ดนตรี เพื่อลูกน้อย (Mother & Care)
โดย : Orawan
นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 16 ทารกในครรภ์เริ่มพัฒนาประสาทสัมผัสทางด้านการฟัง เมื่อคลอดออกมาแล้วพัฒนาการด้านการฟังของลูกยังคงดำเนินต่อไป คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เสียงเพลงและเสียงดนตรี ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้ก้าวหน้าได้ค่ะ
ฉบับนี้ รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธิจิตต์ สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีสำหรับเด็ก ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเพลงสำหรับลูกน้อยในขวบปีแรกดังนี้ค่ะ
ดนตรีสำหรับทารก
ดนตรีและเสียงเพลงมีประโยชน์มหาศาลสำหรับพัฒนาการของลูกน้อย จากการวิจัยเสียงเพลงที่เหมาะสำหรับทารก คือ ดนตรีและเสียงที่มีระเบียบแบบแผน หมายถึง การใช้ท่วงทำนองจังหวะ เมโลดี้ ที่เป็นระเบียบ ฟังสบาย เช่น เพลงคลาสสิก โมสาร์ท เสียงดนตรีเป็นคลื่นเสียงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลกับสมองและอารมณ์โดยตรงของทารก ดังนั้นการเลือกดนตรีหรือเพลงที่มีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ จะส่งผลให้คลื่นสมองทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบช่วยสร้างสมาธิ ส่งผลต่อการพัฒนาคลื่นสมอง และระบบการคิดที่ดี ตรงกันข้ามเสียงเพลงที่มีลักษณะท่วงทำนองรุนแรง ไม่เป็นจังหวะ หรือเสียงเพลงที่มีเสียงร้องสูงต่ำ หรือตะโกนโหวกเหวกจะเป็นคลื่นเสียงที่ไม่เป็นระเบียบ
เพลงคลาสสิก ดีต่อทารก
การกระตุ้นโดยดนตรีและเสียงเพลงที่มีระเบียบแบบแผน อย่างเพลงคลาสสิกของโมสาร์ท มีผลให้สมองและการฟังของทารกมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเพลงคลาสสิก คือ เสียงเพลงผ่านการแต่งทำนอง และเมโลดี้อย่างพิถีพิถันและมีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ สร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสุขสงบ ส่งผลให้ทารกเกิดความพึงพอใจและพัฒนาความสามารถในการรับฟังของทารก
งานวิจัยเสียงดนตรีคลาสสิก
งานวิจัยเกี่ยวกับการฟังเพลงของโมสาร์ท โดยคุณหมอที่ศูนย์การแพทย์ Tel Aviv ในอิสราเอล เปิดให้เด็กทารก 20 คน ที่คลอดก่อนกำหนดและอยู่ในการดูแลของแพทย์ฟังวันละครั้ง ครั้งละ 30 นาที พบว่าหลังจากฟังดนตรีแล้ว เด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนดกลุ่มนั้น จะสงบลงและใช้พลังงานน้อยลงกว่าเด็กทารกกลุ่มที่ไม่ได้ฟังดนตรี นักวิจัยบอกว่า เมื่อเด็กทารกใช้พลังงานน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แคลอรี่ จำนวนมากในการเจริญเติบโต เด็กที่เกิดก่อนกำหนดเหล่านั้น จึงมีน้ำหนักตัวมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว
เด็กทารกที่ได้ฟังดนตรีเป็นประจำ จะรู้สึกสบายและช่วยลดความเครียดลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้เด็กทารกสงบลงได้ เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านได้รับการกระตุ้นไปด้วย
