ข้อสะโพกลูกเคลื่อน รู้เร็วรักษาหายเร็ว



ข้อสะโพกเคลื่อน รู้เร็วรักษาหายเร็ว
(รักลูก)
เรื่อง : สิริพร สมสกุล

           ข้อสะโพกเคลื่อน เป็นโรคกระดูกชนิดหนึ่งค่ะ แม้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงนักในระยะแรก แต่หากละเลยไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติของลูกน้อยตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็อาจมีผลกระทบกับลูกในระยะยาวได้ค่ะ

สาเหตุ…ลูกข้อสะโพกเคลื่อน

           โรคข้อสะโพกเคลื่อน (developmental dysplasia of the hip) สามารถพบได้ประมาณ 1 คน ในเด็กแรกเกิด 1,000 คน ไม่ระบุสาเหตุของโรคชัดเจน แต่อาจเกิดได้จากพันธุกรรม หรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดอาการของโรคได้ เช่น

           มักเกิดกับลูกท้องแรก เนื่องจากบริเวณมดลูกและช่องคลอดของแม่ยังขยายตัวไม่มากนัก อาจบีบรัดตัวลูกน้อย เด็กคลอดแบบไม่กลับตัว (คลอดท่าก้น) เด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน มักเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย คุณแม่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ทารกตัวใหญ่ และทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวมากขณะที่แม่ตัวเล็ก การห่อตัวทารกแรกเกิดแน่นจนเกินไป และเด็กที่มีเท้าหรือคอเกร็งผิดปกติค่ะ

เริ่มสังเกตได้ที่ลูกวัยเบบี้

           ราวอายุประมาณ 6-12 เดือน เป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติของลูกได้ง่ายที่สุดค่ะ ดังนี้ค่ะ

           สะโพกทั้ง 2 ข้างกางไม่เท่ากัน ขณะที่ให้ลูกนอนหงาย งอสะโพกชันเข่า แล้วกางขาแบะออก ซึ่งเป็นท่าที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ใส่ผ้าอ้อมเด็กนั่นเองค่ะ ซึ่งสิ่งที่จะสังเกตได้ว่าผิดปกติคือ สะโพก 2 ข้างจะแบะออกได้ไม่เท่ากัน โดยข้างที่แบะออกได้น้อยกว่ามักเป็นข้างที่ผิดปกติ

           คลานด้วยการลากขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือยืนขาข้างใดข้างหนึ่งหมุนได้มากผิดปกติ ยืนโดยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง หรือยืนบนปลายเท้า รวมทั้งยกส้นเท้าสูงกว่าปกติ

           เดินเอวแอ่นมาข้างหน้ามากกว่าปกติ หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มเดินได้ จะเห็นว่าลูกเดินยักสะโพก หรือเดินเอวแอ่นมาข้างหน้ามากกว่าปกติ และหากให้นอนหงายชันเข่า จะเห็นว่าเข่า 2 ข้างจะสูงไม่เท่ากัน

           ฉะนั้น ถ้าหากพบว่าลูกมีความผิดปกติดังที่กล่าวมา ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาและตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการของโรคข้อสะโพกเคลื่อนแต่กำเนิดหรือไม่ ยิ่งพบคุณหมอเร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อลูกรักของเรามากเท่านั้น

การป้องกัน & รักษา

           โรคนี้ไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิด แต่สำคัญที่การหมั่นสังเกตอาการหรือสังเกตความผิดปกติของลูก เพื่อบ่งชี้เบื้องต้นได้ว่าเกิดโรคข้อสะโพกเคลื่อนตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ และในเด็กที่ตรวจพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง คุณหมอจะมีการตรวจสะโพกเป็นพิเศษอีกที

           การรักษาตั้งแต่อายุน้อย ๆ จะได้ผลดีกว่าอายุมาก ซึ่งเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าทั่วไป ควรขอให้คุณหมอตรวจที่สะโพกเพื่อดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ และพาลูกมาพบคุณหมอ นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว อาจต้องยืนยันโดยการตรวจอัลตราซาวนด์สะโพก หรือถ่ายภาพเอ็กซเรย์

การรักษามีหลายวิธีตามความรุนแรงของโรค และอายุของลูกที่มาพบคุณหมอ ดังนี้

           แรกเกิด- 6 เดือน หากตรวจพบในระยะนี้ คุณหมอมักรักษาด้วยการใช้สายรัดที่ดึงให้ขาทารกน้อยอยู่ในท่ากบ หรือไฟเบอร์กลาสที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่า เพื่อให้การเจริญเติบโตของกระดูกเบ้าสะโพกและหัวสะโพกพัฒนาอย่างเหมาะสม ซึ่งคุณหมอจะใส่ไว้ตลอดเวลา ระยะที่ใส่ขึ้นอยู่พัฒนาการของทารกแต่ละคน

           6 เดือนขึ้นไป หากการรักษาระดับแรกไม่สำเร็จ อาจใช้วิธีเอ็กซเรย์ CT หรือ CAT SCAN หรือ MRI เพื่อสังเกตอาการควบคู่ไปกับการผ่าตัดเล็ก ใช้มือจัดดันกระดูกให้เข้าที่ ตามด้วยการใส่เฝือกแข็งไว้

           1 ปีขึ้นไป ในระยะนี้จะได้รับการผ่าตัดใหญ่ เพื่อปรับแต่งและจัดให้กระดูกสะโพกเข้าเบ้า ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งคุณหมอจะผ่าตัดเพื่อตกแต่งกระดูกพร้อมใส่แผ่นเหล็กดามไว้ ซึ่งหลังการผ่าตัดต้องใส่เฝือกแข็งหลายเดือน และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องค่ะ

           หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความใส่ใจในการสังเกตดูความผิดปกติของลูกตั้งแต่วัยเบบี้ ก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ลูกก็สามารถเติบโตมีชีวิตที่ปกติค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้อสะโพกลูกเคลื่อน รู้เร็วรักษาหายเร็ว อัปเดตล่าสุด 25 เมษายน 2555 เวลา 15:34:00 6,958 อ่าน
TOP
x close