ดูแลลูกน้อย..ให้ห่างไกลโรคปอดบวม

โรคปอดบวม

ดูแลลูกน้อยห่างไกลปอดบวม
(modernmom)
เรื่อง : รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           ลมฝนที่พัดมานำพาอาการหวัดมาด้วย ซึ่งนั่นคือชนวนที่ทำให้เกิดโรคร้ายแสนอันตรายอย่างปอดบวม เรื่องของฤดูกาลเราคงห้ามไม่ได้ แต่ทำอย่างไรที่จะป้องกันลูกน้อยจากโรคนี้

           "โรคปอดบวม" หรือบางคนเรียกว่าปอดอักเสบ ปอดติดเชื้อ หรือปอดชื้น เป็นการติดเชื้อของถุงลมซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุดของระบบทางเดินหายใจ

           โรคปอดบวมมักพบตามหลังไข้หวัดที่หลายคนอาจใช้คำว่า "หวัดลงปอด" พบได้บ่อยในเด็กสองวัย คือ ช่วงอายุ 3 เดือน-2 ปี และเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนในช่วงแรกซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กไม่แข็งแรงนัก

           เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ที่ส่งผ่านรกมายังเด็กตั้งแต่แรกคลอดค่อย ๆ ลดต่ำลงจนถึงระดับต่ำสุด เมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือน ทำให้เด็กเริ่มป่วยเป็นไข้และเป็นหวัดได้บ่อย กว่าเด็กจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เพียงพอในการป้องกันโรคได้ต้องรอจนถึงอายุประมาณปีครึ่งถึงสองปี ซึ่งจะทำให้เด็กเจ็บป่วยลดลง

           ส่วนช่วงที่สองเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันของเด็กมีความสมบูรณ์ แต่สิ่งแวดล้อมที่สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนมีเชื้อโรคอยู่รอบตัว ทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องป่วยจากการเป็นหวัดบ่อย ๆ กว่าร่างกายจะปรับตัวและไม่ค่อยเจ็บป่วยอาจต้องรอจนกว่าเด็กจะเติบโตถึงวัยประถม เมื่อเด็กป่วยเป็นไข้หวัดมีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามไปยังถุงลมและทำให้เกิดโรคปอดบวมได้หากสุขภาพของเด็กอ่อนแอหรือเชื้อโรคมีความรุนแรง

ส่องกล้องมองหาสาเหตุ

           โรคปอดบวมมีสาเหตุจากเชื้อไวรัสเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เชื้อแบคทีเรียมักเข้ามาซ้ำเติมภายหลัง เช่น หลังติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจมีเชื้อแบคทีเรียไอพีดีตามมา กรณีที่เด็กมีอาการไอเป็นเวลานานเกินสองสัปดาห์ พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาการดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากเชื้อโรคที่ไม่ธรรมดาอย่างเชื้อมัยโคพลาสม่า เชื้อไอกรน หรือแม้แต่เชื้อวัณโรค ซึ่งต้องวินิจฉัยอย่างถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมจากแพทย์

ดูแลหนูเมื่อเป็นปอดบวม

            หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ดูแลรักษาที่บ้านได้ ซึ่งคุณแม่ต้องดูแลให้ลูก

            ดื่มน้ำมาก ๆ

            กินยาตามอาการ ได้แก่ ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ควรหลีกเลี่ยงยาลดน้ำมูก เพราะอาจทำให้เสมหะเหนียว ส่งผลให้เด็กไอเพิ่มขึ้น

            ตรวจตามแพทย์นัดเด็ก เพื่อติดตามอาการเป็นระยะ ๆ จนอาการหายเป็นปกติ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง มีภาวะแทรกซ้อน แพทย์จะรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาล

           เมื่อเด็กอยู่โรงพยาบาล แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือพ่นยาขยายหลอดลม ให้ยาปฏิชีวนะ กรณีสาเหตุของโรคอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยทั่วไปโรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการเป็นหลัก ยกเว้นกรณีโรคปอดบวมเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อของยาโอเซตามีเวียร์

วิธีห่างไกล "ปอดบวม"

            หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ชุมชน ซึ่งมีผู้คนและเด็กจำนวนมากโดยไม่จำเป็น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า

            หากมีอาการของไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และปิดปากเวลาไอจาม ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปยังคนอื่น ๆ ได้

            หากลูกมีอาการของไข้หวัดควรได้รับการดูแลรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสม โดยพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ และกินยาตามอาการ เพื่อลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะโรคปอดบวม

            เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมบางชนิดป้องกันได้ด้วย วัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไอพีดี วัคซีนหัด วัคซีนไอกรน

           ภูมิต้านทานของเด็กยังน้อย ลูกจึงมักป่วยได้ง่าย พ่อแม่หลายคนอาจกังวลใจอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อทราบสาเหตุและวิธีรับมือ คุณแม่น่าจะเบาใจขึ้นบ้างแล้วครับ


            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.17 No.203 กันยายน 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ดูแลลูกน้อย..ให้ห่างไกลโรคปอดบวม อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2555 เวลา 11:02:55 14,172 อ่าน
TOP
x close