ประโยชน์ของเพลงคลาสสิก
เด็กทารกที่ได้ฟังดนตรีเป็นประจำ จะรู้สึกสบายและช่วยลดความเครียดลดอัตราการเต้นของหัวใจ และช่วยให้เด็กทารกสงบลงได้ เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอ่านได้รับการกระตุ้นไปด้วย ตัวโน้ตและจังหวะเคาะที่คล้ายกับการอ่านหนังสือแต่ละตัว ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้ายที่เกี่ยวกับเหตุผลและภาษา เสียงเพลงจังหวะสนุกๆ ที่ฟังแล้วชวนให้ขยับตัวไปมา แล้วการที่หนูน้อยโยกตัวไปมาตาม หรือเต้นตามจังหวะตามเพลงนั้นๆ ก็เป็นการออกกำลังกายอย่างดีที่ช่วยให้กล้ามเนื้อของเจ้าหนูแข็งแรง
หลังการเลือกเพลง สำหรับลูกน้อยวัยขวบปีแรก
เสียงดนตรีที่ลูกน้อยควรได้รับฟังนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับพัฒนาการด้านการฟังในแต่ละช่วงวัยดังนี้
1-3 เดือน
เลือกเพลงสบาย ๆ ช้า ๆ จังหวะคงที่ ซึ่งควรเป็นเสียงดนตรี บรรเลงที่มีความนุ่มนวล อ่อนโยน จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ
4-6 เดือน
เลือกเสียงเพลงทุ้ม ๆ นุ่มนวล ในช่วงวัยนี้ลูกสามารถเรียนรู้จังหวะได้มากขึ้น ตอบสนองต่อจังหวะและทำนอง เมื่อได้ยินจังหวะที่ชื่นชอบจะแสดงความพึงพอใจ เช่น ผงกศีรษะ หรือโน้มตัวลงตอบสนองต่อเสียงดนตรี
7-9 เดือน
เลือกเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานสลับกับเพลงสบาย ๆ ช้า ๆ ที่เปิดในช่วงแรก เพราะช่วงนี้ลูกจะมีพัฒนาการทางร่างกายเพิ่มขึ้น เช่น เริ่มส่ายหัวขยับแขนและมือตามจังหวะเพลง เริ่มจำทำนองเพลงได้ ซึ่งต้องสังเกตอารมณ์และความต้องการของลูกด้วย
10-12 เดือน
เลือกเพลงที่เป็นคำคล้องจองที่มีเนื้อร้องสั้น ๆ ง่าย ๆ ในวัยนี้ลูกมีพัฒนาการทางภาษามากขึ้น และเริ่มออกเสียงเป็นพยางค์ได้บ้างแล้ว ลูกจะพยายามส่งเสียงเลียนแบบเสียงที่ได้ยินและแสดงท่าทางต่าง ๆ ตามเพลงได้มากขึ้น
ข้อควรระวัง ในการเปิดเพลงให้ลูกฟัง
หลีกเลี่ยงการเปิดเพลงที่เสียงดังเกินไป เพราะประสาทการรับเสียงของลูกจะถูกทำลาย
ทารกในช่วงวัน 1-3 เดือนนั้น ยังไม่ควรเปิดเพลงที่มีเสียงร้อง เพราะเสียงร้องอาจรบกวนสมาธิและการนอน
Music tip
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ถนัดฟังเพลงคลาสสิก สามารถเลือกใช้เพลงที่มีจังหวะและทำนองเบา ๆ ฟังสบาย ๆ ได้ เช่น เพลงพื้นบ้าน ไทยเดิม หรือเพลงสากล เพลงกล่อมเด็กก็ล้วนมีประโยชน์ ดังนั้นควรให้ลูกน้อยได้รับฟังดนตรีหลากหลายประเภท แล้วสังเกตว่าลูกชอบฟังดนตรีแบบไหนมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจร้องเพลงนั้นให้ฟังบ่อย ๆ หรือจะเปลี่ยนเนื้อเพลงไปบ้างเพื่อให้ลูกรู้สึกแปลกใหม่อยู่เสมอ นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังให้ลูกมีเสียงดนตรีในหัวใจอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.75 มีนาคม 2554