x close

พลิกตัวสิลูก

แม่และเด็ก

พลิกตัวสิลูก
(รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว

          เมื่อลูกพลิกตัวมาทางซ้าย พลิกตัวไปทางขวา พลิกคว่ำ และพลิกหงาย หลายท่านอาจคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาตามพัฒนาการของลูก แต่จริงแล้ว ๆ การพลิกตัวแสดงถึงพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และสมองส่วนควบคุมการทรงตัวที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ

4 พัฒนาการสำคัญจากการพลิกตัว

          หลังจากที่เด็ก ๆ เริ่มชันคอได้ในช่วง 3-4 เดือน พัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณหลังก็จะเริ่มแข็งแรงมากขึ้น เมื่อจับให้ลูกนอนคว่ำ เขาจะพยายามพลิกตัวให้ตัวเองนอนหงาย ซึ่งการพลิกคว่ำ พลิกหงาย ต้องใช้แรงของกำลังขาในการเหวี่ยงตัวให้พลิกไปอีกด้านหนึ่ง รวมทั้งต้องออกกำลังแขนให้สามารถยกและขยับได้มากขึ้น

          เมื่อลูกเริ่มพลิกตัวได้ ขั้นต่อไปเขาจะต้องพยายามคืบคลานไปข้างหน้า ซึ่งการที่เขาสามารถพลิกตัวได้นั้น แสดงถึงพัฒนาการที่สำคัญ 4 เรื่องนี้ค่ะ

          กล้ามเนื้อมัดใหญ่พัฒนาได้ดี ทั้งกล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อหลังแขนและขา ที่จะต้องทำงานประสานกันในการพลิกตัวและปรับท่าทางให้เหมาะสม

          เสริมสร้างประสาทสัมผัสด้านการมอง เมื่อเด็ก ๆ พลิกคว่ำพลิกหงายได้ มุมมองของเขาก็จะเริ่มแตกต่างไปจากเดิม จากที่เคยนอนนิ่ง ๆ และมองไปที่จุด ๆ เดียว การพลิกคว่ำ พลิกหงายจะทำให้ลูกมองเห็นในมุมมองที่กว้างมากขึ้น และเริ่มที่จะพัฒนาการมองไปสู่จุดหมายได้ ทำให้เกิดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้มากขึ้นค่ะ

          สมองทำงานได้ดี ความสามารถตามพัฒนาการของการเคลื่อนไหว จากการพลิกคว่ำ พลิกหงายนั้น แสดงถึงการพัฒนาของสมองในการควบคุมการเคลื่อนไหวที่พัฒนาได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อลูกได้ฝึกพัฒนาบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้เซลล์ประสาทในสมองได้พัฒนาตามไปด้วย

          มีความภูมิใจในตัวเอง การพลิกตัวเป็นความสามารถที่เด็ก ๆ ทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากช่วงวัยทารก ที่ต้องมีพ่อแม่คอยจับและประคับประคองท่าทางการนอนให้ตลอดเวลา

          เมื่อเด็ก ๆ สามารถพลิกตัวได้เอง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองทำได้ และถ้ามีพ่อแม่ชื่นชมหรือแสดงสีหน้าดีใจ ลูกจะรู้สึกได้ว่าตัวเองทำสำเร็จ จะทำให้ลูกมีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดพัฒนาการด้านอื่น ๆ อีกด้วย

หนูพลิกตัวได้ดีต้องมีพ่อแม่ช่วย

          เวลาที่ลูกพลิกตัวจะต้องออกแรงในการเคลื่อนไหว ซึ่งหากลูกไม่ได้รับการส่งเสริมให้พลิกตัวเพื่อไปหาเป้าหมายที่ต้องการ ลูกอาจไม่มีแรงจูงใจที่อยากจะพลิกตัว ซึ่งพ่อแม่ก็ควรมีส่วนช่วยส่งเสริมในด้านนี้ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเล่นกับลูกค่ะ

           1.หาของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งหรือมีสีสันล่อตาล่อใจ มาหลอกล่อให้ลูกพยายามพลิกตัว ทั้งด้านซ้ายและขวา ซึ่งก็ควรชวนให้ลูกเล่นด้วยความสนุก เพื่อกระตุ้นให้ลูกพลิกตัวได้บ่อยขึ้น

           2.นอนเล่นข้าง ๆ ลูก แล้วเรียกให้ลูกพลิกตัวมาหา

           3.ในช่วงแรกที่ลูกฝึกพลิกตัว ควรช่วยเหลือลูกบ้าง เช่น ช่วยดันตัวลูก ช่วยจับแขนและขาให้ลูกพลิกตัว เพราะกล้ามเนื้อหลังอาจจะยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะพลิกตัวด้วยตัวเอง แต่เมื่อลูกสามารถพลิกตัวได้เอง ก็ควรลดความช่วยเหลือลงค่ะ

           4.ไม่บังคับหรือกระตุ้นลูกมากเกินไป เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและความสามารถตามวัย เพราะถ้าหากลูกต้องทำอะไรที่ยากเกินความสามารถก็จะทำให้ลูกหมดกำลังใจและไม่อยากทำ

          นอกจากนี้การที่มีพ่อแม่คอยส่งเสริมหรือกระตุ้นให้พลิกตัวเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกรู้จักตอบสนองผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากลูกไม่มีคนคอยกระตุ้นให้เขาพลิกตัวไปมา หรือพลิกตัวเพื่อเอื้อมไปหาจุดหมาย พัฒนาการในส่วนนี้ก็อาจจะพัฒนาได้ไม่เต็มที่ หรืออาจทำให้เด็ก ๆ ไม่มีแรงเสริมที่จะผลักดันให้อยากเรียนรู้ หรืออยากลองผิดลองถูกกับพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ถ้าลูกพลิกตัวไม่ค่อยได้

          เด็กบางคนที่อ้วน หรือพ่อแม่สังเกตแล้วว่าเวลาพลิกตัวแล้วติดพุง หรือเคลื่อนไหวแต่ละครั้งค่อนข้างลำบากก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนเฉย ๆ แต่ควรค่อย ๆ ส่งเสริมให้ลูกได้เคลื่อนไหวตัวเองบ้าง โดยอาจจะต้องช่วยเหลือมากกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป เช่น จับให้ลูกพลิกตัวหรือวางของเล่นไว้ใกล้ ๆ แล้วให้ลูกพลิกตัวมาจับ เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินไป จนหมดความท้าทายค่ะ

          การพลิกตัวเป็นพื้นฐานในการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่จะต้องใช้ในการทรงตัว การนั่ง และการเดินได้ในที่สุด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นตามวัยค่ะ



            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 354 กรกฎาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลิกตัวสิลูก อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2557 เวลา 11:40:34 4,749 อ่าน
TOP