เมื่อลูกเป็น...โรคกลัวสังคม

แม่และเด็ก

เมื่อลูกเป็น...โรคกลัวสังคม
(รักลูก)

           ถ้าลูกพยายามหลีกเลี่ยงหรือมีท่าทางกังวล มือสั่น ใจสั่น กระวนกระวายอยู่เสมอยามไปอยู่ในสถานที่ใหม่ ๆ หรือเวลาเจอคนแปลกหน้า อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกกำลังเป็นโรคหวาดกลัวการเข้าสังคมค่ะ

           โรคกลัวสังคมหรืออาการกังวลเมื่อต้องเข้าสังคมสามารถพบเห็นได้เสมอ แต่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงว่าลูกสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่โดยโรคนี้เกิดได้จาก 3 สาเหตุ คือ

1.ตัวหนูเป็นสาเหตุ

           เด็กแต่ละคนจะมีพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันไป โดยเด็กที่มีแนวโน้มจะมีอาการกลัวสังคม มักจะเป็นเด็กที่ปรับตัวยาก เวลาเจอสิ่งใหม่ ที่ไม่คุ้นเคยจะหลีกหนีออกห่าง หรือแสดงท่าทีไม่ยินยอม ต่อต้าน เช่น ในเด็กเล็ก ถ้าเริ่มเปลี่ยนอาหารชนิดใหม่ก็จะร้องไห้และไม่ยอมกินง่าย ๆ หรือเมื่อมีการเปลี่ยนที่ก็จะปรับตัวเข้ากับสถานที่ใหม่ได้ยาก

           เด็กที่มีพื้นอารมณ์เป็นเด็กปรับตัวยากเมื่อโตขึ้นถึงวัยเข้าสังคม จะรู้สึกวิตกกังวลที่จะเจอกับคนแปลกหน้า เด็กๆ จะไม่มีทักษะด้านการสื่อสารที่จะทำความรู้จักเข้าหาเพื่อนใหม่ ๆ และมีแนวโน้มที่จะเป็นคนวิตกกังวล จนทำให้บุคลิกภาพของลูกเป็นคนอ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ประหม่า เขินอาย เมื่อต้องทำอะไรต่อหน้าคนอื่น และสิ่งที่เร้าอารมณ์ต่าง ๆ จนทำให้เกิดความเครียดและไม่อยากเข้าสังคมในที่สุด

2.พ่อแม่เลี้ยงให้หนูกลัวสังคม

           ลักษณะพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกอย่างประคบประหงม หรือพ่อแม่ช่วยเหลือมากเกินไป จนทำให้ลูกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองต่อการเรียนรู้หรือเผชิญโลกกว้าง หรือพ่อแม่ที่ให้ลูกอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น ให้ลูกอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปเจอคนนอกครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ เด็กจะขาดโอกาสพบเจอประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย ไม่คุ้นเคยกับการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ เด็กอยู่แต่กับผู้คนเดิม ๆ สิ่งแวดล้อมเดิม ๆ ที่จำเจ เมื่อต้องไปใช้ชีวิตหรือต้องเผชิญกับสังคมภายนอกครอบครัว จะทำให้เกิดความอึดอัดและวิตกกังวล

           การเลี้ยงดูแบบนี้ จะส่งผลให้ลูกขาดทักษะการแก้ปัญหา เพราะลูกไม่รู้ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นความวิตกกังวลและขาดความมั่นใจ

           นอกจากนี้ ยังมีพ่อแม่ที่จะตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์ลูกเป็นประจำ จนทำให้ลูกกลายเป็นคนวิตกกังวล และไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง

3.กรรมพันธุ์มีส่วนก่อโรค

           กรรมพันธุ์จากพ่อแม่ที่เป็นคบช่างวิตกกังวลสามารถถ่ายทอดความวิตกกังวลนั้นให้แก่ลูกได้เช่นกัน

อาการกลัวสังคม

           พ่อแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมของลูก โดยดูได้จากอาการหวาดกลัว ไม่สบายใจ สีหน้าท่าทางกังวล หรือหาทางหลีกเลี่ยง เวลาที่ลูกต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมที่แปลกใหม่ เช่น การพูดหน้าชั้นเรียน การย้ายโรงเรียนใหม่ หรือการต้องพบเจอกับคนแปลกหน้า ซึ่งสามารถแบ่งอาการเป็นระดับความรุนแรงได้ดังนี้

           รุนแรงน้อย เช่น มีความประหม่า เขินอาย มือสั่น ปากสั่น มีอาการกระวนกระวาย ไม่กล้าแสดงออก หรือกังวลต่อการแสดงออกของตัวเองต่อสถานการณ์ทางสังคม

