คำถามคาใจเรื่อง ฟ.ฟัน



คำถามคาใจเรื่อง ฟ.ฟัน
(M&C แม่และเด็ก)

          คงต้องยอมรับว่า ปาก เป็นอวัยวะที่สำคัญต่อทุกชีวิต และฟันจัดเป็นอวัยวะที่แข็งแรงและมีความสำคัญต่อคนเรามากที่สุด ตั้งแต่เริ่มเป็นฟันน้ำนมที่สองซี่เล็ก ๆ น่ารัก ๆ จวบจนเป็นฟันแท้ที่จะอยู่คู่กับกับเราไปจนกระทั่งถึงวัยชราค่ะ

"ฟันน้ำนม" มีไว้ทำอะไร

          อย่างที่เราเห็นง่าย ๆ ว่า เจ้าฟันน้ำนมมีหน้าที่ก็คือการบดเคี้ยว เด็กจะเจริญเติบโตได้จะต้องมีอาหารเข้าไปเลี้ยงร่างกายโดยอาหารจะต้องผ่านช่องปากก่อนเป็นอันดับแรกเหมือนวลีที่เราได้ยินบ่อย ๆ นั่นล่ะค่ะ ว่า "ช่องปากเป็นประตูของสุขภาพ"

          นอกจากนี้ เจ้าฟันน้ำนมน่ารัก ๆ ของลูก ยังช่วยในด้านความสวยงามอีกด้วย ถ้าเด็กหน้าตาสวยแต่ยิ้มออกมาฟันหลอ หรือไม่มีฟันเลยก็คงไม่ค่อยน่าดูเท่าไหร่นัก และฟันน้ำนมยังช่วยกระตุ้นการเจริญของการเจริญของขากรรไกร ได้ทั้งขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ซึ่งเป็นหลักตามธรรมชาติที่ว่า สิ่งที่มีการใช้งานก็ย่อมมีการเจริญและพัฒนาขึ้นไปค่ะ

          ฟันน้ำนมยังมีความสำคัญอีกคือในเรื่องของการออกเสียง ถ้าฟันหน้าหลอ การพูด การออกเสียงต่าง ๆ ก็จะผิดเพี้ยนไป ดังนั้น หน้าที่หลักกว้าง ๆ ของฟันน้ำนมก็คือช่วยในการบดเคี้ยว, ช่วยในด้านความสวยงาม, ช่วยกระตุ้นการเจริญของขากรรไกร และช่วยในการออกเสียงค่ะ

ฟันขึ้นช้า อย่างไรผิดปกติ

          ปกติจะต้องบวกลบให้ได้ถึง 1 ปี หมายความว่าปกติฟันน้ำนมซี่แรกของเด็กจะขึ้นประมาณ 6 เดือน แต่บางคนอาจจะ 8 เดือน 10 เดือน หรือให้ได้ถึง 1 ปี ถ้าอยู่ในวิสัยตรงนี้ และลูกสามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติ คุณแม่ก็ไม่ต้องทำอะไร ยกเว้นในกรณีที่ฟันของเด็กบางคนขึ้นช้ามาก ๆ เช่น 2-3 ปี แล้วฟันยังไม่ขึ้นจะต้องดูว่ามีอะไรแฝงเร้นอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะโรคของต่อมไร้ท่อ ซึ่งต้องพาไปพบคุณหมอค่ะ

          หรืออย่างบางกรณีที่พบว่า เด็กเกิดมาแล้วมีฟันขึ้นมาเลย ถ้าดูแล้วพบว่าฟันที่ขึ้นมาอาจทำให้คุณแม่เจ็บปวดเวลาให้นม หรือมีปัญหาอื่นตามมา เราสามารถถอนฟันนี้ออกได้ เพราะเป็นฟันที่เกินออกมา

ฟันขึ้นช้าดีกว่าขึ้นเร็ว เพราะผุช้า

          โดยเหตุและผลแล้ว อะไรที่เป็นไปตามธรรมชาติสิ่งนั้น จะดีที่สุดค่ะ การที่ฟันผุหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยดูแลฟันของลูกน้อยให้ดี แต่ถ้าพูดว่า ถ้าฟันขึ้นช้าก็จะผุช้านั้นแสดงว่าตั้งหน้าตั้งตารอคอยให้ลูกฟันผุมากกว่า

