กิจกรรมเน้น ๆ เพื่อพัฒนาการของลูกล้วน ๆ (Mother & Care)
โดย: แม่โอ๋
ช่วงเวลาที่สมองของลูกน้อยมีการพัฒนาเร็วมากคือช่วง 3 ปีแรกของชีวิต คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกพลาดโอกาสทองของการพัฒนาศักยภาพพื้นฐานของชีวิตในช่วงนี้ไปอย่างน่าเสียดายนะคะ
อย่ากระนั้นเลย ฉบับนี้จึงอยากชักชวนให้คุณพ่อคุณแม่หันมาใส่ใจในการเลือกหรือสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุของลูกให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมวัยอย่างมีความสุขกันค่ะ
แรกเกิด - 3 เดือน
พัฒนาการของลูกในช่วงวัยนี้ คือการพยายามทำเสียงต่าง ๆ ในคอ ส่งเสียงอ้อ แอ้ อือ ออ มองตามสิ่งของที่เคลื่อนไหว โดยเฉพาะที่มีสีสันสดใส ชอบกำมือและพยายามคว้าจับสิ่งของ และเมื่อได้ยินเสียงจะชะงัก แต่ยังหันไปตามเสียงไม่ได้ในทันที
พ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ...
ลองเล่นเกมทายใจลูก พยายามสังเกตเสียงและท่าทางของลูกว่าต้องการสื่อสารอะไร ส่งยิ้ม ทำเสียงอือ ออไปกับลูก และบอกกับลูกตลอดเวลาว่าจะทำอะไรกับเขา
ร้องเพลงให้ลูกฟังเวลาที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม หรือขณะอาบน้ำให้ลูก
อุ้มและลูบไล้สัมผัสตัวลูกบ่อย ๆ ใช้นิ้วไต่ไปตามตัวลูก ใส่นิ้วในอุ้มมือลูกให้ลูกกำ
แขวนโมบายสีสดใสหรือมีเพลงบรรเลงไว้ ให้ลูกมองตามและหัดคว้าจับ
ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ส่งเสียงเรียก หรือเขย่าของเล่นให้ลูกมองหาที่มาของเสียง
3 - 6 เดือน
ลูกวัยนี้เริ่มเลียนแบบเสียงและการเคลื่อนไหว และพยายามใช้นิ้วโป้งหรือนิ้วชี้หยิบของ และถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือได้ รวมทั้งคืบไปข้างหน้าหรือข้างหลังและเอื้อมหยิบของได้
พ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ...
พูดคุยและเล่นกับลูกบ่อย ๆ เช่น เล่นเกมจ๊ะเอ๋ นอกจากจะฝึกให้ลูกเห็นการเคลื่อนไหวและการใช้เสียงแล้ว ยังเป็นการเริ่มพัฒนาทักษะทางภาษาให้ลูกรู้ว่าเวลาเราพูดกัน เราจะผลัดกันพูดและผลัดกันฟังด้วย
บีบของเล่นมีเสียงให้ลูกฟัง ส่งของเล่นกรุ๋งกริ๋งให้ลูกถือเขย่า
ส่งของเล่นขนาดต่าง ๆ ให้ลูกรับไปถือไว้ แล้วบอกให้ลูกหยิบมาส่งคืน
เล่นรถไฟ ปู๊น ปู๊น โดยใช้เชือกผูกของเล่นเล็ก ๆ ไว้ แล้วให้ลูกลากเข้ามาหาตัว หรือให้ลูกหัดคืบตามหลังขบวนรถไฟของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนลากก็ได้
6 เดือน – 1 ปี
ลูกเริ่มนั่ง และคลานได้ เกาะโซฟาเพื่อพยุงตัวลุกขึ้นยืนเองได้ เริ่มเลียนเสียงและแสดงสีหน้ากับคนใกล้ชิดเพื่อแสดงอารมณ์ได้ สามารถพูดได้ 2 - 3 คำ
พ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ...
กระตุ้นให้ลูกคลาน เดินเตาะแตะไปหาของเล่น หรือคนคุ้นเคยที่นั่งใกล้ ๆ โดยยิ้ม ปรบมือเป็นกำลังใจไปด้วย
ชี้ชวนกันดูอัลบั้มภาพสมาชิกในครอบครัว ส่งเสียงแสดงความตื่นเต้น สนุกสนานเมื่อเห็นรูปภาพที่น่าสนใจ
อ่านหนังสือนิทานและเล่านิทานให้ลูกฟังทุกวัน โดยอุ้มลูกนั่งตักและถือหนังสือให้กางออกตรงหน้าลูก ชี้ให้ลูกดูรูปภาพ เพื่อให้ลูกมีส่วนร่วม อาจหาหุ่นมือหรือ ตุ๊กตา มาเพิ่มความสนุก ตื่นเต้น ด้วยก็ยิ่งดี
1-2 ปี
จากวัยเตาะแตะ ลูกเริ่มเดินได้เองแล้ว และที่สำคัญเริ่มเข้าใจความหมายของคำมากขึ้น แม้ว่าจะยังพูดได้น้อยกว่าที่เข้าใจและชอบทำอะไรด้วยวิธีของตัวเอง และชอบเล่นน้ำมาก ๆ
พ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ...
พาลูกเดินเล่นบ่อย ๆ ให้ลูกได้สำรวจผู้คน และสิ่งของต่าง ๆ พร้อมกับหัดพูดเป็นคำ ๆ จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง หัดให้พลิกดูทีละหน้า หรือลองอ่านข้ามหน้าเพื่อกระตุ้นความสนใจของลูก
ให้ลูกเล่นโทรศัพท์ของเล่น ทำทีเป็นพูดโทรศัพท์หาคนอื่น ผลัดกันคุยกับลูกทางโทรศัพท์ของเล่น
ปล่อยให้ลูกได้เล่นสนุกกับน้ำ โดยเตรียมถัง ขวด หรือแก้วพลาสติกไว้ ให้ลูกลองรินน้ำ เทน้ำ เติมน้ำ กรอกน้ำจนล้นขวด แล้วเทน้ำออกจากขวด การตีน้ำให้กระจาย เป็นต้น
2-3 ปี
วัยนี้เริ่มจะวิ่ง กระโดด และโยนลูกบอลได้แล้ว และรู้จักเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ และยอมแบ่งปันบ้างแล้ว อีกทั้งยังชอบเลียนแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ ชอบพูดคุยถึงสิ่งที่ตัวเองรู้ และเล่าเรื่องสมมุติได้
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ...
ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้ง ให้ลูกได้วิ่งเล่นอย่างอิสระกับเด็กคนอื่น ๆ บ้าง
ปล่อยให้ลูกมีโอกาสช่วยงานประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น พับผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ล้างรถ ถูพื้น เป็นต้น
อ่านนิทานเล่มเดิมให้ลูกฟังซ้ำ ๆ แล้วให้ลูกเล่าให้ฟังหรือเล่าต่อจากที่คุณเว้นไว้ให้
ชวนลูกเล่นเกมบทบาทสมมุติ โดยจัดหาอุปกรณ์ เสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว ให้ลูกได้แต่งตัวเป็นคนในอาชีพต่าง ๆ ที่ลูกเคยเห็น เช่น คุณหมอ ตำรวจ ทหาร ครู หรือแต่งเป็นตัวละครในนิทานต่าง ๆ
ขอย้ำว่า ตลอดเวลาการทำกิจกรรมต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้ลูกเสมอ เพราะสิ่งสำคัญเหนือกิจกรรม คือ อ้อมกอดที่อบอุ่นด้วยความรักของคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก