30 วัน “เล่น” คุณภาพกับลูกเบบี๋ (Mother & Care)
Highlight วิกาวี
ตั้งใจแล้วว่า ของเล่นชิ้นแรก ตัวแทนสื่อความรัก ความรู้สึกดีที่สุด คือพ่อกับแม่ เพราะของเล่นชิ้นใหญ่ ราคาสูงแค่ไหนคงไม่มีความหมายมากพอเท่าอ้อมกอด รอยยิ้ม เสียงน่าฟังของพ่อกับแม่แน่นอน จากนั้น เรื่องราว ความเป็นไปเกี่ยวกับเรื่องเล่นของลูก ก็ถูกบันทึกไว้ในไดอารี่เล่มนี้
วันแรก
เป็นแม่มือใหม่นี่มา หลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับลูก ยังจับทิศทางไม่ถูกอย่างเรื่องทำให้นมลูก ที่มีทั้งท่านั่ง และท่านอน แม่เลือกให้นมลูกด้วย ท่านั่ง ปรากฏว่า ถูกใจนอนกินนมโดยดี ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แม่เลยมั่นใจ ใช้วิธีนี้ให้นม แล้วก็นอนคุยเป็นเพื่อนเล่น คลายความเหงาอยู่ข้าง ๆ ลูก
วันที่ 2
โชคดีของแม่ ที่มีน้ำนมมากพอให้ลูกกินอิ่ม แบบไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินทอง หรือต้องให้กังวลใจกับเรื่องนมแม่ และยังมั่นใจอีกด้วย ว่าจะให้ลูกกินนมแม่ได้นานถึง 6 เดือน แม่ยังรู้ด้วยว่า ช่วงเวลาสนุก มีความสุข (เรื่องกิน) คือตอนลูกอยู่ในอ้อมกอดดูดนมนี่แหละ เพราะทั้งน้ำเสียง หน้าตา กลิ่นหอม ๆ จากตัวแม่ ดึงดูดเรียกรอยยิ้มจากลูกได้น่ะสิจ๊ะ
วันที่ 3
แม่ยังไม่เข้าใจเรื่องการนอนของลูกเท่าไหร่ ต้องคอยสอบถามคุณหมอ ก็ได้ความว่าเด็กช่วง 2-3 สัปดาห์แรก อาจนอนไม่เป็นเวลา โดยเฉลี่ยจะนอน 20 ชั่วโมงต่อวัน ที่เหลือก็คือช่วงเวลาดูดนม (ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง) ที่สำคัญ กิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพ สมองน้อย ๆ ลูกของแม่ ก็คืองานประจำเรื่องเล่น
วันที่ 4
ช่วงสาย ๆ รู้สึกว่า คัดเต้านม (เจ็บมาก) แม่เลยต้องปั๊มนมเก็บไว้ ไม่ยอมให้เสียเปล่า จัดการป้อนให้ลูก ทีแรกดูลูกจะปฏิเสธ เมินหน้าหนี ไม่คุ้นเคยเท่ากับหัวนมแม่ ก็เลยต้องพักวางไม่ฝืนต่อไป แต่ชวนคุย ชวนเล่นกันไปแล้วกลับมาป้อนอีกที ลูกก็รับกับการป้อนแทนการดูดนมแม่ได้
วันที่ 5
จัดเตรียมเรื่องลูกเสร็จ ก็พอมีเวลาจะดูแลตัวเอง ได้ชิมฝีมือแกงเลียงคุณยาย ตบท้ายด้วยน้าอุ่นอีก 1 แก้ว (ตามสูตรเรียกน้ำนม) แล้วก็พักผ่อนงีบหลับ ลูกแม่หลับนาน ตื่นมาก็หม่ำนมอีก แล้วเราสองคน ก็ต่อด้วยกิจกรรมผ่อนคลาย นวดแขน นวดขา เปิดเพลงเบา ๆ ให้ฟังไปด้วย ก็ดูลูกจะชอบใจ ตอบรับด้วยดี ไม่ร้องโยเยหลับต่อได้อีกรอบ
วันที่ 6
ลูกแม่ไม่ใช่แค่กินกับนอนเท่านั้นหรอก แม่สังเกตว่า ลูกมีความสุข สนุกกับการจ้องมองสิ่งของตรงหน้าเป็นพิเศษ จ้องมองโมบายสีสวยสดใส ที่กวัดแกว่งเคลื่อนไหวไปมา (ในระยะ 1 ฟุต) ขอบอกว่า งานนี้ฝีมือ พ่อหนูเลยนะ ที่ตั้งใจมีส่วนร่วม ช่วยแขวนไว้ปลายเตียงให้หนูมอง
