โอ๊ะโอ๋..ทำยังไงดี เมื่อลูก ขี้ฟ้อง



โอ๊ะโอ๋...บ้านไหนเป็นมั่งไหมค๊าอาการลูก “ขี้ฟ้อง” (Pregnancy& Baby)
เรื่อง :Anuty Wee

         ตามประสาพ่อแม่ค่ะ เมื่อลูกมีปัญหาสิ่งใด เราก็มักจะรีบเข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปแก้ปัญหาให้ จนบางครั้งทำให้เด็ก ๆ เสพติดสิ่งนั้นและกลายเป็นว่า เมื่อมีปัญหากับอะไรหรือกับใครจะต้องวิ่งหน้าตั้งเข้ามาหาพ่อ หาแม่ให้ช่วยแก้ปัญหาให้ แรก ๆ ก็คงจะดูดีค่ะ แต่แน่ใจหรือคะว่ามันจะไม่ลุกลามเป็นปัญหาด้านพฤติกรรม

 สมดุลจากตัวพ่อแม่

         ในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ สิ่งที่คุณจะต้องใส่ใจคือการให้ลูกสามารถรับมือและเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเค้าเองและอีกอย่างคือ คุณต้องให้ลูกรู้สึกว่าเค้าจะเข้ามาหาคุณได้ในยามที่มีปัญหาเกินกว่ากำลังของตัวเองจะแก้ไข ซึ่งสำหรับเด็ก ๆ แล้วที่ยังไม่สามารถแยกแยะอะไรได้มากนักถือเป็นเรื่องยากมากในการสร้างสมดุลด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ดีค่ะ พ่อแม่จำเป็นต้องสอนให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ เพราะหากสมดุลเริ่มเอียงไปทางใดทางหนึ่งเช่นรับมือกับทุกอย่างด้วยตัวเอง สำหรับบางปัญหาอาจจะสร้างความเครียดและส่งผลให้ลูกเป็นเด็กเก็บกดได้ในที่สุด แต่หากสมดุลเอนมาทางด้านการเข้าหาพ่อแม่ มากเกินไปลูกจะกลายเป็นเด็กช่างฟ้อง อะไรนิด อะไรหน่อยก็ต้องวิ่งเข้ามาหาพ่อแม่นั่นเอง

 สาเหตุของการช่างฟ้อง

         เด็กบางคนเชื่อว่าตัวเองมีหน้าที่ในการสอดส่องและดูแลสิ่งต่างๆ รอบตัว รักษากฎอย่างเคร่งครัด เมื่อเห็นเด็กคนอื่นๆ ไม่ปฏิบัติตามจึงเลือกวิธีที่จะนำสิ่งผิดปกตินั้นเข้าไปบอกกล่าวหรือเล่าเป็นเรื่อง เป็นราวให้ผู้ใหญ่ฟัง และเด็กอีกส่วนหนึ่งช่างฟ้องอันเนื่องมาจากต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ และต้องการพิสูจน์ความสำคัญของตัวเอง เด็กที่ทำแบบนี้มักคาดหวังรางวัลหรือคำชม และเด็กบางส่วนยังการฟ้องเป็นการแก้แค้นเด็กอีกฝ่ายอีกด้วย

 รับมือเด็กช่างฟ้อง

         หากรู้สาเหตุของการช่างฟ้องของลูกแล้ว คุณควรทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูก การช่างฟ้องไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเด็ก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ยอมพูดยอมเล่าอะไรเลยนะคะ ลูกคนไหนที่ไม่ยอมพูดเลยก็ไม่ดีค่ะ ต้องสอนให้ลูกรู้จักเล่าในเรื่องที่ควรเล่า เช่น หากโดนเพื่อนแกล้ง ต้องบอกผู้ใหญ่ ไม่ใช่เก็บไว้คนเดียว คราวหลังลูกอาจจะโดนอีก ให้ลูกแก้ปัญหาเอง คุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักป้องกันตัวเอง เป็นที่พึ่งให้ตัวเองก่อน เพื่อฝึกนิสัยที่ดีให้เขากล้าตัดสินใจและเชื่อมั่นในตัวเอง ให้เขาระลึกเสมอว่าพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา และการช่วยเหลือตัวเองให้ได้นั้น จะฝึกให้เขาเป็นคนที่เข้มแข็ง คราวหน้าคราวหลังที่เกิดเรื่องแบบนี้อีก จะได้ไม่มีใครมารังแก

         ตอนที่ลูกเดินเข้ามาฟ้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้คุณแม่รับฟังเขาเสียก่อน อย่าเพิ่งเดินหนี หรือไม่รับฟังนะคะ เพราะบางทีเรื่องที่เขานำมาเล่าอาจจะเป็นเรื่องสำคัญก็ได้ เมื่อรับฟังแล้วให้คุณแม่พิจารณาเรื่องที่เขาพูดให้ถี่ถ้วน แล้วค่อยตัดสินใจค่ะ คราวหลังคุณแม่ก็จะได้ตัดสินใจและรู้ว่าลูกมีนิสัยอย่างไร อธิบายให้ลูกเห็นการที่เป็นคนช่างฟ้อง ให้คุณแม่อธิบายถึงเรื่องที่ไม่ดีของการเป็นคนช่างฟ้องอาจยกตัวอย่างคนรอบตัวจากนิทานประกอบ ว่าการมีนิสัยขี้ฟ้องบ่อย ๆ ฟ้องทั้งที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ พร่ำเพรื่อ การกระทำเช่นนี้อาจทำให้ไม่มีใครอยากมาเล่นกับหนู ไม่มีใครไว้วางใจ และอนาคตอาจจะไม่มีเพื่อนก็ได้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.4 ISSUE 30 มกราคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอ๊ะโอ๋..ทำยังไงดี เมื่อลูก ขี้ฟ้อง อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2555 เวลา 15:46:35 3,438 อ่าน
TOP
x close