ฟันจะเก เพราะลูกดูดขวดนม

          เป็นไปได้ค่ะ หมายความว่าต้องเป็นในระยะยาวต่อไปมาก ๆ เพราะการดูดนมขวดในลักษณะที่ผิดวิธี เช่น การนอนดูดขวดนม น้ำนมจะเข้าคอ ดังนั้น ธรรมชาติเองเด็กก็จะต้องเอาลิ้นมาดันบริเวณจุกนมและฟันหน้าบน ซึ่งทำให้มีการกลืนผิดปกติ

          เมื่อถามเรื่องนมขวดคุณแม่อาจจะสงสัยว่า จะเจาะรูเพื่อให้น้ำนมไหลอย่างไรให้พอเหมาะนั้น สังเกตได้ง่าย ๆ ว่าถ้าเจาะรูนั้นแล้วคว่ำขวดลงและมีน้ำนมไหลเป็นสายออกมาเลย จะมากเกินไป แต่ถ้าคว่ำขวดแล้วน้ำนมเริ่มหยดไปทีละหยดก็น้อยเกินไป ทางที่ดีควรดูขนาดที่พอเหมาะโดยให้สังเกตว่าเมื่อคว่ำขวดลงแล้วน้ำนมไหลเป็นสายสักประมาณ 1-2 วินาที และจะเริ่มหยดทีละหยดนั้นถึงจะเรียกว่า กำลังพอเหมาะค่ะ

ดูแลช่องปาก...ควรเริ่มตั้งแต่เด็ก

          คุณแม่บางท่านอาจจะคิดว่า ลูกเพิ่งเกิดมาใหม่ ๆ ยังไม่มีฟันขึ้นก็คงยังไม่จำเป็นต้องดูแล แต่รอจนเริ่มมีฟันขึ้นก่อนแล้วค่อยให้การดูแลนั้นเป็นการเข้าใจผิด เพราะถ้ารอจนเด็กมีฟันขึ้นแล้วจึงเริ่มฝึกการแปรงฟัน เด็กอาจไม่คุ้นกับการที่มีอะไรเข้าไปอยู่ในช่องปาก ดังนั้น ในระยะแรก ๆ แม้เด็กยังไม่มีฟันน้ำนมในช่องปาก คุณแม่ควรจะต้องทำความสะอาดคราบนม คราบสกปรกที่ติดค้างอยู่ในช่องปากตามเหงือก หรือกระพุ้งแก้ม โดยวิธีการทำความสะอาดคือใช้ผ้านุ่ม ๆ ชุบน้ำให้หมาด ๆ โดยอาจใช้น้ำต้มสุกธรรมดาแล้วเช็ดภายในช่องปากให้ทั่ว ๆ ค่ะ

ลูกอายุ 8 เดือน มีฟันขึ้น 4 ซี่ ใช้แปรงสีฟันได้หรือยัง

          คุณแม่สามารถใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงที่อ่อนนุ่ม ซึ่งทำขึ้นมาเพื่อเด็กอ่อนโดยเฉพาะ แปรงเบา ๆ ให้ลูก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาสีฟันควรแปรงด้วยความนุ่มนวล เพื่อไม่ให้ลูกน้อยรู้สึกเจ็บและรู้สึกไม่ดีกับการแปรงฟัน หากลูกไม่ยอมให้แปรงแต่โดยดี ก็สามารถกลับไปใช้ผ้านุ่ม ๆ เช็ดทำความสะอาดฟันและช่องปากของลูก ถือว่าไม่ผิดกติกาค่ะ

"ฟลูออไรด์" ให้ได้เมื่อไหร่

          เจ้าฟลูออไรด์สามารถเริ่มให้ลูกน้อยหม่ำได้ตั้งแต่อายุ 8 เดือน ในขนาด 0.25 มิลลิกรัมต่อวัน จนถึงอายุ 3 ปี โดยให้หม่ำพร้อมข้าวหรือน้ำผลไม้ก็ได้ แต่ห้ามหม่ำพร้อมกับนม เพราะจะทำให้ฟลูออไรด์ไม่ถูกดูดซึมค่ะ เมื่ออายุ 3-6 ปี ให้เพิ่มปริมาณเป็น 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน โดยให้หม่ำวันละ 1 มิลลิกรัมได้ ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปค่ะ และสามารถกินได้จนอายุ 16 ปี สำหรับยาเม็ดหรือยาน้ำฟลูออไรด์สามารถซื้อได้ทั่วไป แต่เพื่อความปลอดภัยควรให้คุณหมอเป็นผู้สั่งให้จะดีกว่าค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 479 มกราคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำถามคาใจเรื่อง ฟ.ฟัน อัปเดตล่าสุด 27 มกราคม 2555 เวลา 13:47:53 1,523 อ่าน
TOP
x close