จับลูกเขย่า ระวัง! SHAKEN BABY SYNDROME (รักลูก)
เขย่าลูกเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะด้วยความโมโห หรือเล่นรุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ Shaken Baby Syndrome ส่งผลต่อสมอง และอันตรายถึงชีวิต!
"เธอ...ช่วยทำยังไงก็ได้ให้ลูกเงียบเสียงทีเถอะ" คุณพ่อบ้านผู้กำลังคร่ำเคร่งกับกองงานตรงหน้าบ่นอย่างหงุดหงิด หลังจากทนฟังเสียงลูกน้อยวัยแบเบาะร้องไห้เสียงลั่นแบบไม่รู้หยุด
"เงียบ...เงียบได้แล้ว ร้องอยู่ได้ บอกให้...เงียบๆๆๆ" คุณแม่ตะเบ็งเสียงอย่างสุดกลั้น พร้อมสองมือยกลูกสาวตัวน้อยลอยเหนือเบาะรองนอน และแล้ว ก็เขย่าลูกอย่างสุดแรง!!! สิ่งที่ตามมาคือลูกสาวเงียบเสียงลงโดยพลัน! คุณแม่จึงหันกลับไปทำงานบ้านต่อ
3 ชั่วโมงก็แล้ว 4 ชั่วโมงก็แล้ว ลูกน้อยยังคงนอนนิ่ง ไม่ร้อง ไม่หิว "หรือว่าเราจะเขย่าตัวลูกแรงเกินไป คุณแม่เริ่มวิตก "แต่ไม่มั้ง ลูกคงร้องจนเพลียเลยหลับยาว" เธอปลอบใจตัวเองเพื่อลดความรู้สึกผิด ส่วนคนเป็นพ่อก็ยังวุ่นอยู่กับงานที่กองสุมดั่งไม่รับรู้ใด ๆ ในบ้าน
จนกระทั่งต้องอุ้มลูกไปโรงพยาบาล หลังจากที่คุณแม่หน้าซีดเผือดมาบอกว่าลูกรักนอนแน่นิ่งไปกว่า 6 ชั่วโมงแล้ว !
ทางโรงพยาบาลพบว่าเด็กมีอาการซึม ไม่สนองตอบต่อเสียง สนองตอบเล็กน้อยต่อความเจ็บ หายใจแค่ 14 ครั้งต่อนาที แถมชีพจรเต้นช้าเพียง 60 ครั้งต่อนาที
คุณหมอช่วยให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากและถุงลม แต่เด็กอาการไม่ดีขึ้น จึงใส่ท่อเพื่อช่วยในการหายใจ คุณหมอตรวจตาพบว่าที่จอรับภาพนั้น มีเลือดออก เมื่อตรวจสมองด้วยเครื่อง MRI ก็พบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง รวมทั้งระหว่างรอยแบ่งแยกของสมองด้วย
สิ่งที่น่าตกใจและน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ อีกเพียง 3 วันถัดมา...ลูกน้อยเสียชีวิต สาเหตุเนื่องจากเด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรงจนเลือดออกในสมองการจับตัวเด็กเขย่าแรง ๆ ด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ หรือด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องปวดร้าวใจไปชั่วชีวิตมานักต่อนักแล้ว
Shaken Baby Syndrome
ในทางการแพทย์เรียกการตายของเด็กจากกรณีข้างตันว่า Shaken Baby Syndrome หลายราย นอกจากโดนเขย่าอย่างรุนแรงแล้ว ยังโดนจับกระแทกกับที่นอนกับหมอนด้วย ซึ่งมีผลให้สมองได้รับแรงกระแทกเพิ่มขึ้นอีกถึง 50 เท่า โอกาสจะกลายเป็นเด็กพิการหรือเสียชีวิตก็ยิ่งมีมาก (บางรายแย่ยิ่งกว่านี้ นั่นคือโดนจับกระแทกกับของแข็ง เช่น ขอบเตียง เก้าอี้ ทำให้เด็กแบเบาะกระดูกแขน ขา ซี่โครง หรือกะโหลก ศีรษะแตก
เด็กที่โดนเขย่ารุนแรงหลาย ๆ ราย มักไม่เห็นร่องรอยการบาดเจ็บจากภายนอก ไม่ได้รีบส่งมารักษา ทั้งที่มีอาการของ Shaken Baby Syndrome จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง (เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome จำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต) ที่เหลือรอดก็มีโอกาสตาบอด เป็นลมชัก หรือถ้ารอดก็มักมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไป
อย่าลืมเชียวนะครับ ลูกวัยแบเบาะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง ศีรษะก็ยังพยุงเองไม่ได้ ที่สำคัญคือสมองของสิ่งมีชีวิตนั้นเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการทั้งร่างกายและจิตใจ สมองคือสิ่งมหัศจรรย์มีการพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เด็กยังอยู่ในท้องแม่ และพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังคลอดแล้ว แต่สมองของเด็กน้อยนั้นก็มีโอกาสได้รับการกระทบกระเทือนได้โดยง่าย เพราะศีรษะของเขามีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของลำตัว การพลัดตกหกล้ม ศีรษะจึงมักจะลงก่อน การกระเทือนถึงสมองจึงเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง
นอกจากการพลัดตก ก็มีกรณีที่หลาย ๆ ท่านอาจนึกไม่ถึง ก็คือ การที่เด็กแบเบาะโดนเขย่าอย่างรุนแรงจนตาบอด พิการ หรือเสียชีวิต หลายสิบปีก่อน
การปฐมพยาบาล
เราไม่ควรเขย่าลูกนะคะ แต่ถ้าพบเห็นเด็กถูกเขย่าหรือพ่อแม่เองที่เผลอทำเสียเอง สิ่งที่ควรทำก็คือตั้งสติให้เยือกเย็นลง และรีบแก้ไขดังนี้
1.พาเด็กไปรับการตรวจกับแพทย์ทันที
2.อาการเริ่มแรกของผลกระทบจากการเขย่าเด็กรุนแรง ก็คือ อาเจียน หรือหายใจลำบาก ซึ่งคล้ายอาการของโรคที่ไม่รุนแรง เช่น ภาวะร้องไห้ 3 เดือน (โคลิก) กินนมมากเกินไป หรือให้นมไม่ถูกวิธี ดังนั้น จะต้องบอกคุณหมอว่าเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องและรักษาทันเวลา เพราะอาการ Shaken Baby Syndrome อาจมีผลให้สมองเด็กได้รับอันตราย หรือเลือดออกในสมองเพราะการเขย่ารุนแรง ซึ่งต้องรีบทำการรักษา
มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อเด็ก จนอาจไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 สิงหาคม 2554