พัฒนาการด้านการได้ยินของลูกน้อย

แม่และเด็ก

พัฒนาการได้ยิน (modernmom)
เรื่อง : วัลยา

จุดเริ่มต้นของเจ้าตัวเล็ก

          ต้องยกให้เป็นพัฒนาการพื้นฐานของลูกน้อยเลยค่ะ สำหรับ "พัฒนาการด้านการได้ยิน" เพราะการได้ยินเป็นพื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด ทักษะด้านภาษาและไอคิว เด็กจะพูดได้ตามปกติจำเป็นต้องมีการได้ยินที่ปกติ ในกรณีของเด็กที่พูดช้าส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากพัฒนาการได้ยินที่ล่าช้า ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งค่ะที่คุณแม่ต้องส่งเสริมพัฒนาการด้านนี้ให้ลูกน้อยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก ถ้าพัฒนาการด้านการได้ยินไม่ได้รับการกระตุ้นส่งเสริมที่เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อการออกเสียง การพูดและทักษะภาษาของลูกได้ต่อไปในอนาคต ว่าแล้วเราก็มาดูพัฒนาการด้านการได้ยินของลูกน้อยแต่ละช่วงวัยกันเลยค่ะ

0-3 เดือน

          ใช้การร้องสื่ออารมณ์ หิวก็ส่งเสียงร้องไห้ ส่งเสียงอ้อแอ้เมื่อมีความสุข

          หยุดร้องไห้และเคลื่อนไหว นิ่งฟัง เมื่อคุณแม่เรียกชื่อ เปิดเพลง หรือเขย่าของเล่นมีเสียง

          ในขณะที่ลูกน้อยร้องงอแง หรือร้องกวน ถ้าคุณแม่ส่งเสียง เด็กก็จะหยุดนิ่งหรือกะพริบตามอง

          เมื่อนอนหลับจะร้องไห้จ้า หากได้ยินเสียงดังจนทำให้ตกใจ และผวาตื่น

          เริ่มสนใจมองเวลาที่มีคนมาพูดคุยกันใกล้ ๆ

3-6 เดือน

          เริ่มฟัง สนใจเสียงตัวเอง และเสียงผู้อื่นมากขึ้น

          สามารถหันหาเสียงที่มาทางแนวราบได้ รู้ที่มาของเสียงว่ามาจากไหน แยกแยะเสียงสูงต่ำได้

          ถ้าเป็นเสียงคุณแม่คุยด้วย เจ้าตัวเล็กจะหันหาและยิ้มด้วย แต่หากเป็นเสียงคนที่ไม่คุ้นเคย ลูกจะมีสีหน้าตกใจ หรือร้องไห้

          เริ่มสนใจของเล่นที่มีเสียง

6-10 เดือน

          เปล่งเสียงอ้อแอ้ "บา กา ปู มะ" และเปล่งเสียงใหม่ ๆ ที่ง่าย ๆ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

          สามารถก้ม เงย หรือหันหาเสียงที่ได้ยินได้

          เข้าใจความหมายของคำพูดพื้นฐาน เช่น ไม่ อย่า ได้

          ตอบสนองเสียงตัวเอง โดยแสดงอารมณ์สีหน้าตามเสียงที่เปล่งออกมา เช่น มีสีหน้ายิ้มแย้มเมื่อเปล่งเสียง หัวเราะเอิ๊กอ๊ากชอบใจ

          ตอบสนองต่อเสียงกริ่งโทรศัพท์ เสียงช้อนกระทบ เสียงเพลง

          ชอบเล่นของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋ง หรือของเล่นที่มีเสียงดัง

          เมื่อคุณแม่เล่นเสียงกับลูกน้อย เด็กจะทำเสียงเลียนแบบ และแสดงสีหน้าตอบสนองต่อเสียงได้

10-12 เดือน

          รู้จักชื่อของตัวเองและหันเวลามีคนเรียกชื่อ

          รู้ชื่อสิ่งของที่คุ้นเคย สามารถชี้ไปยังสิ่งของที่รู้สึกต้องการ

          ออกเสียงตามคำพูดที่มีความหมายง่าย ๆ อย่างน้อย 7 คำ เช่น พ่อ แม่ เอา นม น้ำ

          สามารถหันหาเสียงที่มาจากทิศทางรอบด้านทั้งซ้าย ขวา บน ล่าง

          ทำตามคำสั่งง่าย ๆ โดยมีท่าทางประกอบคำสั่ง เช่น คุณแม่บอกให้ลูกตบมือแปะ ๆ โดยทำท่าตบมือให้ลูกดู

Check List ลูกน้อยได้ยินปกติไหมนะ ??

           ช่วงวัย 6-12 เดือน คุณแม่จะสามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่าลูกน้อยมีความผิดปกติในการได้ยินหรือไม่ เพราะถ้าลูกมีการเล่นเสียงน้อยลงอาจเป็นไปได้ว่าลูกมีความผิดปกติ ในการได้ยิน ลองจับสังเกตอาการเหล่านี้ดูค่ะ

          เมื่ออายุ 6 เดือนแล้วแต่ลูกน้อยยังไม่ยอมหันหาเสียงใด ๆ

          อายุ 7 เดือนขึ้นไป ไม่มีอาการตอบสนองต่อเสียงคุณแม่ ไม่มีการตอบสนองเวลาที่พ่อแม่พูดคุยด้วย

          ย่างเข้าสู่ 1 ปี แต่ลูกยังไม่ยอมพูด หรือพูดไม่ได้ แม้แต่คำง่าย ๆ เพียงพยางค์เดียว

          หากลูกมีอาการเหล่านี้แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอดูนะคะว่า เจ้าตัวเล็กมีพัฒนาการด้านการได้ยินที่ผิดปกติหรือไม่ อย่าลืมนะคะว่า พัฒนาการได้ยินเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของลูกรัก

Modern Mom’s Tip

 เคล็ดลับกระตุ้นการได้ยิน  

          หมั่นพูดหมั่นคุยกับลูก ส่งเสริมพัฒนาการได้ยินของลูกโดยพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ เวลาที่ลูกน้อยส่งเสียงอ้อแอ้ ๆ มา คุณแม่ควรจะมีการโต้ตอบกลับด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหวาน ห่วงใย ชัดถ้อยชัดคำ (อย่าใช้เสียงดุดันนะคะ) เช่น ว่าไงคะลูก เอ๋แม่อยู่นี่ค่ะ เพราะเสียงที่เด็กทารกพึงพอใจจะเป็นเสียงสูงของคุณแม่มากกว่าเสียงธรรมดาของคุณพ่อ เมื่อพูดกับลูก ลูกก็จะมองตามและหาที่มาของเสียง และการคุยกับลูกบ่อย ๆ ยังส่งเสริมให้เด็กจำคำต่าง ๆ ที่เขาได้ยินอีกด้วย

          เสียงธรรมชาติหรรษา คุณแม่อาจจะนำเรื่องใกล้ตัวมาช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ยินของลูกรักได้ เช่น พาลูกฟังเสียงต่าง ๆ ในธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล เสียงลมโชย เสียงสุนัข เสียงแมว ฯลฯ หรือคุณอาจจะเล่นร้องเลียนเสียงสัตว์กับเจ้าตัวเล็กก็ได้ค่ะ เช่น แมวร้องเหมียว ๆ ช้างร้องแปร๊น ๆ นกร้องจิ๊บ ๆ

          ของเล่นแสนสนุก เลือกของเล่นที่มีเสียงคุณแม่ อาจจะเล่นกับลูกน้อยด้วยการสั่นของเล่นให้ลูกสนใจ จากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นไปทางซ้าย ขวา บน ล่าง ให้เจ้าตัวเล็กได้มองตามเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้ที่มาของเสียง

          I LOVE MUSIC ดนตรี เพลงจะเป็นตัวช่วยพัฒนาลูกน้อยในเรื่องการได้ยินอย่างดีเยี่ยม ลองเปิดเพลงบรรเลงประเภทคลาสสิค เพลงสบายเย็น ๆ ให้ลูกฟังจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้ยินได้มากทีเดียว

          แก้วน้ำพาเพลิน คุณแม่อาจจะหาของใกล้ตัว เช่น แก้วน้ำขนาดต่างกัน ใส่น้ำต่างระดับกัน วางสลับแก้วต่ำแก้วสูง จากนั้นลองใช้ตะเกียบเคาะแก้วเบา ๆ จะได้จังหวะและเสียงดนตรีที่ใสแจ๋วมาทำให้เจ้าตัวเล็กต้องหันมาสนใจ วิธีนี้นอกจากแม่ลูกจะได้เล่นด้วยกันแล้วยังช่วยฝึกพัฒนาการการได้ยินของลูกน้อยอีกด้วย


            



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.17 No.201 กรกฎาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนาการด้านการได้ยินของลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2557 เวลา 11:23:06 4,373 อ่าน
TOP
x close