อุบัติเหตุยอดฮิต ของเจ้าหนูวัยเตาะแตะ

แม่และเด็ก

อุบัติเหตุยอดฮิต ของเจ้าหนูวัยเตาะแตะ
(Mother & Care)

         เคยนับกันบ้างไหมว่าใน 1 วัน คุณพ่อคุณแม่เกิดอาการใจหายใจคว่ำกับการใฝ่รู้ใฝ่เรียน (เอ๊ะ! หรือว่าใฝ่ซน) ของลูกน้อยวัยเตาะแตะบ่อยครั้งแค่ไหน?

         เพราะเด็ก ๆ ในวัยนี้อยู่ในช่วงแห่งการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว แม้จะยังทรงตัวได้ไม่ดี เดินไม่แข็ง วิ่งไม่คล่อง หยิบจับอะไรก็ยังไม่กระชับเหมาะมือ แต่เจ้าหนูน้อยไม่สนซะล่ะ ก็อะไร ๆ ที่อยู่รอบกายของน้องหนูดูน่าสนใจ น่าหยิบจับ น่าเข้าไปหาไปดู ไปเล่น จนอดใจไม่ไหวนี่นา ด้วยเหตุนี้อุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงเหตุอันตรายร้ายแรงต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นกับเจ้าหนูได้ตลอดเวลา

1.ไฟดูด

         เพราะความอยากรู้อยากเห็นและไม่ทราบถึงอันตรายจากการเล่นปลั๊กไฟหรือการเอานิ้วหรือสิ่งของต่างๆ ไปแหย่ปลั๊กไฟ จึงทำให้บ่อยครั้งที่ได้ยินว่าเจ้าหนูวัยเตาะแตะได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด หากคุณพ่อคุณแม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้าย ๆ แบบนี้ให้รีบถอดปลั๊กหรือสับคัทเอาท์ลงเพื่อตัดกระแสไฟฟ้าก่อน จากนั้นให้ใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า เชือก สายยาง เป็นต้น มาเขี่ยสายไฟให้หลุดออกจากตัวเด็ก หรืออาจใช้ถุงมือยางหรือผ้าแห้งพันมือให้หนาแล้วผลักเด็กให้หลุดออกมา ในขณะให้การช่วยเหลือต้องแน่ใจว่าผู้เข้าไปช่วยร่างกายต้องไม่เปียกขึ้นและห้ามใช้มือเปล่าในการช่วยเด็ดขาด หลังจากที่ช่วยออกมาแล้วหากเด็กหมดสติและและหัวใจหยุดเต้นให้รีบนวดหัวใจไปพร้อม ๆ กับการผายปอด และรีบนำส่งโรงพยาบาล

2.จมน้ำ

         ประมาทไม่ได้เลยเชียวเรื่องเด็ก ๆ กับการเล่นน้ำอุบัติเหตุจากการจมน้ำส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นแหล่งน้ำใกล้ ๆ ตัว เช่น ถังน้ำ อ่างน้ำ บ่อน้ำ สระน้ำ หรือคู คลอง หนอง บึงละแวกบ้าน แม้ระดับน้ำจะแค่ตื้น ๆ แต่หากพลั้งเผลอก็อาจเกิดเหตุร้ายกับเจ้าตัวเด็กขึ้นมาจริง ๆ ได้ ดังนั้นหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น "สติ" คือสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ต้องมี จากนั้นดูอาการของลูกหากเขารู้สึกตัวและหายใจได้เอง คุณพ่อคุณแม่ก็เพียงเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น และสังเกตว่าลูกหายใจเป็นปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที กรณีที่ร้ายแรงกว่านั้น คือหากลูกไม่ได้สติ หายใจช้า หรือไม่หายใจ ให้ช่วยโดยใช้วิธีผายปอดและรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้า...

         อย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ในห้องน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำเพียงคนเดียวแม้จะเพียงแค่เสี้ยววินาที

         ปิดฝาภาชนะตามถังน้ำ ตุ่มน้ำ หรือประตูห้องน้ำให้มิดชิด

         สำหรับบ้านที่อยู่ริมน้ำหรือใกล้แหล่งน้ำให้ทำทางกั้นหรือระเบียงเพื่อป้องกันการพลัดตกลงไป

         ข้อควรระวัง คือ เมื่อช่วยเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้วไม่ควรจับอุ้มพาดบ่าแล้ววิ่ง หรือกระโดดเพื่อกระทุ้งให้น้ำออก เพราะจะยิ่งทำให้เด็กขาดอากาศหายใจนานายิ่งขึ้น

3.สิ่งแปลกปลอมติดในหลอดลม

         เผลอเป็นไม่ได้กับเจ้าหนูวัยเตาะแตะที่มักจะเห็นอะไรก็ไขว่คว้าหยิบจับ และที่น่าหนักใจก็คือหยิบปุ๊บเอาเข้าปากปั๊บนี่สิ อันตรายจริงๆ ลูกเอ๋ยที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ ห้ามใช้นิ้วควานช่องปากช่องคอ เพราะอาจดันให้สิ่งแปลกปลอมเลื่อนลึกลงไป ไม่ควรจับเด็กห้อยศีรษะลงและตบหลังเพราะสิ่งที่เข้าไปอุดตันอาจตกไปอุดที่กล่องเสียงได้ วิธีช่วยเหลือที่ถูกต้อง คือ จับเด็กนอนคว่ำพาดตัก โดยกดศีรษะให้อยู่ต่ำกว่าลำตัว จากนั้นตบที่กลางหลัง เพื่อให้เด็กไอเอาสิ่งแปลกปลอมออกมา หากยังไม่ได้ผลให้รีบพาส่งโรงพยาบาล

อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้า...

