ทำความรู้จักทารกแรกคลอด



ทำความรู้จักทารกแรกคลอด
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ณ ลันตา

          สำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่เพิ่งมีลูกคนแรก คงมีเรื่องสงสัยมากมาย ถึงแม้จะศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่พอเจ้าตัวเล็กคลอดออกมาจริง ๆ ก็อดกังวลกับหลาย ๆ เรื่องไม่ได้ คอลัมน์คุณแม่มือใหม่ฉบับนี้เราจึงรวบรวมปัญหาที่คุณแม่มือใหม่มักสงสัยมาฝากค่ะ

เวลาลูกร้องต้องให้นมทุกครั้งหรือเปล่า?

          คุณแม่มือใหม่มักไม่แน่ใจว่า ลูกร้องเพราะอะไรกันแน่ และมักคิดว่าการที่ลูกร้องเป็นเพราะเขาหิว ซึ่งเป็นเรื่องจริงสำหรับทารกสัปดาห์แรก ๆ ดังนั้น สำหรับทารกแรกเกิดคุณแม่สามารถให้นมเขาได้บ่อย ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะอิ่มเกินไป เนื่องจากช่วงนี้ น้ำนมคุณแม่ยังมีไม่มาก ลูกจึงอาจหิวบ่อย

          แต่ก่อนอื่นคุณแม่ควรสำรวจก่อนว่า มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ทารกร้องหรือเปล่า อย่างเช่น ถูกแมลงกัด ร้องเพราะตกใจ หรือเขาทำเปียก ถ้าเป็นกรณีที่ร้องเพราะทำเปียก เมื่อคุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อม ทำความสะอาดให้เขา เขาก็จะหยุดร้อง

          หลังกินนมถ้าสังเกตเห็นว่ามีคราบนมจับที่ลิ้นลูกจนเป็นฝ้าขาว ควรใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดเบา ๆ เจ้าคราบที่ว่านี้ก็จะหลุดออกโดยง่าย

ทำไมลูกแหวะทุกครั้งหลังกินนม?

          สำหรับเรื่องนี้ ก่อนอื่นคงต้องสังเกตก่อนว่า เขาแค่สำรอกนมที่ดูดไปออกมา หรือเป็นการอาเจียน หากเป็นเพียงการสำรอกนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ถึงขั้นอาเจียน คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เขาแหวะนมในมื้อต่อ ๆ ไปได้ ด้วยการอุ้มลูกพาดบ่าแล้วลูบหลังให้เรอ ซึ่งบางครั้งลูบอย่างไรเขาก็ไม่ยอมเรอสักที ถ้าเป็นอย่างนี้คงต้องยอมแพ้ ปล่อยให้เขานอนต่อดีกว่าค่ะ แต่ควรให้เขานอนตะแคง เพื่อที่หากเขาแหวะนมออกมาเวลานอนจะได้ไม่สำลัก

          หากลูกสำรอกนมออกมาแรง ๆ อย่างนี้ต้องเรียกว่าอาเจียนแล้วล่ะค่ะ ซึ่งการอาเจียนของทารกมีหลายสาเหตุ เช่น มีแก๊สในกระเพาะมากหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ ต้องรีบปรึกษาแพทย์ค่ะ

ทำไมลูกทั้งฉี่และอึบ่อย?

          ในช่วงหน้าหนาวแบบนี้คุณแม่อาจต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกแทบทั้งวัน เพราะอากาศที่เย็นลงทำให้เหงื่อลูกออกน้อย เขาจึงปัสสาวะบ่อยขึ้น สำหรับการถ่ายอุจจาระ ทารกมักถ่ายทุกครั้งหลังกินนม จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหากเจ้าตัวเล็กของคุณจะถ่ายวันละหลาย ๆ ครั้ง ทารกที่กินนมแม่ อุจจาระจะค่อนข้างนิ่ม ส่วนทารกที่กินนมผงอุจจาระจะแข็งกว่าเล็กน้อย

