ลูกขาดน้ำ...อันตราย !



ลูกขาดน้ำ...อันตราย !
(รักลูก)
โดย: พิชญกานต์

          น้ำมีประโยชน์ค่ะ ร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำถึง 60% ของน้ำหนักตัว และในวัยแรกเกิดจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 80% ดังนั้น หากร่างกายของลูกขาดน้ำหรือได้รับน้ำไม่เพียงพอ ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอนค่ะ

น้ำสำคัญอย่างไร

          น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และลำเลียงของเสียออกไปขับทิ้งออกจากร่างกาย มีส่วนช่วยให้ระบบต่าง ๆ ทำงานให้เป็นปกติ เช่น การขับถ่าย การย่อย ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุผิวหนัง เช่น ตา ช่องปาก และช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย

          การเปลี่ยนแปลงของน้ำในร่างกายจึงมีผลต่อสุขภาพของเด็กวัยนี้เป็นอย่างมาก หากร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งมีอาการรุนแรงค่ะ

ความต้องการน้ำในแต่ละวันของเด็กแต่ละวัย

          เด็กวัย 0-1 ขวบ ต้องการน้ำปริมาณ 120-150 cc (หรือประมาณค่อนแก้ว) ต่อน้ำหนักตัว 1 kg

          เด็กวัยหลัง 1 ขวบ ความต้องการของน้ำต่อน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กแรกเกิด เช่น เด็กอายุ 6 ขวบ น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ต้องการน้ำประมาณ 1500 ซีซี หรือเท่ากับ 75 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ทำไมลูกขาดน้ำ

          สาเหตุของการขาดน้ำในเด็ก เกิดจากการได้รับน้ำไม่เพียงพอ และการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว โดยในเด็กทารกมีความต้องการน้ำในปริมาณมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว และยังพบว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำจากโรคอุจจาระร่วงได้บ่อยกว่าในวัยอื่น

          นอกจากนั้น ก็อาจเกิดจากการสูญเสียน้ำทางเหงื่อ เพราะอยู่ในสภาวะร้อนจัดหรือจากการเล่นกีฬา และยังมีภาวะขาดน้ำที่แฝงมากับอาการอื่นด้วย เช่น โรคไข้เลือดออก โดยเด็กจะสูญเสียน้ำในเลือดไปอยู่ในช่องปอดช่องท้อง ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ไม่สะดวก จึงต้องให้น้ำเกลือเพื่อรักษาปริมาณน้ำในร่างกายให้เพียงพอค่ะ

ถ้าลูกขาดน้ำ

          น้ำเป็นส่วนช่วยในการลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นหากร่างกายขาดน้ำ เลือดก็จะแห้ง ไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ หัวใจต้องเพิ่มพลังในการสูบฉีดเลือดให้หมุนเวียนในร่างกายเรา ต้องเต้นเร็วเพื่อเร่งให้เลือดสูบฉีดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ให้ พอ หัวใจจึงทำงานหนักมากเกินไป อาจทำให้ลูกช็อกและอาจจะเสียชีวิตได้

          คุณพ่อคุณแม่จะทราบว่าลูกขาดน้ำหรือไม่ จากการสังเกตร่างกายภายนอกของลูก โดยดูจากเยื่อบุผิวหนัง คือตา ริมฝีปาก โพรงจมูก หากลูกขาดน้ำจะมีแววตาไม่สดใสเหมือนปกติ มีแววตาสลดลง ริมฝีปากแห้ง

          เด็กวัยขวบปีแรก จะสังเกตได้จากบริเวณกระหม่อมด้วย คือหากกระหม่อมยุบบุ๋มลง แสดงว่าลูกขาดน้ำในระดับปานกลางค่ะ

          แต่ถ้าลูกขาดน้ำระดับรุนแรงจะมีอาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย นอนมากขึ้น ขอบตาลึก และจะไม่ปัสสาวะค่ะ

          นอกจากนั้น ความยืดหยุ่นของผิวก็สามารถบอกภาวะขาดน้ำได้ ปกติเมื่อเราดึงผิวหนัง ผิวก็จะกลับเข้าสู่สภาพเดิมในเวลาไม่ถึง 3 วินาที แต่หากดึงผิวหนังแล้วพบว่ามีการหย่อนคล้อย ไม่มีความยืดหยุ่น ไม่กลับไปอยู่ในสภาพเดิม ก็แสดงว่าอาจขาดน้ำได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการหอบ และมีภาวะเป็นกรดในเส้นเลือดด้วยค่ะ

การทดแทนน้ำช่วยลูกได้

          เมื่อลูกเกิดภาวะขาดน้ำ หากเกิดจากลูกเป็นอุจจาระร่วง คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกจิบน้ำผสมเกลือแร่ทีละน้อย เพื่อช่วยปรับระดับน้ำในร่างกาย หากทารกที่อยู่ในช่วงกินน้ำนมจากแม่อย่างเดียว ก็ไม่ต้องหยุดให้นม แต่ให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่เสริมเข้าไปได้เลยค่ะ

          การป้องกันไม่ให้ลูกขาดน้ำ คุณพ่อคุณแม่ทำได้โดยให้ลูกดื่มน้ำ น้ำผลไม้ นม หรืออาหารที่มีน้ำมาก ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในวันที่อากาศร้อนมากร่างกายก็จะมีการสูญเสียน้ำมากเช่นกัน จึงต้องได้รับน้ำเพิ่มมากกว่าปกติด้วยค่ะ

          ถ้าดูแลให้ลูกได้รับน้ำและสารอาหารให้ครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของลูก หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติ เมื่อพบปัญหาก็รีบหาทางแก้ไข ลูกน้อยก็จะไม่ขาดน้ำ สุขภาพแข็งแรงและห่างไกลจากโรคค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกขาดน้ำ...อันตราย ! อัปเดตล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 15:02:09 6,396 อ่าน
TOP
x close