6 วิธีดูแลลูก หลังฉีดวัคซีน



6 วิธีดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

           คุณแม่อาจสังเกตพบอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย หลังจากรับการฉีดวัคซีน เช่น มีผื่น บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือตัวร้อน เป็นไข้ร้องไห้โยเยผิดปกติ อาการเหล่านี้ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัวในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เป็นอันตรายรุนแรง แต่ก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ถูกวิธี เราจึงเตรียมความพร้อมให้คุณพ่อคุณแม่รับมือดูแลอาการด้วยวิธีต่อไปนี้ค่ะ

1.ผื่นขึ้น

           หลังจากการฉีดวัคซีนผื่นจะค่อย ๆ ขึ้นและหายไปเอง จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาทา เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ส่วนประกอบในวัคซีนหรือเชื้อที่อยู่ในวัคซีนโดยตรงทำให้เกิดผื่นคล้ายการติดโรคได้

           ข้อแนะนำคือ ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อความสบายตัว หากผื่นที่ขึ้นไม่หายเป็นนานอาจไม่ใช่สาเหตุจากการฉีดวัคซีนควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพราะอาการมักหายไปเองภายใน 2-3 วันค่ะ

2.ปวด บวม แดง

           หากลูกมีอาการบวมหรือแสดงอาการปวด (ร้องโยเยมาก) ให้คุณแม่ประคบด้วยน้ำแข็งบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้อาการดังกล่าวสามารถหายไปภายใน 1-3 วัน แต่หากบริเวณที่บวมแดง เป็นไตหรือเป็นแผล คุณแม่ลองสังเกตว่า ลูกขยับแขนข้างที่ฉีดวัคซีนได้น้อยลงหรือไม่ขยับแขน อาการเช่นนี้อาจเกิดการติดเชื้อจนเป็นตุ่มหนอง ต้องพาลูกน้อยไปพบคุณหมอค่ะ

3.มีไข้

           ใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดพอหมาด ๆ เช็ดตัวลดไข้ บริเวณซอกคอ ข้อพับต่าง ๆ เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย อาการไข้ก็จะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-3 วัน ถ้าไข้ยังสูง ไม่ยอมลด อาจให้ยาลดไข้ตามที่คุณหมอแนะนำ

4.โยเย

           เวลาที่เจ้าตัวเล็กงอแง ร้องไห้ อย่าเพิ่งร้อนใจไปค่ะ คุณแม่ต้องใจเย็น ใช้วิธีปลอบโยนลูก เช่น เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการพาไปเดินเล่น ร้องเพลง หรือเปิดเพลงให้ลูกฟัง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี การโอบกอดอุ้มลูกโยกตัวไปมาเบา ๆ เพื่อช่วยสร้างความอบอุ่น สบายใจ ให้ลูกน้อยหายจากอาการโยเยค่ะ

5.ชัก

           ถ้าลูกมีไข้สูงมาก ๆ อาจทำให้เกิดอาการชัก เพื่อป้องกันผลเสียที่จะตามมา นอกจากต้องตั้งสติให้ดีเป็นอันดับแรกแล้ว คุณแม่ควรปฏิบัติดังนี้

          จับลูกนอนตะแคงหน้า เพื่อป้องกันการสำลักหรือลิ้นไปอุดทางเดินหายใจ

          ไม่นำของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ฯลฯ ใส่ปากลูก เพราะจะทำให้สำลักมากขึ้น และรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที

          ระหว่างเดินทางถ้าลูกมีไข้ ตัวร้อน ควรเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนให้มากที่สุด

6.ฝี

           มีลักษณะเป็น ๆ ยุบ ๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะหายไปไม่จำเป็นต้องใส่ยา หรือทายาปิดแผลค่ะ หากฝีเกิดแตกเอง คุณแม่สามารถใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดทาเช้า-เย็น จนกว่าฝีจะแห้ง และควรระวังไม่บีบ ไม่กด หรือทำอะไรกับฝีที่ขึ้นเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อ หากเกิดติดเชื้อ ฝีอักเสบ ต้องรีบไปพบคุณหมอทันที

วัคซีนแบบไหน มีอาการข้างเคียงบ้าง

 วัคซีน  อาการข้างเคียง
 วัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี)  อาจมีตุ่มนูน เป็นหนองขนาดเล็ก บริเวณที่ฉีดหลังฉีดประมาณ 2-3 สัปดาห์
 วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน  มีไข้ และอาจเกิดอาการชัก มักเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง หลังรับวัคซีน
 วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ  อาจมีอาการอ่อนแรง หรือมีอาการอัมพาต แต่พบได้น้อยมากและหายเองได้
 วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม  มีไข้ และผื่นบวมแดงบริเวณที่ฉีด หลังได้รับวัคซีน 5-7 วัน
 วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส  มีไข้ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น
 วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ  มีไข้ต่ำ ๆ ปวดบริเวณที่ฉีดและอาจมีผื่นขึ้น

           การสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดหลังจากเจ้าตัวเล็กรับวัคซีน และเตรียมพร้อมข้อมูลด้วยวิธีที่เราแนะนำน่าจะเป็นตัวช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับอาการข้างเคียงด้วยตัวเอง ไม่ต้องกังวลใจเรื่องสุขภาพของลูกวัยเบบี๋ค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

 Vol.8 No.92 สิงหาคม 2555


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
6 วิธีดูแลลูก หลังฉีดวัคซีน อัปเดตล่าสุด 24 กันยายน 2555 เวลา 15:29:15 125,731 อ่าน
TOP
x close