เล็บลูกยาวเร็วจัง

          เล็บของทารกจะยาวเร็วค่ะ คุณแม่ควรตัดเล็บมือ เล็บเท้าของเค้าให้สั้นอยู่เสมอ โดยตัดให้เป็นแนวตรง นอกจากนี้ควรหาถุงมือมาสวมให้ลูก เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บของเค้าไปข่วนตัวเค้าเองค่ะ อ้อ ในช่วงที่อากาศเย็น ๆ ควรสวมถุงเท้าเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้เค้าด้วยนะคะ

          กรรไกรตัดเล็บที่ใช้ ควรจะเป็นกรรไกรสำหรับทารกโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน และเพื่อความปลอดภัยของเจ้าตัวเล็ก คุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญการตัดเล็บให้ลูก ควรรอเวลาให้เค้าหลับก่อนค่อยตัดจะดีกว่าค่ะ

ควรอุ้มลูกบ่อยแค่ไหน

          หลายคนอาจคิดว่าควรอุ้มเมื่อลูกร้องไห้ แต่จริง ๆ แล้ว การอุ้มไม่ควรทำขณะที่เขาร้องไห้อย่างเดียว โดยเฉพาะเมื่อเขายังเล็กอย่างนี้ คุณแม่ควรอุ้มลูกให้บ่อย เพราะทารกต้องการสัมผัส โดยเฉพาะสัมผัสจากแม่เป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้เลย และสำหรับคุณแม่เอง การได้สัมผัสกอดลูก จะช่วยลดความเครียด ความเหนื่อยล้าลงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณอุ้มเขาทั้งวันหรอกนะคะ เพราะการอุ้มที่นานหรือบ่อยเกินไป จะทำให้ลูกไม่มีเวลาพักผ่อนเต็มที่ โดยเฉลี่ยแล้ว คุณแม่ควรอุ้มลูกวันละ 3 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือควรปล่อยให้เขานอนเอง เพื่อเขาจะได้เคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ

นอนท่าไหนดี

          ในความเป็นจริงแล้ว ทารกรู้จักหาท่านอนที่ทำให้เขารู้สึกสบายได้เองตามธรรมชาติ โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยว อย่างเช่น ในวันแรก ๆ หลังจากที่เขาคลอดออกมา ท่านอนที่สบายที่สุดของเขา เป็นท่าที่ใกล้เคียงกับเมื่อตอนที่เขาอยู่ในครรภ์ นั่นก็คือท่านอนคุดคู้ และวันต่อ ๆ มาท่าที่สบายของเขาจะกลายเป็นท่านอนหงายผึ่งพุง กางมือกางเท้าเต็มที่

          ส่วนท่านอนที่เหมาะสมที่สุดในเวลากลางคืนก็คือ ท่านอนหงาย หรือนอนตะแคง ถ้าลูกถนัดที่จะนอนตะแคงคุณแม่ควรหมั่นพลิกตัวเขาตะแคงซ้าย-ขวาสลับกัน และควรใช้หมอนใบเล็ก นุ่ม ๆ หนุนไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อป้องกันการพลิกตัวคว่ำหน้า หรือหงายหลัง

          ช่วงที่ลูกยังพลิกตัวคว่ำเองไม่ได้ ในยามที่เขาตื่นอยู่คุณแม่ควรช่วยปรับเปลี่ยนท่านอนเล่นให้เขาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เขาได้เปลี่ยนมุมมองที่แปลกใหม่ กับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นด้านข้าง ซ้าย-ขวา นอกจากนี้การเปลี่ยนให้เขาได้นอนในท่าที่ต่าง ๆ กันไป จะช่วยให้เกิดพัฒนาการที่ดีต่อกระดูกสันหลังรวมทั้งประสาทสัมผัสโดยทั่วไปด้วย

          หากลูกนอนในเปล ควรหาหมอนใบเล็ก ๆ หรือแผ่นฟองน้ำติดไว้เป็นกันชนรอบ ๆ โดยเฉพาะด้านบน เพื่อป้องกันศีรษะลูกไม่ให้กระแทกกับลูกกรงเตียง

ลูกฝันร้ายหรือเปล่า

          ทารกจะเริ่มรู้จักการฝันเมื่ออายุ 6 เดือน แน่นอนเขาบอกใคร ๆ ไม่ได้หรอกว่ากำลังฝัน ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ด้วยว่ามันคืออะไร แต่นักวิจัยได้ใช้การวัดคลื่นสมองเป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ และพบว่า คลื่นสมองของทารกที่กำลังฝัน มีเส้นเหมือนคลื่นสมองของผู้ใหญ่ขณะฝันเปี๊ยบ

