เสริมพฤติกรรมการกินที่ดี สร้างลูกเก่งเต็มศักยภาพ (Mother & Care)
เรื่อง มอร์นิ่ง กลอรี่
คุณแม่ทราบดีว่าปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการความสามารถ และการสร้างศักยภาพของการเรียนรู้ให้ลูกรักเติบโตไปอย่างชาญฉลาด พร้อมจะแสดงออกถึงความเก่งอย่างเต็มที่ คือ การเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนให้ลูกได้รับตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ค่ะ
อาหารดี ๆ มีคุณค่าต่อพัฒนาการทุกด้าน
เชื่อหรือไม่ว่าอาหารไม่เพียงช่วยให้ลูกแข็งแรง มีสุขภาพดี แต่ยังช่วยทำให้ลูกอารมณ์ดีได้ค่ะ เพราะเมื่อความหิวได้รับการตอบสนองให้อิ่มสบายท้อง อารมณ์ย่อมแจ่มใส ลูกก็พร้อมจะสำรวจโลก พร้อมเล่นทดลองได้เต็มที่ ทำให้พัฒนาการด้านสติปัญญาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะสมองได้รับการพัฒนา จนเกิดการเรียนรู้และจดจำ เกิดการเลียนแบบทั้งการพูด การกระทำ ทำให้พัฒนาการด้านภาษาและสังคมเพิ่มขึ้นด้วย มีแต่ข้อดีที่ทำให้ลูกเป็นเด็กเก่งและฉลาดอย่างนี้ อย่าได้มองข้ามการเลือกสรรอาหารดีๆ ไปเชียวนะคะ แต่ทราบไหมว่าต่อให้เลือกสรรจัดอาหารกันสุดฝีมือขนาดไหน ถ้าลูกกินยา ช่างเลือก ก็ทำให้ได้รับอาหารไม่เต็มที่ จนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทุกด้านได้ ดังนั้นอย่าได้มองข้ามการฝึกนิสัยการกินที่ดีด้วย ส่วนจะสร้างกันอย่างไร Do & Don’t เหล่านี้ช่วยคุณแม่ได้ค่ะ
Do & Don\'t
ฝึกลูกให้มีนิสัยการกินที่ดี
Do : ให้ลูกมีส่วนร่วมทำอาหารหยิบจับช่วยทำกับข้าวเท่าที่ลูกจะทำได้ เช่น เด็ดผัก จัดโต๊ะ วางซ้อนส้อม หรือเลือกซื้อผัก ผลไม้ เพื่อให้ลูกสนุก และสนใจที่จะกิน
Don\'t : หลีกเลี่ยงการกินซ้ำ ๆ เช่น แทนที่จะปรุงผักล้วน ก็ปนกับอาหารอื่น ๆ เช่น ไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด แกงจืดแตงกวายัดไส้หมูบด เพื่อจูงใจให้ลูกกินเพิ่มขึ้น
Do : ให้ลูกกินร่วมกันบนโต๊ะอาหาร ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องมารยาทการกิน โดยพ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องกินให้ลูกเลียนแบบ เช่น กินผัก ธัญพืช อาหารธรรมชาติ เพื่อให้ลูกรู้จักการเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพด้วยค่ะ
Don\'t : อย่าให้ลูกกินขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม เพราะถ้ากินมากลูกจะรู้สึกอิ่ม ทำให้ไม่ค่อยอยากกินข้าว เนื้อ ไข่ นม ซึ่งเป็นอาหารมื้อหลักได้ และเด็กมักติดใจอาหารรสหวานอยู่แล้ว ทำให้ติดได้ง่ายตลอดชีวิตด้วย
Do : จัดอาหารให้ลูกกินในจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อกระตุ้นให้อยากกิน เมื่อกินหมดค่อยเติม เพราะการให้ครั้งละมาก ๆ จะทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากกินได้
Don\'t : ไม่เร่งให้ลูกกินเร็ว ๆ แต่ให้ลูกกินอย่างอิสระ กินด้วยความชอบ กินเพลิน ๆ ดีกว่า ถึงลูกจะเล็มกินไปทีละน้อย แต่ถ้าลูกพอใจก็ควรปล่อย เพราะอย่างน้อยลูกก็กินได้แล้วค่ะ
Do : กินอาหารให้เป็นเวลา พร้อมกับบอกให้ลูกรู้กำหนดเวลากินแต่ละมื้อไม่ควรให้เกิน 30-45 นาที อย่านานกว่านี้ เพราะถ้านานไปกว่านี้ลูกก็จะคุ้ยเขี่ยเล่นกับอาหารได้ค่ะ
Don\'t : อย่าดุว่าหรือห้ามถ้าเห็นลูกเล่นอาหาร หรือตักข้าวกินเองจนเลอะเทอะ ทนกับความเลอะถือว่าดีกว่าคอยตามป้อนอยู่ตลอด เพราะทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากกิน และต่อต้านอาหารที่คุณแม่ต้องการให้กิน
Do : สอนให้ลูกรู้จักล้างมือ เช็ดมือ ปิด-เปิดก๊อกน้ำ หัดถูสบู่ ล้างสบู่ สอนให้ล้างมือ เช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาดก่อนกินทุกมื้อ พร้อมหัดให้ลูกรู้จักแปรงฟันทุกเช้า-เย็น
Don\'t : อย่ากังวลที่ลูกกินน้อยลง ถึงลูกจะเคยอยากกิน กินได้มาก แต่หลังวัย 1 ปี อัตราการเติบโตของลูกก็จะลดลง ความอยากอาหาร ความสนใจกินก็ลดลงด้วย ทำให้ลูกไม่ค่อยสนใจกิน กินน้อยลงได้ค่ะ
Do : จัดอาหารให้ดูมีสีสันน่ากิน พร้อมมีคุณค่าครับ 5 หมู่ เช่น โปรตีนจากไข่ เนื้อสัตว์ นมที่ดื่มควบคู่ไปกับมื้อหลัก คาร์โบไฮเดรตจากข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง วิตามินและเกลือแร่จากผักผลไม้หลากชนิด
Don\'t : ไม่ตามใจทำอาหารให้ลูกอีก โดยเมื่อถึงเวลากินแล้วลูกไม่ยอมกิน ลูกบ่นหิวภายหลัง เรียกร้องไห้ทำให้กิน อย่าทำค่ะ แต่ควรหาผลไม้ให้ลูกกินแทน คราวหน้าถ้าถึงเวลากินลูกจะได้ไม่ปฏิเสธอาหารอีก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.8 No.85 มกราคม 2555