น อย่ากังวลไปนะคะ เปิดนิทานขึ้นมาเล่าให้ลูกฟังไปเลยค่ะ อ่านไปเล่าให้ลูกฟังไป โดยอ่านนิทานเรื่องนั้นให้เข้าใจทั้งเล่มก่อน เวลาเล่าให้ลูกฟังจะได้เปิดหน้าภาพให้ตรงกับเรื่องที่จะเล่าด้วยนะคะ

อ่านจากนิทานโดยตรง

          ถ้าเปิดนิทานแล้วยังเล่าไม่ได้ ก็อ่านให้ลูกฟังไปตามตรง แต่อย่าท่องอ่านแบบอาขยานเน้นเสียงหนักเบาน่าสนใจด้วยค่ะ พอลูกเคลิ้ม ๆ ใกล้หลับก็จุมพิตหน้าผาก หรือหอมแก้มกระซิบข้างหูว่า ฝันดีนะจ๊ะ แม่ (พ่อ) รักลูกมากที่สุด เท่านี้ก็สร้างความทรงจำที่ผูกพันประทับใจลูกรักการอ่าน รักพ่อแม่ และเติบโตเป็นคนดีแล้วค่ะ



            



ขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.8 No.93 กันยายน 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กล่อมลูกหลับฝันดีด้วย...นิทาน อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2555 เวลา 14:37:20 1,658 อ่าน
TOP
x close