         เก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่มีขนาดเล็ก เช่น กระดุม เหรียญ น๊อต ตะปู หนังสติ๊ก ยา ฯลฯ ให้เป็นที่และพ้นระยะที่เด็กจะหยิบคว้าได้

         หากให้เด็กกินผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น เงาะ ลำไย องุ่น น้อยหน่า แตงโม ฯลฯ หรืออาหารประเภทปลา ไก่ หรือหมู คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดหรือหั่นเป็นชิ้นพอคำ และต้องแน่ใจว่าได้แกะเอาเมล็ดผลไม้ ก้างปลา หรือกระดูกต่างๆ ออกหมดแล้ว

         ไม่ควรให้เด็กวิ่งเล่น พูดคุย หรือหัวเราะในขณะกินอาหาร เพราะอาจทำให้สำลักและติดคอได้

         หลีกเลี่ยงการเล่นของเล่นจำพวกลูกแก้ว ลูกปัด หรือของเล่นที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กและแตกหักง่าย

4.อันตรายจากของมีคม

         ของต้องห้ามสำหรับเด็ก ๆ มักดึงดูดความอยากรู้อยากเห็นของเจ้าหนูอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นของมีคมอย่างกรรไกร มีด เข็มกลัด ส้อม ไม้แหลม หรือแม้กระทั่ง ของเล่นที่มีส่วนคมหรือปลายแหลมออกมา ก็มักจะทำให้ลูกน้อยต้องร้องโอดโอย มีแผลเลือดไหลอยู่ร่ำไป หากไม่ทันระวังปล่อยให้ลูกรักได้แผลจากของมีคม อันดับแรกให้ห้ามเลือดก่อนโดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดกดแช่ที่บาดแผล หากเลือดหยุดแล้วให้ล้างแผลด้วย น้ำสะอาดแล้วใส่ยาทาแผลสด จากนั้นปิดแผลด้วย ผ้าก๊อซหรือพลาสเตอร์ยา

อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้า...

         เก็บของมีคมให้พ้นจากการหยิบฉวยของลูกน้อย

         หลีกเลี่ยงการให้ลูกเล่นของเล่นที่ทำเป็นอาวุธ เช่น ดาบปลอม ปืนปลอม เป็นต้น

         เลือกของเล่นที่ได้มาตรฐาน ไม่แตกหรือหักง่ายอีกทั้งต้องไม่มีส่วนคมหรือปลายแหลมยื่นออกมา

5.ลื่น ล้ม ตก กระแทก

         จะด้วยความซนของเจ้าหนูหรือความประมาทของคุณพ่อคุณแม่ อันตรายจากการลื่นหกล้ม ตกจากที่สูง หรือวิ่งชนสิ่งต่าง ๆ ฯลฯ มักฝากบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างรอยฟกซ้ำดำเขียว ปากแตก หัวโน ไปจนถึงอาการสาหัสอย่างแขนขาหัก หัวแตก สมองกระทบกระเทือน และอาจถึงขั้นหมดสติหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้

         สำหรับการดูแลในเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่คงต้องดูไปตามอาการที่เจ้าหนูเป็น เช่น หากเจ้าตัวน้อยตัวโน มีอาการฟกช้ำให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แล้วใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม จนผ่านไป 24 ชั่วโมงจึงค่อยใช้น้ำอุ่นประคบ เพื่อลดอาการช้ำ แต่ถ้ามีแผลแตกถลอกให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดแล้วค่อยทายาใส่แผลสด กรณีที่เจ้าหนูมีอาการสาหัสมากกว่านี้ให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที

อุบัติเหตุป้องกันได้ถ้า...

         จัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่วางสิ่งของระเกะระกะ อีกทั้งพื้นบ้านตามห้องต่าง ๆ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ ฯลฯ ต้องไม่ลื่น หรือเสี่ยงต่อการลื่นหกล้ม

         หาผ้านุ่ม ๆ หรือฟองน้ำมาหุ้มขอบเหลี่ยมเฟอร์นิเจอร์ที่มีมุมหรือสันอย่างตู้ โต๊ะ เก้าอี้ หรือชั้นวางของ เพื่อป้องกันการกระแทกของลูกน้อย

         ทำที่กั้นเตียงนอน ประตูเข้า-ออก บันไดขึ้น-ลง หรือริมระเบียงเพื่อป้องกันการพลัดตก รวมทั้งหลีกเลี่ยงการวางเก้าอี้ โต๊ะ หรือเฟอร์นิเจอร์ที่เอื้อต่อการปีนป่ายของเด็กไว้ใกล้หน้าต่าง หรือราวระเบียง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.82 ตุลาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุบัติเหตุยอดฮิต ของเจ้าหนูวัยเตาะแตะ อัปเดตล่าสุด 14 ธันวาคม 2554 เวลา 15:30:05 1,254 อ่าน
TOP
x close