          ขณะที่เขาหลับสนิทนั้น จะมีช่วงหนึ่งที่ตาของเขาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว ที่เรียกว่า Rapid Eye Movement ซึ่งช่วงนี้แหละที่เขาจะถูกคุณแม่ทำให้ตื่นได้ง่ายมาก เพราะเขาจะมีท่าทางเหมือนกับว่ากำลังจะตื่น เช่น ดิ้น บิดขี้เกียจ ทำหน้าย่น ส่งเสียงเบา ๆ หรือแม้กระทั่งร้องออกมา ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่ได้รู้สึกไม่สบายตัวแต่อย่างใด แล้วเขาก็ยังไม่อยากตื่นด้วย แต่พอได้ยินเสียงลูกร้องคุณแม่มักรีบเข้าไปอุ้มเขาขึ้นมาปลอบโยน เพื่อให้เขาสงบลง แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้นตามมาก็คือ แทนที่เขาจะหลับต่อได้ จะกลายเป็นว่า เขาได้ตื่นอย่างเต็มที่ซะแล้ว

          ดังนั้น หากลูกมีท่าทีว่าจะตื่น อย่าเพิ่งรีบอุ้มเขานะคะ รอดูไปก่อนสักพัก หรือค่อย ๆ กล่อมให้เขาหลับต่อด้วยการใช้มือลูบไล้หน้าอก หรือตบก้นเขาเบา ๆ ลูกจะเคลิ้ม

ลูกมองเห็นชัดแค่ไหน

          ส่วนเรื่องการมองเห็นนั้น เมื่อแรกเกิดตาของทารกจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ แต่ในระยะแรก ๆ เขาจะยังไม่สามารถมองเห็นภาพวัตถุใดวัตถุหนึ่งได้ ต่อมาเขาจึงค่อย ๆ เริ่มมองเห็นภาพเป็นมุมกว้าง 45 องศา หรือประมาณ 1 ใน 4 ของการมองเห็นของผู้ใหญ่

          จนกระทั่งอายุครบ 6 สัปดาห์ มุมในการมองเห็นของเขาจะเพิ่มเป็น 90 องศา และเมื่อลูกอายุครบ 3 เดือน ขอบเขตการมองเห็นของเขาจึงเท่ากับผู้ใหญ่ คือ สามารถมองได้ในมุม 180 องศา แต่กว่าทารกจะมองภาพได้คมชัด เท่า ๆ กับผู้ใหญ่ที่มีสายตาปกติ ก็ต้องรอจนเขาอายุครบขวบนั่นแหละค่ะ

          ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม ทารกวัย 1 เดือน ก็สามารถเคลื่อนสายตามองตามวัตถุได้บ้างแล้ว หากคุณแม่คุณพ่อสบตาเขา แล้วค่อย ๆ เลื่อนหน้าไปมาช้า ๆ เขาจะมองตามอย่างสนใจ ระหว่างนั้นหากคุณพูดคุย ส่งยิ้มหรือหัวเราะให้เขา นอกจากจะช่วยเขาจะได้ฝึกสายตาแล้ว ยังทำให้เขาอารมณ์ดีด้วย

          เด็กวัย 1 เดือน จะมองเห็นแต่สิ่งของที่อยู่ใกล้ ๆ เท่านั้น ระยะที่เขาจะมองเห็นชัดที่สุดคือ 8-10 นิ้ว และจะชอบมองสิ่งของที่มีสีสันสดใส รวมทั้งสีขาวกับดำด้วยค่ะ ลองนำของเล่นสีสดใสมาให้ลูกมองในระยะใกล้ ๆ แล้วค่อย ๆ เคลื่อนของเล่นไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง หรือขึ้นบ้าง ลงบ้าง เขาจะมองตามได้นานเชียวค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 479 มกราคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำความรู้จักทารกแรกคลอด อัปเดตล่าสุด 30 มกราคม 2555 เวลา 15:25:38 15,657 อ่าน
TOP
x close