รักจะเลี้ยงสัตว์ต้องรู้จักความปลอดภัย (รักลูก)
เรื่อง : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
มีผลการศึกษาหลายชั้นที่ระบุว่าเด็ก ๆ ที่ใกล้ชิดดูแลสัตว์เลี้ยงสัตว์มักมีสุขภาพจิตดี แถมบรรยากาศในบ้านก็แจ่มใสสดชื่นยิ่งขึ้น การที่เด็ก ๆ ได้ใกล้ชิดเป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง ทำให้เด็ก ๆ มีเมตตากรุณา ได้เรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เด็ก ๆ ที่กอดรัดฟัดหอมกับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นภาพที่แสนอบอุ่นและน่าเอ็นดู แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็พลอยสุขใจไปด้วย แต่ช้าก่อน...สิ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งก็คือ "ความปลอดภัย" ครับผม!
เหตุเพราะมีความไม่ปลอดภัยหลายประการ ที่ใคร ๆ ก็อาจคาดไม่ถึงได้ เช่น ไม่ควรให้ลูก ๆ นัวเนียกับสัตว์เลี้ยงถึงขนาดจุ๊บ ๆ กับปาก-จมูกของมัน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ "แบคทีเรีย พาสตูเรลลา เพสติส" อันเป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ในช่องปากของหมา ๆ แมว ๆ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) ซึ่งจะติดได้ทางน้ำลาย ทางลมหายใจ ของเจ้าสัตว์เลี้ยง
นอกจากการหอม ๆ กอด ๆ (ซึ่งทำให้ลูกสูดลมหายใจของสัตว์เลี้ยงเข้าไป) หากผิวหนังของลูกมีแผล หรือมีรอยข่วนยิ่งจะต้องระวังให้มาก เพราะว่าเจ้าเชื้อโรคชื่อยาว ๆ นี้ มันจะเข้าไปทางบาดแผล แล้วก็เข้าไปในกระแสเลือด
แบคทีเรียอีกตัวชื่อเรียกยากพอ ๆ กัน ก็คือ บลูเซลลา เมลิเทนซิส และบลูเซลลา อะบอตัส แต่ก็สามารถติดสู่คนได้ไม่ยาก อย่าว่าแต่เด็กเลยนะครับ แม้แต่ในผู้ใหญ่ หากได้รับเชื้อสายพันธุ์นี้ก็อาจเกิดอาการอัณฑะโต แต่ถ้าเป็นหญิงตั้งครรภ์ก็เสี่ยงต่อการแท้งบุตร นอกนั้นก็อาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย และมีไข้ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือเชื้อพาสตูเรลลา เพสติส ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแต่อาจไม่เป็นอะไรเลย แต่พอเกิดพักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิต้านทานต่ำ หรือเกิดเป็นโรคอื่น ๆ ขึ้นมา เจ้าเชื้อที่มันซ่อนเร้นอยู่นี้จะร่วมโจมตีร่างกายไปด้วย โดยอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าเพียงแค่มีอาการ ไอ จาม คัดจมูก หรืออาจจะเป็นหวัดธรรมดา ๆ แต่แล้วก็กลับมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ไอหนักขึ้น อาจจะถึงขั้นรบกวนจนไม่ต้องหลับต้องนอนกัน ต่อเมื่อให้ไปพบแพทย์ก็จะพบว่า เชื้อโรคชนิดนี้ได้แพร่ไปยังปอด หลอดลม ทำให้เกิดอักเสบอย่างรุนแรง หลายรายบริเวณดวงตาก็อักเสบจนตาบวมและอักเสบ
เราจะพบว่ายุคนี้มีสัตว์หลากหลายประเภทที่ได้กลายเป็นที่นิยมรักใคร่ของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระต่าย หนูแฮมเตอร์ ชะนี กระรอก แม้แต่สัตว์ที่มีราคาแพง และเป็นที่น่ากลัวก็ตาม แต่ไม่ว่าเป็นยุคใด "น้องแมว น้องหมา" ยังคงเป็นที่นิยมสูงสุด เพราะฉะนั้นหากรักน้องแมว รักน้องหมา สิ่งที่จะต้องทำคือ
สัตว์อะไรที่เด็ก ๆ นิยมเลี้ยง?
