x close

ลูกเสี่ยงภัยทุกวัน จาก...สารเคมี !

ของเล่นเด็ก

ลูกเสี่ยงภัยทุกวัน ๆ จาก...สารเคมี !
(รักลูก)

อันตรายจากสารเคมี อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

           น่าเสียใจไม่น้อยกับผลสำรวจไอคิวและอีคิวของเด็กไทยล่าสุดที่พบว่า มีค่าเฉลี่ยลดลง จริงอยู่ที่อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยหนึ่งที่น่าพึงสังวรณ์เป็นอย่างยิ่งก็คือ...เด็ก ๆ ของเรานั้นตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ ก็ล้วนคลุกคลีกับของเล่นที่มีสารตะกั่วที่สูงเกินมาตรฐานจนน่าตกใจ สารตะกั่ว (รวมทั้งสารปนเปื้อนอื่นๆ) จึงตกค้างสะสม กระทั่งส่งผลให้พัฒนาการทางสมองลดลง

           จากการสุ่มตรวจของเล่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กทม. 4 ศูนย์ จำนวนของเล่น 23 ชุด ของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย และป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี (ศพด.) แล้วนำมาวิจัยก็พบว่ามีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 17 ส่วนของเล่นตามหน้าโรงเรียนที่มีจำหน่ายราคาถูก ตรวจจำนวน 26 ชุด จากหน้าโรงเรียน 7 แห่ง พบว่ามีสารตะกั่ว 4 ชุด คิดเป็นร้อยละ 15 นอกจากนี้ยังพบว่าสีเคลือบของเล่นก็มีสารตะกั่วปนเปื้อนเช่นกัน

           ตัวเลขสารตะกั่วที่สูงลิ่วจนน่ากลัวขนาดนี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจ หมั่นหาความรู้ และในเบื้องต้นจะต้องเลือกของเล่นที่มีตรามาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก. รับรองเสมอ รวมทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบจะอยู่เฉยไม่ได้อีกแล้ว จะต้องเข้มกว่านี้ให้มากๆ (นี่ยังไม่ได้พูดถึงบรรดาของเล่น ที่นอกจากจะมีสารปนเปื้อนอันตรายแล้ว ยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างไม่น่าให้อภัย เช่น ของเล่นประเภทที่มีทั้งสายรัด รูลอด และขอบที่แหลมคม ซึ่งพร้อมจะนำความบาดเจ็บมาสู่เด็กได้เสมอ)

สารเคมี...อันตรายในบ้าน

 ขวดนม

           ข่าวเรื่องขวดนมอันตรายแม้ว่าเคยฮือฮามาพักหนึ่ง ทำให้คุณพ่อคุณแม่เอาใจใส่ในการเลือกซื้อมาให้ลูกใช้ แต่เมื่อข่าวซาลง การเอาใจใส่ก็ซาไปด้วย จึงขอย้ำเตือนว่าให้เลือกซื้อขวดนมที่ระบุว่า ไร้สารบีพีเอ หรือบิสฟินอลเอ (ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตเป็นโพลีคาร์บอเนต วัตถุดิบที่เคยใช้ผลิตขวดนม ขวดน้ำดื่ม ของเล่นรวมถึงอุปกรณ์กีฬา อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบผลิตเรซิ่นสังเคราะห์ สำหรับเคลือบกระป๋องอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ด้วย)

           เพราะมีการทดสอบพบว่าสารบีพีเอนี้จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโปร่งใส ทนความร้อน แต่หากเข้าสู่ร่างกายบ่อย ๆ เข้า ก็จะสะสมและส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน ทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น ทำให้เด็กผู้หญิงโตเป็นสาวเร็วกว่าปกติ เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน มะเร็ง การใช้ขวดนมที่มีสารบีพีเอเป็นส่วนประกอบ จึงเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารลงไปในนม หรือในน้ำ สารพิษก็จะเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

           จริง ๆ แล้วมิใช่มีแต่ต่างประเทศที่ระแวดระวังพิษภัยของบีพีเอ ในประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง "ขวดนม" ไม่น้อย เพราะกระทรวงสาธารณสุขก็เคยมีประกาศว่า ขวดนมที่ทำด้วยพลาสติกนั้น จะต้องเป็นชนิดโพลีคาร์บอเนตที่ทนความร้อน ใช้ต้มได้ มีความทนทานต่อการใช้งานได้หลายครั้ง และต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ ส่วนการใช้พลาสติกชนิดอื่น หรือวัสดุอื่น ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

           นอกจากนี้ แม้คุณพ่อคุณแม่จะเลือกขวดนมที่ไร้สารอันตรายที่ว่าแล้ว บรรดาน้ำยาทำความสะอาดขวดนม ก็จะต้องเลือกน้ำยาที่ไม่เป็นกรดหรือด่างแรง และทุกครั้งที่ใช้น้ำยาก็ต้องล้างออกให้สะอาดหมดจด จากนั้นก็ตากให้แห้งและต้มฆ่าเชื้อ ซึ่งขวดนมนั้นมักจะเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนสี เมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปลี่ยนใหม่ครับ ไม่ควรจะใช้อีกต่อไป

