ป้องกัน 3 โรคร้ายอันตรายในเด็ก

แม่และเด็ก

ป้องกัน 3 โรคร้ายอันตรายในเด็ก
(รักลูก)

          อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบกันแล้วว่า โรคไอพีดี โรคปอดบวม และ โรคหูชั้นกลางอักเสบ นั้น เป็น 3 โรคร้ายที่คอยคุกคามคุณภาพชีวิตของลูกเราอยู่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี มีโอกาสเป็นโรคร้ายเหล่านี้ ดังนั้นต้องตระหนักถึงสาเหตุ และอันตรายของโรคเหล่านี้ เพื่อหาวิธีป้องกัน เพราะหากเชื้อร้ายลุกลามเข้ากระแสเลือด ลูกอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

จาก 2 เชื้อโรคร้าย สู่ 3 โรคอันตราย

 2 เชื้อโรคร้าย

          นิวโมคอคคัส และ เอ็นทีเอชไอ เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอ โดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเมื่อใดที่ร่างกายลูกอ่อนแอ เชื้อทั้ง 2 นี้ก็จะก่อให้เกิดโรคอันตราย คือ โรคหูชั้นกลางอักเสบ โรคไอพีดี และโรคปอดบวม การติดต่อง่ายมากโดยผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย คล้ายไข้หวัด เช่น เวลาไอหรือจาม เป็นเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศได้นานกว่าปกติ

 3 โรคอันตราย

          โรคหูชั้นกลางอักเสบ เป็นภัยเงียบที่อันตรายจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสและเอ็นทีเอชไอ เด็กจะติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งเชื้อโรคจะกระจายเข้าสู่ท่อยูสเตเชี่ยน ซึ่งเป็นท่อเล็ก ๆ ที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูก หากมีการอักเสบที่หูชั้นกลางเชื้อจะกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ เช่น จากหูไปสู่สมอง ทำให้เป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมองได้

          พบว่า 80% ของเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มีโอกาสเกิดโรคหูชั้นกลางอักเสบอย่างน้อย 1 ครั้ง และยิ่งเป็นเด็กเล็กที่ยังบอกไม่ได้พ่อแม่ยิ่งต้องระวัง เพราะหากปล่อยไว้จนมีอาการอักเสบจนบวมและปวดหูมาก อาจเกิดความพิการทางการได้ยิน ส่งผลต่อเนื่องต่อพัฒนาการทางภาษา การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตตามมา

          โรคไอพีดี เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงจากเชื้อนิวโมคอคคัสที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเด็กหรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคนี้ มีโอกาสเสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมอง

          โรคปอดบวม จากข้อมูลการประเมินขององค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟพบว่า ปอดบวมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมีเด็กเสียชีวิตสูงถึง 2 ล้านคนต่อปี เนื่องจากโรคปอดบวมทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากปอดอักเสบ จนเกิดภาวะน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอ ภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง และภาวะช็อก

ป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า

          ทั้ง 3 โรคนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ สิ่งสำคัญคือ ต้องพาลูกรับการวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที ปัจจุบันพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัส มีการดื้อยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษายากขึ้น แต่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไปนะคะ เพราะทั้ง 3 โรคอันตรายนี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการส่งเสริมให้ลูกมีภูมิต้านทานด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รักษาความสะอาด ดูแลข้าวของเครื่องใช้ ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนให้นม ก่อนสัมผัสอาหารและตัวลูก ปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดหรือแหล่งก่อโรค เช่นโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

          ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันแล้ว เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้ง โรคไอพีดี ปอดบวม และหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้เป็นวัคซีนเสริมค่ะ

สิ่งที่ต้องระวังเพราอาจทำให้เกิดความผิดปกติในทารก

           แอลกอฮอล์ การพบความผิดปกติในทารกที่คุณแม่ได้รับแอลกอฮอล์นั้นจะสัมพันธ์กับปริมาณที่ได้รับ และถ้าหยุดตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะไม่พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ควบคุม

           ยากันชัก จะมีความผิดปกติของหัวใจ ระบบปัสสาวะและใบหน้า รวมทั้งปากแหว่งได้

           ยาลดความดันโลหิต เช่น Angiotensin Converting Enzyme Inhibitors (ACEI) เป็นยาที่มีรายงานทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ในพัฒนาการของระบบการทำงานของไต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3

          ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น Aspirin มีรายงานความผิดปกติในสัตว์ทดลอง เช่น กะโหลกศีรษะ กระดูกสันหลัง ใบหน้า ระบบประสาทส่วนกลาง แต่ในคนยังสามารถใช้ได้

          Warfarin มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ เนื่องจากมีโมเลกุลเล็กผ่านรกได้ดี ส่งผลเสียต่อทารกจากการที่ได้รับยาตัวนี้อยู่ 2 ช่วง ได้แก่ ถ้าได้รับในช่วงสัปดาห์ที่ 6-9 จะมีผลทำให้เกิด Warfarin embryopathy จะมีลักษณะจมูกและใบหน้าส่วนกลางเล็ก

          แต่หากคุณแม่ได้รับในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 จะเกิดปัญหาที่สัมพันธ์กับการมีเลือดออกง่าย และตาบอดได้ รวมทั้งปัญญาอ่อนด้วย

          ยากลุ่มรักษาสิว เป็น isomer ของวิตามินเอ การที่มารดาได้รับในช่วงไตรมาสแรก มีผลทำให้ทารกพิการถึง 26 เท่า หรือแท้งไปก่อน สำหรับทารกที่รอดชีวิตมาจะมีความผิดปกติคล้ายกับกลุ่มยา Thalidomide แต่ถ้าหยุดยาก่อนตั้งครรภ์จะปลอดภัย เนื่องจากยาถูกขจัดออกจากร่างกายเร็วมาก โดยความผิดปกติจะเกิดกับอวัยวะต่าง ๆ เช่น ใบหน้าระบบประสาทส่วนกลาง หัวใจ และต่อมธัยมัสรวมทั้งปากแหว่งเพดานโหว่อีกด้วย

          ยาต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และยาลดไขมันในเลือด ก็เกิดความพิการแต่กำเนิดได้

          โดยสรุปคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรจะแจ้งและปรึกษาแพทย์ ทั้งที่เป็นสูติแพทย์และแพทย์ที่ดูแลโรคนั้น ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ เพื่อแพทย์ประเมินความเสี่ยงของยาต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่จะตั้งครรภ์ จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 สิงหาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้องกัน 3 โรคร้ายอันตรายในเด็ก อัปเดตล่าสุด 29 กันยายน 2554 เวลา 12:25:21 1,460 อ่าน
TOP
x close