รับมืออย่างไร...กับความขี้หวงของเจ้าตัวน้อย

ของเล่น

รับมืออย่างไร...กับความขี้หวงของเจ้าตัวน้อย
(แม่บ้าน)
เพื่อลูกรัก เรื่อง : จันทร์ชื่น

          คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัย 3-5 ขวบ หรือวัยกำลังเรียนชั้นอนุบาล อาจเคยเห็นลูกๆ ทะเลาะกันเพื่อแย่งของเล่น เนื่องจากอาการขี้หวงของลูกที่ไม่ยอมแบ่งของให้คนอื่นเล่น โดยเฉพาะกับพี่น้องที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย พฤติกรรมดังกล่าวอาจสร้างความหนักใจให้คุณพ่อ คุณแม่ไม่ใช่น้อย

          พฤติกรรมนี้แพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์ จิตเวชเด็กและวัยรุ่น ได้กล่าวไว้ว่า อาการหวงของของเด็กเป็นภาวะทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กวัยดังกล่าว ซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัยที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน เด็กวัยนี้ไม่สามารถแยกแยะ ระหว่างความเป็นเจ้าของถาวร และความเป็นเจ้าของชั่วคราวออกได้ชัดเจน คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมของลูก ๆ ที่ไม่อยากแบ่งของเล่นให้พี่หรือน้อง เพราะเข้าใจว่าของที่ให้ไปจะไม่ได้กลับคืนมาอีก ดังนั้นพฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นเรื่องปกติ

          อาการขี้หวง อาจมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนหวงของมากขึ้น หนึ่งในปัจจัยดังกล่าวคือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ควรให้ความสำคัญ และควรฝึกลูกในเรื่องของการเคารพสิทธิส่วนบุคคล จะสามารถลดพฤติกรรมการหวงของและเป็นการเรียนรู้การเข้าสังคมด้วย ช่วยให้เด็กหวงของน้อยกว่าครอบครัว ที่พ่อแม่ไม่ฝึกในเรื่องนี้ให้กับลูก เช่น พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูก 2 คนมักจะบอกให้พี่ต้องเสียสละของเล่นให้น้องทั้งๆ ที่เป็นของของพี่ ทำให้คนพี่รู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์ คนพี่จึงกลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย เวลาเพื่อนยืมของเล่นอาจจะเกิดอาการหวงมาก เพราะตัวเองถูกน้องที่บ้านละเมิดสิทธิ์เป็นประจำ ซึ่งเหตุการณ์ดังตัวอย่างอาจเกิดความรุนแรงมากขึ้น และอาจสร้างความกังวลใจให้กับพ่อแม่ แต่นี่ถือว่าเป็นการพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของลูก หน้าที่ของพ่อแม่ในตอนนี้คือ ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมของลูกให้เข้าที่เข้าทาง โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำวิธีไว้ดังนี้

          ขั้นแรกต้องเริ่มต้นที่คุณพ่อคุณแม่ ก่อนที่จะฝึกลูกได้คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นเตือนตนเอง รวมทั้งบอกผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในบ้านให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกัน ว่าไม่ควรดุเมื่อลูกแสดงความเป็นเจ้าขาวเจ้าของ เพราะนอกจากเด็กจะไม่เข้าใจแล้วยังจะทำให้เด็กเสียขวัญเปล่า ๆ และอย่าบังคับให้เด็กแบ่งของให้ใคร เพราะในวัยนี้ไม่ชอบแบ่งสิ่งของให้ใครง่าย ๆ สิ่งสำคัญ พ่อแม่ควรมีวิธีการบอกให้ลูกรู้ถึงขอบเขต ความเป็นเจ้าของสิ่งของของตัวเอง

สัญลักษณ์อย่างนี้ของใครเอ่ย

          การทำสัญลักษณ์เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะแสดงให้ลูกเห็น และแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนที่เป็นของเขาจริง ๆ ที่เขาจะแสดงอาการหวงได้ และสิ่งไหนไม่ใช่ ลองหาสติ๊กเกอร์สวย ๆ มาให้ลูกเลือกว่า ลูกจะใช้รูปอะไรแทนตัวเขาดี ถ้าลูกเลือกว่า ลูกจะใช้รูปไหน ก็ควรใช้เฉพาะรูปนั้นและพยายามเลือกที่เป็นแบบเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสนในภายหลัง และแปะลงบนของเล่น ของใช้ส่วนตัวของลูก เท่านี้ลูกก็จะเข้าใจได้ทันทีว่าสิ่งไหนเป็นของใคร