ขวดน้ำพลาสติก

           ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งครับที่น่าห่วงใย เพราะมีหลายบ้านนำไปใส่น้ำแทนขวดน้ำในชีวิตประจำวัน ทั้งที่ขวดน้ำพลาสติกพวกนี้ ควรใช้กันเพียงครั้งเดียว เพราะมันทำจากโพลีเอททิลีน พลาสติกที่ใช้จะบางและไม่ทนต่อทั้งความร้อนและความเย็นแบบแช่แข็ง หลายๆ คนนำมันมาใช้ซ้ำ หรือไว้ประจำในรถที่จอดตากแดดจนร้อนระอุ เอาไปแช่ในช่องน้ำแข็ง กระทั่งขวดพลาสติกที่ว่านี่ แตกร้าว โดยหารู้ไม่ว่า มันอุดมด้วยเชื้อแบคทีเรียที่จะแทรกซึมเข้าไปปนเปื้อนกับน้ำดื่มได้

กล่องโฟมใส่อาหาร

           แม้วันนี้ใคร ๆ ก็รู้ว่ามันเป็นภาชนะที่มีภัย จนมีการนำถุงร้อน ใบตองรองชั้นล่างแล้วใส่ของร้อน แต่ส่วนด้านบนก็ไม่มีอะไรป้องกันเลย ทั้งที่ด้านบนจะได้รับความร้อนเท่ากับด้านล่าง หลายครั้งที่ฝาด้านในบุ๋มลง ซึ่งนั่นก็คือสารสไตรีนได้ละลายลงในอาหารเรียบร้อยแล้ว! (สไตรีน เป็นสารต้นกำเนิดของโพลิสไตรีน เป็นพลาสติกที่นำมาใช้ทำกล่องโฟม) สารชื่อเรียกยากนี้เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ นานวันเข้ามันก็จะทำลายสมอง ไขสันหลัง นอกจากนั้นมันยังเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มภาวะโลกร้อน เพราะกระบวนผลิตก็ต้องใช้สารซีเอฟซี ซึ่งเป็นสารทำลายโอโซน เพิ่มภาวะโลกร้อน ในโลกนี้มีหลายประเทศห้ามใช้โฟมบรรจุอาหารอย่างเด็ดขาดแล้ว

           ความมักง่ายของผู้ใหญ่ (บางคน) ที่นำความตายมาสู่เด็ก ๆ ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งแม้จะตกเป็นข่าวพาดหัว แต่แล้วก็มักเกิดเหตุร้ายนี้ซ้ำอีกเสมอ โดยเฉพาะหากนำน้ำยากัดกระจกเทใส่ขวดน้ำดื่ม น้ำมันเบนซินเหลือก็ใส่ขวดน้ำอัดลม หรือน้ำยาขัดเครื่องเงินใส่แก้วน้ำพลาสติก ซึ่งหลายบ้านเมื่อใช้สารเคมีเหล่านี้แล้วเหลือ มักหาภาชนะขวดมาเก็บบรรจุ ขวดที่หาง่ายในบ้านมักเป็นขวดเดิมที่เคยใช้ใส่น้ำดื่มกิน เมื่อใส่แล้วก็ไม่ปิดฉลาก หรือทำสัญลักษณ์เตือน ไม่เก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย แต่กลับนำไปวางในที่ที่เด็กหยิบได้ หรือที่แย่ยิ่งกว่านั้น ก็คือนำไปวางไว้ในที่ที่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นของดื่มกินได้ เช่น วางบนโต๊ะอาหาร วางในตู้เย็น

           สารเคมีเหล่านี้หากเผลอกินเข้าไป จะมีอันตรายต่อร่างกายมากน้อยเพียงใดขึ้นกับชนิดของสารพิษนั้น (เช่น น้ำยาล้างพื้นอาจเป็นด่างชนิดรุนแรง เผลอกลืนเพียงเล็กน้อยอาจกัดปาก กัดหลอดอาหารถึงขั้นตีบตันต้องผ่าตัดเอาลำไส้มาไว้แทนหลอดอาหารได้)

           ฉะนั้น อย่าเทสารพิษทั้งหลายลงในขวด หรือภาชนะอื่น ๆ เช่น ใส่ในถ้วย ในจาน ในชาม ในขวด อย่านำสารพิษทั้งหลายไว้ใกล้ ๆ อาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไว้บนโต๊ะอาหาร ไว้ในตู้กับข้าว และอย่าเก็บวัตถุเคมี ยา และสารพิษต่าง ๆ ไว้ในที่ที่เด็กมองเห็นและหยิบจับได้ ผู้ใหญ่หลายท่านมักประมาท โดยคิดง่าย ๆ เพียงว่า "เอาไว้ตรงนี้ก่อนแหละ เดี๋ยวค่อยเก็บเข้าที่!!" ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ได้ทำให้เด็กเสียชีวิตมาหลายต่อหลายรายแล้ว

           เมื่อสงสัยหรือพบเด็กได้รับสารพิษ อย่าพยายามให้เด็กกินอะไร รีบโทรปรึกษาศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ที่สายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 1367 หรือ 0 2201 1083 ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดีเปิดบริการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด และตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้เชี่ยวชาญเภสัชพิษวิทยา และมีฐานข้อมูลของสารพิษที่ใช้ทั่วประเทศ พ่อแม่ควรเก็บขวดหรือภาชนะสารพิษนั้นไว้ให้แพทย์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการค้นหาข้อมูล และให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง เพื่อลดอันตรายและความรุนแรงที่เกิดขึ้น


 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับที่ 342 เดือน กรกฎาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกเสี่ยงภัยทุกวัน จาก...สารเคมี ! อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2554 เวลา 16:13:35 1,579 อ่าน
TOP