ลูกอ่านได้แน่ ถ้าคุณแม่ปลูกฝังเร็ว (Mother & Care)
Time to read ซานาดู
หนูชอบดูปากมาม๊าที่เคลื่อนที่ ขยับแต่ละทีก็มีเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ดังออกมา ถึงหนูจะไม่รู้เรื่องที่เล่า แต่หนูก็พยายามจะพ่นน้ำลายทำเสียงอยู่นะ ถึงจะพูดไม่เป็น อ่านไม่ออก แต่ก็เชื่อว่าอีกหน่อยจะต้องอ่านได้แน่ ๆ
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไม่มีคำว่าเร็วเกินไป คุณแม่เริ่มฝึกสร้างนิสัยให้ลูกรักการอ่านได้ตั้งแต่วัยแบเบาะ โดยรับหน้าที่เป็นนักสร้างหนอนหนังสือตัวน้อย เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ลูกรู้สึกคุ้นเคยกับการอ่าน
วิธีแรก คือ สร้างความรู้สึกดีให้เกิดขึ้นกับการอ่านก่อน
วิธีที่ 2 คือ ทำความเข้าใจพัฒนาการตามวัย (ว่าลูกอยากเล่นมากกว่าจะนั่งตั้งใจฟังสิ่งที่แม่อ่านค่ะ)
วิธีที่ 3 คือ กระตุ้นให้เหมาะกับวัย ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวจะกลายเป็นบังคับ ยัดเยียด ทำให้ลูกไม่อยากอ่าน
กระตุ้นให้เหมาะกับวัย 0-1 ปี
พัฒนาการของเด็กวัย 6 เดือนแรก คือ จะยังไม่รู้จักภาษา พูดไม่เป็นคำ ได้แต่ส่งเสียง อ้อแอ้ สมาธิในการฟังไม่ยาวเท่ากับการเล่น จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่น ได้ทำความรู้จักกับหนังสือ พร้อมกับทำหนังสือให้เป็นเสมือนของเล่นชิ้นโปรด ถ้าลูกแทะ ขยำหนังสือเสียจนยับยู่ยี่ อย่าได้ดุและอย่าได้กลัวหนังสือนิทานพังยับไปกับมือลูก ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสจับต้องด้วยตัวเอง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัส เพราะวัยนี้มีจุดมุ่งหมาย เพียงสร้างให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือเท่านั้นค่ะ
เลือกหนังสือที่เหมาะกับวัย
ภาพ หนังสือที่จะนำมาส่งเสริมลูก จะต้องอาศัยสื่อด้วยภาพที่เข้าใจง่าย ชัดเจน เลือกเล่มที่มีขนาดใหญ่ จะได้เห็นชัดๆ ภาพต้องมีสีสันสดใส มีลายเส้นชัดเจน บวกกับเพิ่มน้ำเสียงตื่นเต้นเร้าใจขณะเล่า เพื่อกระตุ้นให้ลูกสนใจฟัง ซึ่งนอกจากจะช่วยฝึกทักษะการฟังแล้วยังทำให้ลูกรู้สึกอยากพูด อยากโต้ตอบ ทำให้พูดได้เร็ว
เนื้อเรื่อง จะต้องไม่มีตัวหนังสือเยอะจนตาลาย ตัวหนังสือต้องน้อย หรือไม่มีตัวหนังสือเลย ถ้ามีเนื้อหาต้องเป็นประโยคสั้น ๆ ควรเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องด้วยภาพ สื่อความหมายชัด ทำให้พ่อแม่เล่าเรื่องไปตามภาพได้
ภาษา ใช้ภาษาสั้น ถูกต้อง กระชับ เข้าใจง่าย ถ้าเป็นคำคล้องจอง ต้องให้แต่ละคำออกเสียงสั้น ๆ ง่าย ๆ ขณะเล่าให้เพิ่มเสียงสูง-ต่ำ เป็นจังหวะจะโคน เป็นคำที่ใกล้ตัว ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ และกระตุ้นให้ลูกพูดสื่อสารได้เร็วค่ะ
รูปเล่ม ทนทานต่อการใช้งาน ไม่มีมุมแหลมคม ขนาดเล่มไม่หนาเกินไป หากเป็นนิทานที่ใช้เล่นเป็นของเล่นได้ด้วย จะต้องทำจากวัสดุปลอดสารพิษ เมื่อนำเข้าปากแล้วจะต้องปลอดภัย ไม่เป็นอันตราย
สร้างคุณหนูนักอ่าน
Tips : อุ้มลูกนั่งตักแม่ เปิดหนังสือไปพร้อมกัน ลูกจะมองไปตามนิ้วที่ไล่ไปตามตัวอักษรและภาพ ขณะเปิดให้ลูกดูคำและดูภาพ ก็ให้เล่านิทานท่องบทกลอนหรือพูดทำเสียงตัวละคร เล่านิทานด้วยจังหวะที่พอดี ไม่ช้า ไม่เร็วเกินไปออกเสียงพูดให้ชัด เพื่อให้ลูกจดจำ และเลียนเสียงตามได้ง่าย และถูกต้องเหล่านี้จะทำให้ลูกได้เห็นทั้งตัวอักษร พร้อมกับได้ยินเสียงจะช่วยให้อ่านหนังสือได้เร็วขึ้น และกระตุ้นให้ลูกพูดได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.77 พฤษภาคม 2554