วันที่ 7
ครบ 1 อาทิตย์แล้ว ที่แม่เฝ้าดูหนูเล่น ทำให้แม่พบว่าของเล่นดี มีประโยชน์ ที่เรียกรอยยิ้ม ความสุขของลูก และทุกคนในครอบครัว ก็คือพ่อกับแม่นี่แหละ ซ้ำยังทำให้แม่สนุก มีความสุข เรียนรู้ไปกับลูกด้วย รู้ว่าลูกแม่เข้าใจเรื่องเล่น ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 (จริง ๆ นะ)
วันที่ 8
ตอนเปลี่ยนผ้าอ้อม หนูส่งเสียงร้องงอแง แม่สงสัยว่าลูกคงหงุดหงิด ไม่พอใจกับเรื่องเฉอะแฉะที่ก้น ก็เลยต้องส่งสัญญาณบอก ตอนแรกไม่รู้จะทำไง เลยใช้เรื่องเล่นนี่แหละเป็นตัวช่วย ส่งเสียง ฮัมเพลง ทำหน้าตาตลกๆ ให้ดู ก็รู้สึกว่า เบี่ยงเบนความสนใจทำให้ลูกแม่หายงอแงได้
วันที่ 9
จากประสบการณ์ตรงของคุณแม่หลาย ๆ เสียงแนะนำว่า หลังลูกกินนมเสร็จ ต้องจับลูกเรอ (เพื่อให้ลูกแม่ไม่แหวะนม) จากนั้นแม่ก็พาออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ หน้าบ้าน อุ้มเดินไปเดินมา ชี้ชวนดูโน้นดูนี่ สนุกอยู่กับบรรยากาศ สิ่งต่าง ๆ รอบตัวสักพักก็สังเกตว่า ลูกคงติดใจกับบรรยากาศนอกบ้าน เหมือนจะไม่ยอมกลับเข้าบ้านเอาง่าย ๆ แล้วล่ะสิ
วันที่ 10
แค่อยากรู้ ว่าลูกโต้ตอบ ได้ยินเสียงดีแค่ไหน เลยเล่นเกม "จ๊ะเอ๋ เบบี๋" หันซ้าย หันขวาไปมา สบตากับหนูสักทีหนึ่ง ผลทดสอบพบว่า ลูกหันหาเสียง ทำท่าอยากรู้ว่าเสียงแม่อยู่ไหน แล้วลูกแม่ก็หัวเราะ ชอบอกชอบใจ สนุกกับทั้งแม่และลูกเลย
วันที่ 11
ก่อนพาลูกเข้านอน แม่หากิจกรรม (เบา ๆ) ชวนลูกเล่น ชวนลูกคุย ฟังเพลงเพราะ ๆ เหมือนเคย แต่สังเกตว่า ลูกแม่ไม่มีทีท่าที่จะหลับ เลยสำรวจตรวจตราดูรอบ ๆ ว่า มีอะไรผิดปกติหรือเปล่า ที่แท้เป็นเพราะแสงไฟ บรรยากาศในห้องนอนนี่เองที่สว่างจ้าเกินไป ทำให้ไม่ยอมหลับ
วันที่ 12
วันนี้มีญาติ ๆ คนรู้จัก มาทักทายลูก (แม่เลยดูยุ่ง ๆ ไปบ้าง) มีของฝากติดไม้ติดมือ เป็นตุ๊กตาหมีนุ่มนิ่มสีสวยมาฝากลูกจ้ะ ว่าแล้วแม่ก็ใช้ตุ๊กตาหมี ชวนลูกเล่นกับแม่ ให้ลูกใช้นิ้วมือสัมผัส แตะ ๆ จับ ๆ ตุ๊กตา ก็ดึงดูดความสนใจ ทำให้ลูกยิ้ม (ไม่ยอมหุบ) เชียวแหละ
วันที่ 13
ยอมรับว่า ครั้งแรกกับการอาบน้ำลูก แม่กล้า ๆ กลัว ๆ เหมือนกันนะ แต่พอได้ทำทุกวัน ก็รู้เคล็ดลับว่า ไม่ควรกังวล เกร็งจนเกินไป เดี๋ยวสักพัก ก็เก่งเอง ถึงขั้นทำให้ลูกติดใจกับการอาบน้ำ เพราะแม่รู้ว่าหนูชอบมองของลอยน้ำในอ่าง ที่แม่ชวนเล่น
วันที่ 14
แม่ใช้เวลาว่างช่วงลูกหลับ ง่วนอยู่กับการตัด ๆ ติด ๆ ประดิษฐ์เป็นภาพ ที่เห็นได้ชัดสีสัน สดใส สร้างจุดสนใจไม่ให้ลูกเบื่อ จนเสร็จสรรพเป็นหนังสือนิทานฝีมือแม่ แต่เป็นของเล่นลูก โดยมีคุณยายช่วยคิดเพลงประกอบให้ด้วย