           รุนแรงมาก เช่น ร้องไห้ ใจเต้น เหงื่อออก เวียนศีรษะ ปวดท้อง หรือต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ซึ่งเป็นอาการทางระบบประสาทที่ส่งผลไปถึงร่างกาย จนอาจทำให้ลูกต้องหยุดเรียน ปลีกตัวไปอยู่คนเดียว และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

รู้สาเหตุ รักษาเบื้องต้น

           พ่อแม่มีส่วนช่วยให้ลูกผ่านพ้นอาการเหล่านี้ไปได้ ด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ด้วยการคอยสังเกตอาการและสีหน้าของลูก ต่อสถานการณ์ที่ลูกต้องเผชิญว่าลูกมีความสุขหรือไม่ ด้วยการพูดให้กำลังใจลูก ไม่ตำหนิ หรือพูดเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น แต่พ่อแม่ควรพูดชมเชยลูก เมื่อลูกสามารถทำได้สำเร็จด้วยค่ะ

เมื่อต้องปรึกษาแพทย์

           หากพบว่าลูกมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือดูแลเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์ คุณหมอจะใช้วิธีบำบัดทางจิตใจและพฤติกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายการรักษาเพื่อลดความหวาดกลัว และวิตกกังวลต่อสถานการณ์ทางสังคมทีละน้อยโดยอาจใช้หรือไม่ใช้ยาร่วมด้วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยจำลองสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ เช่น การพูดหน้าชั้นเรียน การแสดงบนเวที การพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อน ฯลฯ เพื่อให้เด็กได้ค่อย ๆ ปรับตัว สร้างความคุ้นเคยกับสถานการณ์ที่เด็กหวาดกลัว เพื่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นทีละน้อย และค่อย ๆ กล้าใช้ความสามารถของตัวเองแสดงออกมา

           ด้วยวิธีการเหล่านี้ จะทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงความคิดหรือทัศนคติใหม่ จนสามารถเอาชนะความกลัวได้ แต่การรักษาอาจต้องใช้เวลานานซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคด้วย

           หากอาการยังไม่ดีขึ้น คุณหมอจะแนะนำให้ใช้ยาคลายความเครียดและกังวล แต่ยานี้ต้องใช้ในเด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน-1 ปี และต้องระมัดระวังอย่าใช้ยามากเกินไป โดยควรอยู่ในความดูแลของคุณหมอค่ะ

โรคนี้ป้องกันได้

           การเป็นโรคกลัวสังคม สาเหตุหนึ่ง มาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ดังนั้นวิธีป้องกันก็ต้องมาจากการเลี้ยงดูลูกนั่นเอง

           พ่อแม่ต้องหมั่นสำรวจตัวเอง ว่ามีความวิตกกังวลหรือเลี้ยงลูกด้วยความกังวลหรือไม่ และพยายามอย่าเอาความวิตกกังวลของตัวเองมาลงที่ตัวลูก เช่น ไม่แสดงสีหน้ากังวล แต่ควรพูดด้วยความมั่นใจ เพราะลูกจะรับรู้ความสึกเหล่านี้ได้

           ควรพาลูกไปเจอกับสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น พาไปพบญาติพี่น้องที่ไม่ค่อยได้เจอกัน พาลูกไปเล่นกับเด็กในวัยเดียวกัน ให้ลูกได้แสดงความสามารถที่ตัวเองถนัด เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา เพื่อที่ลูกจะได้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

           ควรพูดและแสดงความยินดี การได้รับคำชมเชยจากพ่อแม่ ถือว่าเป็นการเพิ่มพลังทางจิตใจต่อลูกได้ดีมาก เพราะลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ และคอยเป็นกำลังใจให้เสมอ เพราะเด็กที่กลัวสังคม จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถการเติมพลังทางจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ลูกก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยาก ๆ ได้สำเร็จค่ะ

           อย่าตำหนิลูก หากลูกยังทำได้ไม่ดีพอ ความกล้าหาญที่จะต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยจะต้องใช้เวลา ดังนั้น หากครั้งแรกลูกทำไม่สำเร็จ ก็ไม่ควรตำหนิลูก เพราะลูกจะหวาดกลัวจนไม่กล้าทำอะไร

           โรคกลัวสังคม สามารถป้องกันได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยเล็ก ๆ และรักษาให้ดีขึ้นได้ ตรงกันข้ามหากลูกไม่ได้รับการดูแลและใส่ใจจากพ่อแม่ ก็อาจโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหวาดกลัวสังคม วิตกกังวล ซึมเศร้า และมีปัญหาด้านบุคลิกภาพได้เช่นกัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 344 กันยายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อลูกเป็น...โรคกลัวสังคม อัปเดตล่าสุด 15 พฤศจิกายน 2554 เวลา 15:39:16 1,644 อ่าน
TOP
x close