นี่เป็นของของแม่นะ

          ลูกอาจยังทึกทักเอาของของคนอื่นไปเป็นของตนอีก อย่างนี้ต้องลองเอาคำพูดของลูกนี่ล่ะมาปรามลูก คุณต้องบอกลูกอย่างชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่ของลูก ของที่เป็นของลูกจะมีสติ๊กเกอร์ เมื่อลูกได้มีส่วนร่วมในการสัมผัสของของคนอื่น เขาก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ได้ว่า ของบางสิ่งน่ะเราแบ่งกันได้ การแบ่งไม่ได้ทำให้ของสิ่งนั้นเสียหาย

จะหยิบไปบอกหนูก่อนนะ

          ถ้าคุณแม่หรือคุณพ่อมีความจำเป็นต้องหยิบเอาสิ่งของสุดหวงของลูกไป ไม่ว่าจะนำไปเก็บหรือทำความสะอาดจะต้องบอกลูกก่อนทุกครั้ง เพราะการหยิบเอาไปเฉย ๆ โดยไม่บอกล่วงหน้าอาจทำให้ลูกเข้าใจว่าคุณแย่งของรักของเขาไป แต่ถ้าลูกยังไม่ยอมให้ก็ควรขอดี ๆ อีกสักรอบ พร้อมให้เหตุผลไปด้วย เช่น "พี่ตุ๊กตาของหนูมอมแมมแล้ว แม่พาพี่ตุ๊กตาไปอาบน้ำก่อนนะคะ" การทำเช่นนี้ นอกจากช่วยป้องกันศึกชิงของได้แล้ว ยังช่วยให้ลูกค้นพบว่าเวลาที่เขาต้องการของของคนอื่นบ้าง ควรจะต้องทำอย่างไร ถึงจะได้สิ่งนั้นมาโดยไม่ต้องเสียแรงร้องไห้ให้เหนื่อย

อย่างนี้ต้องแบ่งกันเล่นแล้วสิ

          นอกจากนี้ลูกต้องเรียนรู้ด้วยว่า มีของบางอย่างที่ต้องใช้ร่วมกัน หรือของในที่สาธารณะ เช่น ชิงช้า กระดานลื่น ในสนามเด็กเล่น ต้องแบ่งกันใช้ และต้องรู้จักที่จะรอคอยบ้าง ระหว่างที่รอลูกอาจไม่ยอมอยู่เฉย ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นให้ลูกได้ทำระหว่างรอ อาจชวนพูดคุย เล่นเกมไปพลาง ๆ ถ้าลูกไม่ยอมรอ ร้องดิ้นอาละวาด คงต้องบอกให้เขาเลือกว่าจะรอเพื่อที่จะได้เล่น หรือว่าจะอาละวาดต่อก็ได้ และควรบอกลูกด้วยว่าการอาละวาดจะต้องอดได้เล่นของเล่น การทำเช่นนี้ลูกจะได้เรียนรู้การแบ่งปัน รู้จักการรอคอย และรู้ว่าบางอย่างไม่จำเป็นต้องเป็นของของเขาคนเดียว

          แม้ว่าอาการ "ขี้หวง" ในเด็กจะเรื่องเล็ก ที่ไม่คิดว่าจะส่งผลอะไรกับลูก แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจและละเลย ก็อาจส่งผลด้านลบต่อพฤติกรรมของลูกในตอนโตได้ เช่น มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นที่พ่อแม่ต้องสอนและปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยเฉาพะกรณีพี่กับน้อง รวมไปถึงในเรื่องของการให้ ซึ่งกิจกรรมตรงนี้สามารถลดนิสัยขี้หวงให้เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งปัน และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แทนได้ไม่น้อย...




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 506 กรกฎาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมืออย่างไร...กับความขี้หวงของเจ้าตัวน้อย อัปเดตล่าสุด 31 สิงหาคม 2554 เวลา 14:34:10 4,033 อ่าน
TOP
x close