วันที่ 15
เกมสนุก ถูกใจพ่อลูก เห็นจะเป็นเกม "จั๊กจี๋ที่พุง" กระมัง เพราะพ่อลูกเล่นกันทีไร ก็สนุกหัวเราะทุกที แต่แม่เตือนพ่อเป็นระยะเหมือนกันว่า อย่าเล่นเพลินจนเกินเหตุไปกดรัด ทับหน้าท้อง (ตอนที่อิ่มใหม่ ๆ) เดี๋ยวลูกจะแหวะนมได้
วันที่ 16
ใครว่านิ้วเล็ก ๆ ของลูกสนุกไม่ได้ (แม่ขอเถียง) แม้นิ้วลูกจะยังกำแน่น เหมือนไม่อยากคลายออก แต่พอแม่ค่อย ๆ เขี่ยฝ่ามือและปลายนิ้ว ลูกก็ใช้นิ้วมือกำปลายนิ้วของแม่มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยอัตโนมัติ กลายเป็นเรื่องสนุกของแม่และลูกตั้งแต่นั้นมา
วันที่ 17
ผ่านมาครึ่งเดือนแล้ว แม่มีโอกาสพูดคุย แชร์ ประสบการณ์กับคุณแม่ (รุ่นพี่) เกี่ยวกับเรื่องลูก (กิน นอน ขับถ่าย และเล่น) ก็รู้สึกว่า ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างเกี่ยวกับลูก ที่แม่ยังต้องเรียนรู้ มีข้อมูลไว้เป็นทุน ก็เพื่อจะได้นำประยุกต์ ปรับใช้ เข้ากับการเลี้ยงลูกของแม่นั่นเอง
วันที่ 18
จริงอย่างใครหลายคนบอกว่า หนังสือมีส่วนช่วยผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดี สำคัญต่อสมองน้อย ๆ ของลูก เพราะพอแม่เริ่มเล่า เปิดภาพให้ดู หนูก็ตั้งฟัง สนใจมองภาพ ทำท่าเลียนแบบ ขยับปากตามแม่ ออกอาการชอบใจกับนิทานที่แม่เล่า แถมส่งยิ้มเป็นกำลังใจให้รู้ว่าลูกอยากให้แม่อ่านทุกวันแน่ ๆ เลย
วันที่ 19
เมื่อวานลูกได้ของเล่นชิ้นใหม่ ที่เพื่อนพ่อฝากมาให้ หลังจากนั้นแม่จัดการทำความสะอาดเช็ดให้เรียบร้อย หยิบกำไลมาใส่ที่ข้อเท้า พอลูกขยับขา ก็มีเสียงกระดิ่งดังกรุ๊งกริ๊ง ๆ ชวนให้ลูกสนใจ น่ารักดี แต่วันนี้ที่ขาลูก มีรอยเป็นทางยาวเหมือนถูกขีดข่วน ก็ลองดูว่าเกิดจากอะไร ก็พบว่ามาจากข้อต่อของกำไล ที่แหลมคมทำให้ขีดข่วนผิวบาง ๆ ของลูก แม่กับพ่อเลยตกลงกัน ว่าคงต้องถอดออก เก็บไว้ก่อนดีกว่า
วันที่ 20
แม่จัดโปรแกรมท่องเที่ยว นัดกับพ่อของลูกแล้วว่า อาทิตย์นี้หากพ่อมีเวลาสะดวก น่าจะพาแม่กับลูกไปเที่ยวนอกบ้าน ตามสวนสาธารณะบ้าง เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่ ๆ ชวนลูกชมนก ดูต้นไม้ รับอากาศบริสุทธิ์ ให้ลูกแม่สนุกกับธรรมชาติ
วันที่ 21
มีเหตุจำเป็นบางประการ ที่แม่ต้องออกนอกบ้านห่างจากลูก (1 วัน) แม่จึงจัดเตรียมเรื่องกิน เรื่องนอน หาผู้ช่วยดูแลลูกแทนไว้ก่อน และยังย้ำ เรื่องเล่น เรื่องสำคัญที่ทำให้ลูกอารมณ์ดี ไม่โยเย บอกผ่านผู้ช่วยไปด้วย
วันที่ 22