1.ต้องพาไปฉีดวัคซีน โดยต้องพาน้องหมาไปหาหมอเพื่อถ่ายพยาธิ เมื่อเขาอายุ 6 อาทิตย์ จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ก็พาไปฉีดวัคซีนรวม (รวมโรคไข้หัดสุนัขเลปโตสไปโรชิส-ตับอักเสบติดต่อ-ลำไส้อักเสบติดต่อ)
ถ้าช่วงนั้นกำลังมีโรคระบาด หรือว่าแม่ของเจ้าลูกหมานั้นยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน กรณีนี้พอมันอายุ 6 อาทิตย์ก็ต้องฉีดวัคซีนโรคหัดสุนัข (ลำไส้อักเสบติดต่อ) เมื่อมันอายุ 12 อาทิตย์ก็พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
อย่าลืม...ฉีดวัคซีนหัดสุนัขและถ่ายพยาธิครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 16 อาทิตย์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอีกเมื่อน้องหมา น้องแมวย่างสู่วัย 6 เดือน (น้องแมวก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ แม้เปอร์เซ็นต์จะไม่มาก แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่)
2.ดูแลน้องหมา น้องแมว อย่าให้เป็นไข้ การเจ็บไข้ได้ป่วยของสัตว์เลี้ยงนั้นย่อมหมายถึงความเสี่ยงที่ลูก ๆ เราอาจป่วยไข้ไปด้วย เพราะความใกล้ชิด เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็นิยมให้อาหารเม็ดเจ้าสัตว์เลี้ยง คงเพราะสะดวกสบาย ซื้อหาง่าย แถมยังว่ากันว่าอุดมไปด้วยธาตุอาหาร แต่ก็อย่าลืมสอนลูก ๆ นะครับว่า ไม่ควรเทอาหารเม็ดให้แก่สัตว์เลี้ยงจนเต็มชาม เพราะนอกจากทำให้มันกินมากเกินไปจนแน่นท้อง อาหารเม็ดก็อาจชื้นจนราขึ้น ถ้าหากว่ามันกินไม่หมดและเหลือค้างชามไว้หลายวัน ถ้าให้อาหารสดก็ต้องปรุงให้สุกสะอาดทุกครั้งครับ
เพราะยังมีบางบ้านให้สัตว์เลี้ยงกินเนื้อดิบ ๆ ! ทั้งที่เนื้อดิบหรือว่าเครื่องในสัตว์ดิบ ๆ มักอุดมด้วยเชื้อโรคสารพัดอย่าง โดยเฉพาะเจ้าแบคทีเรียสายพันธุ์อันตราย นอกจากเนื้อสัตว์ดิบ ๆ แล้ว น้ำนมไม่ว่าจะเป็นนมวัว นมแกะ นมแพะก็ต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ หรือสเตอริไรส์ จึงจะดื่มได้อย่างปลอดภัย ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงดื่มน้ำนมดิบ เพราะเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน
3.หน้าฝน อย่าให้ตากฝน บอกลูก ๆ ว่าอย่าปล่อยให้พวกมันไปเล่นน้ำฝนเลย เพราะมันจะเป็นไข้ น้ำมูกไหล มีอาการหนาวสั่น เซื่องซึม หอบหืด ท้องเสีย หากมีอาการดังกล่าว ก็ควรให้รีบพาไปหาสัตวแพทย์ เพื่อตรวจรักษาครับ
4.ไม่ควรปล่อยให้เจ้าตัวน้อยเล่นกับสัตว์เลี้ยงตามลำพัง ยิ่งลูกวัย 6 เดือน ขึ้นไป ชอบคว้าโน่นนี่ หรือวัยก่อน 6 ขวบก็กำลังซนสุด ๆ และก็ยังไม่เข้าใจว่าอันตรายคืออะไร นึกจะหยิบ จะดึง จะแหย่สัตว์เลี้ยงก็มักทำเลย จึงมักพบบ่อย ๆ ว่าเด็กเล็กนั้นมักจะโดนสัตว์เลี้ยงขบ กัด ทำร้ายได้เสมอ
หากลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่จะต้องคอยดูลูกอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้คลาดสายตาอย่างเด็ดขาด และเมื่อลูกโตกว่านี้ น่าจะหลัง 6 ขวบ ลูกก็จะเริ่มเข้าใจคำสอนมากขึ้น โดยสอนด้วยภาษาง่าย ๆ เช่น
