ฝนมา...ไวรัส RSV ก็มา



ไวรัส RSV

ฝนมา...ไวรัส RSV ก็มา (รักลูก)

เรื่อง : ก้านแก้ว เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ เรืออากาศเอกแพทย์หญิงหฤทัย กมลาภรณ์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

          ฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม เป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักจะป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้ค่ะ

ไวรัส RSV ทำลายระบบทางเดินหายใจ

          ไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่ส่วนบนจนถึงส่วนล่าง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหลอดลมฝอยอักเสบ (Acute bronchiolitis) และอาจทำให้ปอดอักเสบติดเชื้อ (pneumonia) โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีโรคประจำตัว คลอดก่อนกำหนด มีโรคปอดเรื้อรัง โรคทางระบบประสาท โรคที่ทำให้เด็กขับเสมหะได้ไม่ดี กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคหัวใจเรื้อรัง เมื่อติดเชื้อไวรัส RSV จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เพราะกลไกในการไอและขับเสมหะของร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร

          เมื่อเด็ก ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้รับเชื้อ RSV จะมีแนวโน้มเป็นโรคหอบหืดได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพ่อแม่เป็นโรคหอบหืด หรือเด็กมีภาวะเกี่ยวข้องกับโรคหอบหืด เช่น แพ้อาหาร แพ้นม มีผื่นภูมิแพ้ โดยจะมีความเสี่ยงเป็นโรคหอบหืดได้ตั้งแต่ 5-13 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จากการวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ประมาณ 10% ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบขั้นรุนแรงมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส RSV

ลูกเป็นหวัดหรือติดไวรัส RSV ?

          เด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV มักจะมีอาการเริ่มแรกเหมือนไข้หวัด คือ มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่สิ่งที่พ่อแม่สามารถสังเกตเห็นว่าลูกติดเชื้อ RSV คือ

         ไอมาก เสมหะเยอะและเหนียวข้น

         อาการหายใจหอบเหนื่อย หน้าอกบุ๋ม

         อาจมีเสียงหายใจดังวี้ด ๆ

         มีอาการซึม ไม่กินอาหารและน้ำ

         มักจะหงุดหงิด กระวนกระวาย

         มีสีเขียวคล้ำบริเวณริมฝีปาก หรือปลายมือปลายเท้า เนื่องจากร่างกายขาดออกซิเจน

          หากลูกมีอาการไข้สูงในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด ก็ให้สงสัยว่าอาจได้รับเชื้อโรคมา ควรพาไปให้คุณหมอเช็กอย่างละเอียด โดยการตรวจร่างกาย ฟังปอด เพื่อฟังเสียงลมหายใจ ถ้ามีเสียงวี้ด จะพ่นยาขยายหลอดลมและฟังซ้ำว่าตอบสนองลักษณะใด รวมถึงการเอ็กซเรย์ปอดในรายที่สงสัยปอดอักเสบ

          การตรวจหาเชื้อนี้ทำได้โดยใช้อุปกรณ์พิเศษลักษณะคล้ายก้านสำลียาว ๆ เข้าไปกวาดเนื้อเยื่อในโพรงจมูก เพื่อส่งไปตรวจหาไวรัส RSV คล้ายกับที่ทำในไข้หวัดใหญ่ค่ะ

RSV ต้องรักษาตามอาการ

          การรักษาอาการติดเชื้อไวรัส RSV จะรักษาไปตามอาการที่ป่วย คือ ให้ยาลดไข้ ให้น้ำเกลือ ในเด็กที่มีอาการหนักอาจต้องให้ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ เคาะปอด แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กที่ขับเสมหะเองไม่ได้ ก็จะต้องช่วยดูดเสมหะ หรือหากมีอาการรุนแรงมากก็จะต้องได้รับออกซิเจน โดยคุณหมอจะพิจารณาว่าอาการอยู่ในระดับไหน สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้หรือต้องนอนโรงพยาบาล หากเด็กมีอาการไม่รุนแรง ก็สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ด้วยการกินยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และดื่มน้ำเยอะ ๆ ค่ะ

ร่างกายแข็งแรงเกราะป้องกัน RSV

          เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV ทำให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสในช่วงที่แพร่ระบาดได้มาก ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยให้ลูกไม่ต้องเจ็บป่วยจากโรคนี้ คือ การมีร่างกายที่แข็งแรงและรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

         ไวรัส RSV สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำมูก ไอ จาม จึงควรสอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ หลังจากทำกิจกรรม หรือก่อนกินอาหาร

         ฝึกให้ลูกใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด

         ให้เด็กทารกได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

         ออกกำลังกายและกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคเป็นประจำ

         เมื่อลูกต้องอยู่ในอากาศที่หนาวเย็นอย่างในห้องแอร์ ควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

         ไม่ควรให้ลูกอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด

         หากลูกเคยได้รับเชื้อไวรัส RSV มาแล้ว ควรติดตามอาการต่อว่ามีความเสี่ยงจะเป็นโรคหอบหืดหรือไม่

          ถึงแม้ว่าไวรัส RSV จะมีอาการรุนแรงมากกว่าไวรัสหวัดทั่วไป แต่ถ้าหากดูแลสุขภาพลูกน้อยให้แข็งแรง ก็ปลอดภัยจากไวรัส RSV ได้ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 356 กันยายน 2555



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฝนมา...ไวรัส RSV ก็มา อัปเดตล่าสุด 26 ตุลาคม 2559 เวลา 12:09:40 70,804 อ่าน
TOP
x close