ยิ่งลูกโตขึ้น แม่ก็ต้องหากิจกรรมที่หลากหลายตามไปด้วย อย่างวันนี้ เครื่องมือสร้างความสนุกเป็นใบหน้าของแม่ ที่ยื่นให้ลูกเอื้อมมือมาคว้า แตะ ๆ จับ ๆ (ตา จมูก ปาก) ก็รู้สึกว่าลูกชอบใจเพลิดเพลินกับการใช้สายตาและมือ ทำงานประสานกันด้วยดี
วันที่ 23
ถึงลูกจะยังออกเสียง ตอบกลับไม่ได้แต่พอใครเอ่ยชื่อ เรียก "น้อง...จ๋า" ลูกก็ทำท่ากระดุ๊ก กระดิ๊ก ทำตา แอ๊บแบ๊ว ส่งยิ้มหวาน ๆ ตอบรับกับเสียง แม่แปลความหมายได้ว่า ลูกคงต้องชอบเล่นเกมเรียกชื่อ (ลูก) แน่ ๆ
วันที่ 24
อยู่ ๆ ลูกก็ร้องแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย กำมือ เกร็งเท้า ผิดสังเกต ที่แท้ก็เป็นเพราะลูกปวดท้อง (ท้องอืด ท้องเฟ้อ) แต่พอใช้มหาหิงคุ์ ยาแผนโบราณทารอบ ๆ ที่ท้อง จากนั้นอาการที่เกิดขึ้นก็หายไป กลับมาร่าเริง (ซ่า) เล่นกับแม่ได้
วันที่ 25
จากแต่ก่อน กลัวว่าลูกจะหล่น ไม่อยากอุ้มไปไหนมาไหนเท่าไหร่ ตอนนี้ (เหรอ) อุ้มไปเดินเล่น อุ้มไปอาบน้ำ อุ้มลูกไปโชว์ตัว ขอบอกว่า สบายมาก ถึงขนาดอุ้มเล่นโยกเยก โยกไปโยกมา กล่อมลูกนอนหลับปุ๋ยไปเลย
วันที่ 26
หลังอาบน้ำ ทำความสะอาด ใส่เสื้อผ้า จนลูกแม่หอมไปทั้งตัวแล้ว แม่ก็นึกสนุก ชวนลูกเล่น "ปูไต่" ใช้มือไต่ตามแขนตามตัว ดูว่าลูกแม่จะตอบโต้อย่างไร ที่ไหนได้กลับขยับแขน ขยับขา ชอบอกชอบใจ ยิ้มร่าซะงั้น
วันที่ 27
นอกจากพ่อกับแม่ที่เป็นเพื่อนเล่นใกล้ตัวลูกแล้ว ของเล่นที่ทำเพื่อเด็ก ก็มีมากมาย มานำเสนอคนเป็นแม่ ทั้งราคา โปรโมชั่นจูงใจ ทำให้ตัดสินใจซื้อ แต่แม่คิด ๆ ดูแล้ว หากจะเลือกของให้ลูกสักชิ้น ก็ต้องมั่นใจได้ในคุณภาพ ความปลอดภัย และราคา เหมาะสมกับวัยของลูกแม่
วันที่ 28
แม่นับวันนับคืนรอก็ว่าได้ เพื่ออยากเห็นลูกโตไว ๆ จะได้มีกิจกรรม เรื่องสนุกได้มากกว่านี้ เพราะแม่วางแผน หาเรื่องสนุก เตรียมรอลูกไว้ล่วงหน้าแล้วน่ะสิ
วันที่ 29
มือน้อย ๆ ของลูกซุกซน ขยันคว้าโน่น หยิบนี่ที่อยู่ใกล้ แม่จึงต้องดูแลเบาะ ที่นอน สิ่งรอบข้างตัวลูก ระวังไม่ให้เผลอหยิบของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเข้าปาก จนเกิดเป็นเรื่องได้ แม่ก็เลยหาเกมมานำเสนอให้ลูกบริหารนิ้วมือจะดีกว่า โดยใช้ของเล่นนุ่มนิ่ม สีสดใส ชิ้นใหญ่จับถนัดมือ ชวนเล่นด้วยกัน
วันที่ 30
แล้วลูกแม่ก็อายุครบ 1 เดือน พ่อกับแม่และสมาชิกในบ้านลงคะแนนว่า ลูกเริ่มปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ได้แล้ว แม้ว่าระบบกลไกในร่างกาย รวมทั้งการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ยังทำงานได้ไม่เก่งนัก แต่หากถามเรื่องเล่น งานถนัดของลูก เอาไปเลยเต็มร้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก