กลยุทธ์สยบเจ้าหนูนักตี (M&C แม่และเด็ก)
ขนาดผู้ใหญ่ตัวโต ๆ อย่างเรายังมีอารมณ์ร้อน มีเหวี่ยงใส่กันบ้าง ก็สติแตกทำร้ายกันจนเลือดตกยางออก นับประสาอะไรกับเด็ก ๆ คะ การระงับความโกรธจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเค้า ยิ่งระบายเป็นคำพูดไม่เก่งเหมือนผู้ใหญ่ด้วยแล้วแล้ว สิ่งที่ระบายออกมาได้ง่ายที่สุด ก็คงไม่พ้นการทำร้ายร่างกายคนอื่นหรือตัวเอง
เจ้าหนูจอมตีเกิดจาก
เด็กอายุ 2-5 ปี ถือเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตัวเอง จึงมีความก้าวร้าว และอาละวาดได้ง่าย ๆ ซึ่งสาเหตุความก้าวร้าวเกิดมาจาก
เกิดจากการที่เด็กเห็นตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมภายในบ้าน เลยทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะคิดว่าการด่าทอรุนแรง หรือการทุบตีทำร้ายซึ่งกัน และกันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
พวกหนังหรือรายการที่มีเนื้อหาชิงรักหักสวาท รุนแรง ผู้ชายตบหรือทำร้ายผู้หญิง การใช้ถ้อยคำด่าทอกันต่าง ๆ รวมทั้งการ์ตูนที่มีเนื้อหารุนแรงก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการคัดกรองให้เหมาะสมกับอายุเด็กด้วย หรือถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องคอยชี้แนะเด็กอยู่ข้าง ๆ เป็นประจำค่ะ
การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมภายในครอบครัวก็เป็นสาเหตุที่สำคัญ เช่นเดียวกันค่ะ เช่น การทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแลเด็กเท่าที่ควร, การลงโทษเด็กรุนแรงเกินกว่าเหตุบ่อย ๆ การยอมตามใจเด็กอยู่เสมอ, การที่เด็กทำผิดแล้วผู้ใหญ่ชอบให้ท้าย ฯลฯ
ไม้อ่อนดัดง่ายกว่า
สุภาษิตที่ว่าไม่อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยากนั้น ไม่ใช่เรื่องเชยเกินไปสำหรับการสอนลูกในยุคปัจจุบัน คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก รักลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข เติมถึงอารมณ์ของลูกให้เต็มอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้ว่าเค้าเป็นคนพิเศษ โดยที่ไม่ต้องไปหาความพิเศษจากที่อื่น
ทำยังไง...หนูจะหายตี
เดี๋ยวนี้ข่าวสารต่าง ๆ ปัญหาความเครียดในสังคมที่รายล้อมอยู่รอบตัวเด็ก ๆ ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดความเครียดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวได้ทั้งนั้นค่ะ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ในการช่วยเหลือเพื่อปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้
1.เมื่อเด็ก ๆ เริ่มตีกัน ให้แยกตัวออกจากสถานการณ์นั้นทันที โดยให้เวลาเด็กๆ ที่จะคิดทบทวนต่อการกระทำของเค้า เช่น หากเด็กเล่นอยู่ที่สนามกับเพื่อน ๆ ให้แยกเด็กไปอีกที่หนึ่งให้สงบลงก่อน หรือถ้าไม่ยอมให้ใช้วิธีอุ้มออกไปทันที หลังจากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายให้เด็กฟังว่า การตีกันถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และจัดเวลาให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ เวลาที่เหมาะสมคือ 1 นาที ต่ออายุแต่ละปี เช่น เด็ก 2 ขวบจะรอได้ 2 นาที และ 3 จะใช้เวลาในการรอคอยได้ 3 นาทีเป็นต้น
2.หากเป็นเด็กโตทะเลาะตีกัน ก็ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปแยกเด็กออกจากกันในทันที โดยให้โอกาสเด็กแต่ละคนพูดโดยที่อีกฝ่ายฟังอย่างสงบ และฟังอีกฝ่ายพูดบ้าง สร้างทัศนคติทางบวกกับเด็กว่าเราสามารถจะใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างอื่น โดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ เช่น พูดจากันดี ๆ หรือเมื่อขัดใจกันและไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ ควรปรึกษาให้ผู้ใหญ่ช่วยแก้ปัญหาให้
3.ให้รางวัลต่อพฤติกรรมที่เหมาะสม การชมหรือเสริมแรงถือว่าเป็นวิธีการที่ได้ผลวิธีหนึ่ง เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่รุนแรงให้ชมหรือเสริมแรงลูกทันที ให้ลูกรู้ว่า เราภูมิใจที่ลูกแก้ปัญหานั้นได้อย่างฉลาด อาจทำเป็นตารางความประพฤติที่เหมาะสมติดไว้ให้เห็นชัดเจน
4.ให้เด็ก ๆ มีทางเลือกใหม่ มีทางเลือกมากมายที่สามารถทำได้ดีกว่าการทำร้ายร่างกาย อาจใช้วิธีการพูดระบายความรู้สึก หรือเดินออกจากสถานการณ์นั้นเมื่อโกรธ หากไม่ได้ผล บอกลูกว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่เป็นเรื่องที่ทำได้ หากได้รับการสอนที่ถูกต้อง เด็กเล็ก ๆ ก็สามารถรู้จักใช้คำพูดแทนการตอบโต้ความรุนแรงได้ โดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจเล่นบทบาทสมมติต่อพฤติกรรมที่ควรกระทำเหล่านี้เป็นประจำ เพื่อให้เด็กเห็นตัวอย่างที่ดีและทำตาม
5.อย่าเปรียบเทียบลูก การเปรียบเทียบลูก ๆ กับพี่น้องคนอื่นหรือลูกของคนอื่น ทำให้ลูกเกิดความน้อยใจ และสะสมสิ่งเหล่านี้ไว้ เมื่อถึงเวลาจะระเบิดขึ้นโดยการใช้ความรุนแรง ลูกแต่ละคนเป็นคนพิเศษไม่เหมือนใคร และความพิเศษนี้ทำให้เราเห็นความแตกต่างกันของแต่ละคน เรียนรู้ในการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เมื่อมีความแตกต่างเกิดขึ้น
6.เด็ก ๆ เรียนรู้โดยการเลียนแบบ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็กสงบ สุขุม เด็กก็จะเลียนแบบและทำตามได้ง่ายกว่าเด็กที่เคยเห็นการตอบโต้ความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง ในทำนองเดียวกันเมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้สึกโกรธ และไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ให้ใช้วิธีออกจากสถานการณ์นั้นโดยทันทีเช่นเดียวกัน
7.ขอความช่วยเหลือ หากรู้สึกว่าลูกดูเหมือนว่าจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวและรุนแรงมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะลูกอาจมีปมปัญหาหรือสิ่งที่ปิดบังไว้ที่ไม่กล้าบอกใคร เช่น ความกลัว ความกดดัน ความวิตกกังวล เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 35 ฉบับที่ 477 พฤศจิกายน 2554