6 สิ่งควรรู้ เพื่อดูแลลูกเดือนแรก (momypedia)
โดย: พ.ญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
อย่าปล่อยให้ช่วงเวลา 1 เดือนแรกหลังคลอดพุ่งผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเราหัวหมุน เพราะอันที่จริง มีสิ่งต่างๆ ที่เราต้องทำ เรียนรู้ และปรับตัวกับลูกรักวัยแบเบาะของเรามากมายนัก
นับตั้งแต่ลูกแรกเกิดจนอายุครบ 1 เดือน เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตของครอบครัว จากที่เคยมีกันอยู่สองคน (ถ้าเพิ่งจะมีลูกคนแรก) ก็มีสมาชิกตัวเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่ง เป็นหนึ่งเดียวที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง จะพูดจาสื่อสารกับใครก็ยังไม่ได้ ได้แต่ร้องไห้ จะกินจะนอนอย่างไร ชอบให้อุ้มอย่างไร ล้วนเป็นปริศนาที่แสนท้าทายสำหรับพ่อแม่ที่จะต้องค่อย ๆ สังเกต และปรับตัวให้เข้ากับสมาชิกตัวน้อยคนนี้
ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่มาพบหมอครั้งแรกตามนัด 1 เดือน จึงเป็นเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พูดคุย ถามไถ่ข้อสงสัย เพื่อคลายความกังวล ส่วนคุณหมอจะได้ตรวจร่างกายลูก เพื่อดูการเจริญเติบโต และพัฒนาการว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ รวมถึงแนะนำเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดกับทารกวัยนี้ด้วย
ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบและใส่ใจ เพื่อการดูแลลูกแรกเกิดในเดือนแรกนี้ค่ะ
การนัดมาตรวจหลังจากกลับบ้าน
หลังจากนำลูกกลับบ้าน ในช่วงสัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่ทุกคนปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่มีลูกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ถ้าทั้งพ่อและแม่ช่วยกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ศึกษาและสังเกตลูก จะทำให้การปรับตัวค่อยเป็นค่อยไปอย่างราบรื่น
ถ้าลูกคลอดโรงพยาบาลของรัฐ คุณหมอมักจะนัดเมื่อครบ 1 เดือน (บางแห่งนัด 2 เดือน) แต่ในช่วงระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปเยี่ยมบ้าน เพื่อแนะนำการเลี้ยงดู แต่สำหรับคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน หมอมักจะนัดกลับมาดูหลังจากกลับบ้านประมาณ 7 วัน เพื่อดูเรื่องต่อไปนี้ค่ะ
มีตัวเหลืองหรือไม่?
ทารกที่กลับบ้านเร็วก่อนอายุ 4 วัน อาจจะยังไม่เห็นตัวเหลืองในวันที่กลับบ้าน เพราะอาการตัวเหลืองที่เกิดเป็นปกติในทารกแรกเกิดจะเริ่มเห็นตั้งแต่วันที่ 3-4 การนัดกลับมาดูในช่วงนี้ เพื่อดูว่าตัวเหลืองหรือไม่ เหลืองมากน้อยเพียงใด ถ้าดูเหลืองมากอาจจะต้องเจาะเลือดเพื่อดูระดับสารเหลืองและหาสาเหตุ
สะดือแห้งดีหรือไม่?
หลังคลอดมักจะแนะนำให้เช็ดตัวทารกไปก่อน จนกว่าสะดือจะหลุดจึงค่อยลงอาบน้ำในอ่างน้ำ ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดสะดือ โดยดึงสะดือขึ้นจนเห็นรอยต่อระหว่างสะดือกับผิวหนัง และเช็ดบริเวณนั้นให้สะอาด ถ้าสะดือหลุดแล้ว อาจมีเลือดซึมเล็กน้อยและหยุดไปเอง บริเวณตอที่สะดือเพิ่งหลุดออกไป จะมีสีเหลือง ๆ ดูเปียกเยิ้มอยู่สักวันสองวัน แล้วจะแห้งกลายเป็นผิวหนังปกติในที่สุด
การกินนมเป็นอย่างไร?
คุณแม่ที่ต้องการให้ลูกได้นมแม่ ควรให้ลูกดูดนมแม่อย่างเดียว โดยยังไม่ต้องให้นมอื่น หากช่วงนี้มีปัญหา จะได้ให้คำแนะนำและแก้ไขเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังคลอด
ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความกังวลว่าน้ำนมแม่ออกน้อย กลัวลูกดูดไม่พอ (เพราะคุณแม่ไม่ได้เห็นกับตาว่าลูกได้นมเข้าไปเท่าไร) การที่น้ำนมแม่จะมีมากนั้นขึ้นกับการดูดของลูกโดยตรง ก่อนที่ลูกจะดูดนมแม่ได้คุณแม่ต้องอุ้มลูกให้ถูกท่าก่อนค่ะคืออุ้มให้ลูกตะแคงทั้งตัว ท้องลูกแนบท้องแม่ และปากลูกอยู่ระดับเดียวกับหัวนม
ประการต่อมาคือลูกงับหัวนมเข้าในปากจนลึกมากพอที่เหงือกลูกจะไม่กดลงที่หัวนม และที่สำคัญคือคุณแม่ให้ลูกดูดนมแม่บ่อยเท่าที่ลูกต้องการ ในสัปดาห์แรกนี้อาจจะดูดกันทั้งวันทั้งคืน แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องกกกอดให้ดูดนมถี่เช่นนี้ตลอดไปนะคะ เพราะในเดือนที่สองแม่ลูกจะรู้ใจกันและปรับช่วงเวลาดูดนมให้เหมาะสมกันทั้งคู่ได้
คุณแม่ควรให้ลูกดูดนมแม่แต่ละข้างให้นานมากพอจนน้ำนมเกลี้ยงเต้า เพื่อที่ลูกจะได้น้ำนมส่วนต้นซึ่งมีน้ำมาก และได้น้ำนมส่วนท้ายที่มีไขมันมากด้วย น้ำนมส่วนท้ายนี้แหละค่ะที่ทำให้ทารกอิ่ม ถ้าลูกดูดข้างละไม่นาน ทำให้ลูกได้แต่น้ำนมส่วนต้น ยังไม่ได้ไขมันตบท้ายมื้ออาหาร จึงทำให้หิวบ่อยได้ค่ะ
การถ่ายอุจจาระเป็นอย่างไร?
ทารกที่กินนมแม่มักจะถ่ายอุจจาระบ่อย วันละหลายครั้ง บางคนถ่ายอุจจาระหลังกินนมแม่ทุกครั้ง ทั้งนี้เพราะเมื่อลูกดูดนมแม่ จะมีการกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับอุจจาระออกมา ลักษณะอุจจาระจะเหลวคล้ายสังขยา สีเหลืองทอง เป็นอุจจาระปกติไม่ใช่ท้องเสียค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก