ลูกอนุบาล 1 ไม่ยอมอ่านหนังสือ (รักลูก)
Q : น้องกำลังเรียนชั้นอนุบาล 1 เวลากลับมาบ้าน น้องไม่ยอมอ่านหนังสือให้ฟังค่ะ ที่บ้านของเราจะมีตารางตัวอักษรติดไว้ พอถามว่าตัวอักษรอะไรบ้าง น้องไม่ยอมอ่านให้ฟัง คุณแม่เลยไม่รู้ว่าลูกอ่านได้หรือเปล่า คุณครูบอกว่าที่โรงเรียนน้องอ่านตัวอักษรได้ปกติ แต่คุณแม่ก็ก็อยากจะให้น้องอ่านให้ฟังบ้าง พอจะมีวิธีแนะนำบ้างไหมคะ เผื่อว่าถ้าลูกมีปัญหาการเรียนตรงไหน เราจะได้ตามทัน
คุณแม่โอ๋ / กรุงเทพฯ
A : ตามปกติแล้ว เด็ก ๆ ที่ไปโรงเรียนในระยะแรก จะต้องใช้ความพยายามในการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบใหม่ ที่ไม่มีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงคอยช่วยเหมือนอยู่บ้านมีคุณครูที่เขาเพิ่งรู้จัก เป็นคนดูแล มีเด็กวัยเดียวกัน (ที่ไม่คุ้นเคย) เป็นเพื่อนร่วมห้องมากมาย
สภาพชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากบ้านสู่โรงเรียนนี้ สำหรับเด็กเล็ก ๆ เขาต้องใช้เวลาในการปรับตัว เด็กส่วนใหญ่มีความเครียดจากการไปโรงเรียนในระยะแรกมากน้อยต่างกันไป และแสดงออกต่างกันไป บางคนร้องไห้เวลาไปโรงเรียน บางคนงอแง เอาแต่ใจมาก บางคนทานอาหารน้อยลง บางคนเงียบขรึม ไม่ค่อยพูดจาที่โรงเรียน และอีกหลายคนมีลักษณะเช่นลูกคุณแม่ คือไม่อยากเล่าหรือพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน
กรณีเหล่านี้เป็นสภาพปกติทั่วไปที่เด็กจะหายเองได้ตามกาลเวลา แต่ผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจกับความรู้สึกของเด็กและอย่าเพิ่งกดดัน โดยเฉพาะกับการอ่านหนังสือ ระยะที่ลูกไปโรงเรียนในช่วงแรก ๆ ขอแนะนำคุณแม่ว่า อย่าไปถามอะไรลูกมากมายเกี่ยวกับที่โรงเรียน ถามแค่ไปโรงเรียนสนุกไหม และถ้าลูกพร้อม เขาจะเล่าให้คุณแม่ฟังเอง
เมื่อลูกเริ่มพูดคุย เล่าเรื่องที่โรงเรียนอย่างสนุกสนานมากขึ้น คุณแม่ค่อยลองใช้วิธีต่าง ๆ ชวนลูกทำกิจกรรมเหมือนตอนที่ลูกอยู่โรงเรียน การจะขอให้ลูกวัยอนุบาล 1 อ่านหนังสือให้ฟังโดยขอตรง ๆ อาจจะยากหน่อยค่ะ ลูกคงจะเบื่อไม่อยากทำ แต่ขอแนะนำวิธีดังนี้ค่ะ
ชวนเล่นครูกับนักเรียน
สมมติให้ลูกเล่นเป็นครู เราเล่นเป็นนักเรียน ให้ลูกเล่นเขียนกระดาน ตรวจการบ้านแบบคุณครูไปสักระยะ ค่อยขอให้ลูกสอนตัวอักษรที่ติดไว้ข้างฝาให้นักเรียนฟัง ถ้าลูกไม่อยากสอน ก็ใช้วิธีชี้ไปที่พยัญชนะ แล้วคุณแม่ลองอ่านผิด ดูว่าลูกจะแก้ไหม เด็กส่วนใหญ่จะรีบบอกว่าไม่ใช่และรีบบอกสิ่งที่ถูกด้วยสัญชาตญาณของเด็ก แต่ครั้งแรก ๆ ที่ลองวิธีนี้อย่าเพิ่งให้ลูกอ่านทุกตัวนะคะ ลูกจะหมดสนุกไป
อ่านหนังสือให้ลูกฟัง
เมื่อลูกอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลายค่อยชวนลูกให้อ่านตารางตัวอักษรของคุณแม่ด้วยกัน อย่าให้ลูกอ่านเองเลยค่ะ ไม่ว่าลูกจะอ่านได้หรือไม่ได้ การอ่านไปด้วยกัน จะทำให้ลูกได้ทบทวนความรู้อยู่ดี ลูกก็จะไม่ต้องเครียดหากเขาอ่านบางตัวไมได้ เพราะยิ่งถ้าลูกยังทำไม่ได้หรือยังไม่มั่นใจ เขาจะรู้สึกกดดัน จะยิ่งเครียดเกร็ง เพราะกลัวคุณแม่จะคิดว่าเขาไม่เก่ง ครั้งหน้า เขาจะปฏิเสธไม่ยอมอ่านไปเลย
อย่างไรก็ดี เด็ก ๆ วัยอนุบาล 1 ยังไม่ใช่วัยที่สนใจหรือมีความถนัดในการเขียนอ่าน เด็กวัยนี้จะยังสนใจการเล่นการสำรวจ สนใจรูป สิ่งที่มีการเคลื่อนไหวหรือเสียงแปลก ๆ หากเราอยากให้ลูกอ่านหนังสือ จะต้องหาวิธีที่เข้ากับวัย และความสนใจของเขา เช่น หาหนังสือหรือสื่อมีเสียงที่สนุกกว่าตารางตัวอักษรอ่านด้วยกัน เล่นเป็นเกมให้ลูกรู้สึกสนุก แข่งขันกัน มีรางวัลหรือคำชมเชยเพื่อสร้างแรงจูงใจ
การชวนลูกอ่านหนังสือในระยะนี้ อย่าทำในลักษณะทดสอบลูกว่าทำได้หรือไม่ แต่ทำในลักษณะทำไปด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก อ่านผิดก็ไม่เป็นไร เอาใหม่อ่านถูกก็ชมเชย เพราะสิ่งสำคัญ คือ เราต้องให้ลูกรู้สึกว่าการฝึกของคุณแม่ จะสร้างความรู้สึกที่ดีแก่การเรียนรู้ของลูก เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกขาดความมั่นใจและรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ลูกจะปฏิเสธการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย
คุณแม่อย่ากังวลอะไรไปล่วงหน้านะคะ เพราะถึงแม้วัยอนุบาล 1 จะไม่ใช่วัยที่จะสนใจการอ่านเขียน แต่โดยธรรมชาติเด็ก ๆ จะเริ่มสนใจการเรียนหนังสือเมื่อถึงวัย ประมาณ 5 ขวบ (อนุบาล 2 หรือ 3) และลูกจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมากในวัยนี้ ถ้าเขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้
ดังนั้น ความสำคัญของการเรียนรู้ในวัยอนุบาล 1 คือ ทำให้ลูกรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ รู้สึกมีความมั่นใจ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่าง ๆ ให้ลูกได้มีประสบการณ์หลากหลายได้ฟังนิทานเยอะ ๆ เพื่อสะสมคลังศัพท์และสร้างแรงจูงใจในการอ่าน และที่สำคัญให้ลูกรู้จักสังเกตและสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เพื่อกระตุ้นความคิดและความสนใจใฝ่รู้
ทักษะเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญในเรียนรู้ต่อไป และเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม ลูกเราจะแสดงความสามารถในการเรียนหนังสือและการอ่านเขียนได้ไม่แพ้ใคร ๆ เลยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 347 ธันวาคม 2554