x close

5 วิธีดูแลบาดแผล ให้ลูกวัยซน

แม่และเด็ก

5 วิธีดูแลบาดแผลให้ลูกวัยซน
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

          เมื่อเจ้าตัวเล็กเปลี่ยนวัยเป็นเจ้าหนูจอมซน อุบัติเหตุจากการเล่นซุกซนตามวัยอาจมีให้เห็นกันได้ ฉะนั้นเรื่องเด่นที่คนเป็นพ่อแม่ต้องป้องกัน คือ เรื่องความปลอดภัย แต่เมื่อถึงขั้นเจ็บตัว มีบาดแผล สิ่งที่ทำได้คือการปฐมพยาบาล ดูแลลูกวัยซนอย่างเหมาะสม ถูกวิธี ด้วยคำแนะนำต่อไปนี้ค่ะ

1.แผลฟกซ้ำ

          เป็นแผลที่เกิดได้จากการถูกของแข็งหนีบ, การกระทบกระแทก จะไม่มีบาดแผลฉีดขาดหรือเลือดออกให้เห็นจากภายนอก แต่มีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง และหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนัง ทำให้เลือดคั่งอยู่ใต้ผิวหนัง ลักษณะที่เห็นชัดคือเป็นรอยช้ำ บวม และสีผิวเปลี่ยนไป (สีม่วงแดง)

 Do

        ประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำแข็งเป็นระยะ ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการห้ามเลือด

        หลังจาก 24 ชั่วโมงต่อมา ประคบด้วยน้ำอุ่น เพื่อลดอาการช้ำ บวม

        ไม่ควรคลึง ขยี้ หรือนวดด้วยความร้อน เช่น ยาหม่อง ยาแก้เคล็ดขัดยอก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้น

2.แผลถลอก

          เกิดจากการที่ผิวหนังชั้นนอกเสียดสีกับพื้นผิวที่ขรุขระ เช่น การหกล้ม สะดุด ลื่นล้ม เป็นต้น และมักเป็นแผลถลอกแบบตื้น มีเลือดซึมออกมาเล็กน้อย บางครั้งก็มีน้ำใส ๆ เหนียว ๆ ออกมา และมักมีฝุ่นผงหรือสิ่งสกปรกเล็ก ๆ ติดมาด้วย เป็นแผลที่มีโอกาสติดเชื้อ อักเสบได้

 Do

        ห้ามเลือดโดยการใช้สำลีหรือผ้าสะอาดกดที่บริเวณแผลเบา ๆ

        ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและกำจัดเศษสิ่งสกปรกออกให้หมด

        ถ้าแผลสกปรกมาก ควรเช็ดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เพื่อฆ่าเชื้อ แล้วใส่เบตาดีนทาให้ทั่วบริเวณผิวหนังที่ถลอก แต่ถ้าแผลที่ถลอกเป็นรอยลึก อาจใช้ผ้ากอซปิดแผลเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก การติดเชื้อค่ะ

3.แผลถูกบาด

          ลักษณะของแผลที่ถูกบาด แบ่งได้หลายลักษณะตามวัตถุ สิ่งของ เช่น มีด เศษแก้ว โลหะ รวมถึงของแหลมมีคมที่แทงเนื้อเยื่อ เช่น เข็มหมุด ตะปู ของปลายแหลม ทั้งนี้หลักการเบื้องต้นในการดูแลแผลที่ถูกบาด เน้นการป้องกันการติดเชื้อเหมือนกันค่ะ

 Do

        ใช้ผ้าสะอาดกดที่แผล เพื่อห้ามเลือด ถ้าเป็นแผลขนาดใหญ่ให้ใช้ผ้าพับหลายชั้น

        ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด และใช้ผ้าสะอาดปิดแผล

        ถ้าหลังการทำแผลมีลักษณะบวม แดง และมีกลิ่น ควรรีบพบคุณหมอค่ะ

4.แผลปากแตก ฟันโยก

          เกิดได้ทั้งจากการหกล้ม วิ่งชนของแข็ง ตกจากที่สูง ฯลฯ ทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปาก และส่งผลให้ฟันหน้าลูกโยกเล็กน้อย หรือมีเลือดออกซึม ๆ จากขอบเหงือกรอบฟันหน้า

 Do

        ใช้ผ้าสะอาดซับเลือดให้หยุด และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด

        กินอาหารอ่อน ๆ และเลี่ยงการใช้ฟันซี่นั้น ๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์

        ถ้าฟันบิ่นหรือหัก (มีลักษณะเป็นรอยแหลมคม) ควรพาลูกน้อยไปพบคุณหมอ เพื่อกรอฟันลบความแหลมคม แต่ถ้าบิ่นมาก ก็สามารถอุดเติมให้เต็มซี่ฟันเหมือนเดิม เพราะถ้าไม่อุดอาจทำให้ฟันซี่นั้นผุได้ง่าย

5.แผลที่ศีรษะ

          หลังจากที่ศีรษะกระแทกกับของแข็งเส้นเลือดจะมารวมตัวอยู่มากบริเวณที่ถูกกระแทก เห็นเป็นลักษณะปูด พูดติดปากเรียกว่า หัวปูด หัวโนนี่แหละค่ะ

 Do

        ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวม เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ลดอาการเจ็บ (ไม่ควรใช้น้ำอุ่นประคบจะทำให้เส้นเลือดขยายตัว ยิ่งทำให้แผลบวมมากขึ้น)

        สูตรโบราณใช้ดินสอพองก็ได้ค่ะ นำมาละลายน้ำทาบริเวณที่บวม ความเย็นของดินสอพองช่วยลดอาการบวม

        ภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าลูกมีอาการซึม อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาคุณหมอโดยด่วน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.8 No.92 สิงหาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 วิธีดูแลบาดแผล ให้ลูกวัยซน อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2555 เวลา 15:28:54 50,874 อ่าน
TOP