เมื่อลูกเป็น ตากุ้งยิง

ตากุ้งยิง

เมื่อลูกเป็น ตากุ้งยิง
(Mother&Care)

          สมัยเด็ก ๆ เราจะได้ยินกันบ่อย ๆ ว่าใครเป็นตากุ้งยิงแสดงว่าคนนั้นไปแอบดูใครอาบน้ำมา นับเป็นเรื่องล้อกันขำ ๆ แต่คนที่เป็นคงไม่ขำด้วย เพราะมีอาการเจ็บร่วมด้วย ตากุ้งยิงไม่ได้เป็นเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น เด็ก ๆ ก็เป็นได้ และยังสามารถเกิดซ้ำได้ง่าย ๆ อีกด้วย ฉบับนี้เรามาทำความรู้จักตากุ้งยิงกันดีกว่า
 
ตากุ้งยิง เกิดขึ้นได้อย่างไร

          ตากุ้งยิง เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณใต้เปลือกตา เพราะบริเวณนี้มีต่อมไขมันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (บางคนอาจมีการอุดตันของต่อมใต้เปลือกตามาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อ) ทำให้มีอาการบวม เป็นก้อนที่เปลือกตา เจ็บ ปล่อยทิ้งไว้ก็จะเป็นหนอง และหนองนั้นจะแตกเองได้ ซึ่งเชื้อที่ติดนั้น คือ เชื้อสแตพไฟโลคอคคัส

          เด็กที่เป็นตากุ้งยิงบ่อย ๆ เพราะยังรักษาความสะอาดของตัวเองไม่ดีพอ และเป็นวัยที่ชอบเล่นซน มืออาจจะเปื้อนฝุ่น แล้วนำมือไปขยี้ตาบ่อย ๆ ทำให้เปลือกตาเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ง่าย ๆ
 
ทำไมเป็นแล้วเป็นอีก

          หลายคนเมื่อเป็นตากุ้งยิงครั้งหนึ่งแล้ว ไม่นานมักจะเป็นซ้ำ นั่นเป็นเพราะมีหนองหลงเหลืออยู่ และรักษาความสะอาดไม่ดีพอก็ทำให้เกิดตากุ้งยิงซ้ำได้บ่อย ๆ  ตากุ้งยิงไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพแต่อย่างไร แต่สร้างความรำคาญ และเจ็บบริเวณที่เป็น

ตากุ้งยิง มี 2 ชนิด

          1. ชนิดมีหัว จะเห็นหัวฝีผุดมาให้เห็นชัดเจน บริเวณขอบตา โดยรอบ ๆ ตุ่มจะนูนแดง เมื่อกดจะเจ็บ

          2. ชนิดหัวหลบใน คือ หัวฝีหลบอยู่ด้านในเปลือกตา ผู้ที่เป็นจะรู้สึกปวดที่เปลือกตา เมื่อคลำดูจะเป็นตุ่มแข็ง และเจ็บ
      
การดูแลโดยรวม

        รักษาความสะอาด โดยไม่สัมผัส หรือขยี้บริเวณตา

        ทำความสะอาดใบหน้าด้วยน้ำสะอาด และใช้ผ้าเช็ดหน้าที่สะอาด

        หลีกเลี่ยงในที่ฝุ่นเยอะ เลี่ยงการนั่งรถมอเตอร์ไซค์ หรือที่ที่ถูกลมโกรก

        อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น

        ล้างมือบ่อย ๆ

รักษาแบบไหน
     
ระยะเริ่มเป็น

          ในช่วงแรก ที่เปลือกตาเพิ่งอักเสบ จะมีลักษณะมีตุ่มแดง เป็นเม็ดแข็ง ยังไม่มีหนอง ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นแล้วประคบไว้บริเวณนั้นประมาณ 15 นาที วันละ 3-4 ครั้ง จะช่วยลดอาการบวม เจ็บ และช่วยให้ต่อมไขมันใต้เปลือกตาไม่อุดตัน อาการมักดีขึ้นภายใน 3-4 วัน

ระยะมีหนอง

          บางรายที่ไม่หายจะมีหนองอยู่ในตุ่มที่บวมขึ้นมา ไม่ควรบีบหนองออกเอง เพราะอาจทำให้ติดเชื้อและมีอาการอักเสบมากขึ้น แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์กรีดหนองออกให้ ถ้าเป็นตุ่มไม่ใหญ่ บางครั้งหนองจะแตกออกมาเอง ก็ต้องหมั่นรักษาความสะอาด โดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ด

          เมื่อไปพบคุณหมอ บางครั้งคุณหมอจะจัดยาซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับหยอดหรือป้ายตา



            



ขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกเป็น ตากุ้งยิง อัปเดตล่าสุด 3 ตุลาคม 2555 เวลา 13:42:05 6,062 อ่าน
TOP
x close