หมาหลับอย่าแหย่ สอนลูกว่า อย่าเอาไม้ไปแยงไปแหย่สัตว์เลี้ยงที่กำลังหลับ เพราะจะทำให้มันตกใจแล้วกัดเข้าให้
หมาหิวอย่ายั่ว อย่าดึงหางมัน หรือดึงจานข้าวในขณะที่มันกำลังกินอาหาร
หมากัดกันอย่ายุ่ง สัตว์เลี้ยง เช่น หมา ๆ แมว ๆ จู่ ๆ มักจะเปิดศึกกัดฟัดกัน ห้ามลูกเข้าไปห้าม หรือว่าแทรกกลาง เพราะมีสิทธิ์โดนพวกมันรุมทึ้งเอาได้
ให้นมลูกอย่ากวน ห้ามโดยเด็ดขาดเลยนะครับ เพราะพวกมันจะนึกว่าจะไปแย่งลูก ทำร้ายลูก เลยต้องสู้เพื่อปกป้องลูกของมัน
หมาเห่าอย่าวิ่ง ข้อนี้สำหรับไปเจอเจ้าหมาที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงของเรา แล้วโดนมันเห่าใส่ หรือทำท่าน่ากลัวเหมือนจะเข้ามากัด เราต้องอย่าวิ่งหนี เพราะไม่มีทางวิ่งทันพวกมันแน่ วิธีแก้ไขสถานการณ์ก็คือให้ยืนนิ่ง ๆ ครับ เก็บแขนแนบลำตัว แล้วอย่าไปจ้องตาสู้ ครู่เดียวเจ้าหมามันก็เลิกใส่ใจและล่าถอยไปเอง
ทำอย่างไร!!!...ถ้าถูกสัตว์กัด
1.รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ (ถึงไม่มีแผลก็ควรล้างคราบน้ำลายออก) โดยล้างผ่านน้ำก๊อก และฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง จากนั้นใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำเกลืออุ่น ๆ ทำความสะอาดรอบ ๆ แผล หรือว่าใช้สำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทาบริเวณรอบ ๆ แผล การล้างแผลต้องทำให้ดีใน 6 ชั่วโมงหลังถูกกัด มิฉะนั้นแผลจะติดเชื้ออักเสบได้ง่าย
2.แผลที่ติดเชื้อง่ายคือแผลที่เป็นรูลึก ล้างให้สะอาดได้ยาก เช่น แผล แนวกัด ซึ่งเขี้ยวแมวจะแหลม เวลากัดไม่กระชากเหมือนหมากัดอีกอย่างหนึ่งคือบริเวณที่มีเส้นเอ็น เช่น มือ จะติดเชื้อได้ง่ายครับ
3.กดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด ประมาณ 5 นาที เลือดก็หยุดไหล แต่ถ้าไม่หยุดไหลอาจจะเป็นเพราะถูกเส้นเลือดใหญ่หรือเด็กที่ถูกกัดเป็นโรคเลือดหยุดยากชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้องรีบพาไปหาแพทย์รักษาครับ
4.ถ้าสุนัขฉีดวัคซีนแล้ว และเจ้าของมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า สัตว์เลี้ยงของเขาได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นที่เรียบร้อย และสังเกตเห็นว่าสัตว์ตัวนั้นไม่มีอาการผิดปกติ เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ถูกกัดไม่ต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
5.หากไม่มั่นใจว่าหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ ที่กัดนั้นจะเสี่ยงหรือไม่ ให้พาเด็กหรือผู้ใหญ่ที่โดนกัดไปถามแพทย์ หากจำเป็นคุณหมอจะทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (ภูมิต้านทานสำเร็จรูป) เพราะฉะนั้นอย่าลืมดูแลและให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงในบ้านรวมทั้งสอนวิธีป้องกันตัวเองให้กับลูก ๆ ด้วยนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 30 ฉบับที่ 354 กรกฎาคม 2555