ทารกที่กินนมแม่ควรขับถ่ายกี่ครั้ง
- ทารกแรกเกิด - จะขับถ่ายวันละ 8-10 ครั้ง เนื่องจากระบบการย่อยอาหารยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้ขับถ่ายออกมาหลังจากกินนมแม่แทบจะทันที
- ทารกอายุ 2-3 สัปดาห์ - จะขับถ่ายวันละ 3-4 ครั้ง เมื่อระบบย่อยอาหารเริ่มทำงานได้ดีขึ้น
- ทารกอายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป - อาจจะขับถ่ายวันละ 1 ครั้ง หรืออาจจะยาวนานถึง 2-3 วันครั้งก็ได้ นั่นเป็นเพราะน้ำนมแม่มีความสมดุลทางโภชนาการที่สมบูรณ์แบบสำหรับลูก ทารกสามารถดึงสารอาหารไปใช้ได้หมดจนไม่เกิดของเสียในร่างกาย ทำให้ไม่ถ่ายบ่อยนั่นเอง
แต่ทารกที่กินนมผสมอาจจะขับถ่ายวันละ 1-4 ครั้ง หรืออาจจะวันเว้นวัน ซึ่งโดยส่วนมากทารกที่กินนมผสมหรืออาหารเสริมมักจะมีอุจจาระแข็งและกลิ่นแรงกว่าทารกที่กินนมแม่
ลูกไม่ถ่ายทำยังไงดี
สำหรับทารกที่กินนมแม่ อาการท้องผูกเป็นเรื่องที่พบได้ยาก แต่การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 1 ครั้งต่อวันในช่วงสัปดาห์แรก ๆ อาจหมายความว่าทารกอาจจะกินนมแม่ได้ไม่เต็มที่ ไม่อิ่ม ก็เลยไม่มีอะไรให้ถ่ายออกมา ส่วนลูกน้อยที่อายุ 6 สัปดาห์ - 3 เดือน อาจจะขับถ่ายน้อยลงอย่างที่บอกไปข้างต้น ซึ่งหากลูกไม่ขับถ่ายเกิน 3 วัน ควรรีบพาไปหาคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของท้องผูกได้
โดยวิธีการสังเกตว่าลูกท้องผูกหรือไม่เบื้องต้นคือ ดูอารมณ์ของเขาว่ายังร่าเริงอยู่หรือไม่ หรือดูอึดอัด งอแงหรือเปล่า โดยเฉพาะช่วงหลังจากกินนม หากเขาดูไม่สบายตัว ไม่อยากอาหาร และอุจจาระเริ่มแข็ง นั่นเป็นสัญญาณของอาการท้องผูก
วิธีดูแลให้ลูกขับถ่ายง่ายขึ้น
- กระตุ้นด้วยการดื่มน้ำ - หากลูกอายุมากกว่า 6 เดือน สามารถให้น้ำ 2-3 ออนซ์ได้ แต่หากลูกอายุต่ำกว่านั้น ลองปรึกษาแพทย์ว่าสามารถให้เขาจิบน้ำแอปเปิลหรือน้ำลูกแพร์ในปริมาณเล็กน้อย (1 ออนซ์) ได้หรือไม่ เนื่องจากน้ำผลไม้เหล่านี้มีน้ำตาลธรรมชาติที่เรียกว่าซอร์บิทอล ซึ่งเป็นยาระบาย อาจช่วยให้อุจจาระของทารกอ่อนลงได้ ส่วนลูก ๆ ที่เริ่มกินอาหารแข็งได้แล้วสามารถให้เขาดื่มน้ำลูกพรุนได้
- ปรับอาหาร - หากทารกในวัยที่เริ่มกินอาหารแข็งได้แล้ว ลองให้อาหารที่มีกากใยสูงเพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น เช่น ลูกพรุนบด มันเทศ หรือผลไม้ โดยให้ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันลูกน้อยท้องอืด
- ออกกำลังกายเบา ๆ - โดยอาจให้พวกเขาขยับแข้งขยับขาเพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานตามปกติ จะได้ขับถ่ายง่ายขึ้น
- การนวดและการอาบน้ำอุ่น - ลองนวดท้องและร่างกายของทารกดู เนื่องจากจะช่วยให้พวกเขาผ่อนคลายและระบบการย่อยอาหารมีการเคลื่อนไหว รวมถึงการอาบน้ำอุ่นก็ช่วยกระตุ้นเรื่องการขับถ่ายได้เช่นกัน
ลูกไม่ถ่าย เมื่อไหร่ควรพาไปหาหมอ
- ลูกไม่ถ่ายนานเกิน 3 วัน
- อุจจาระของลูกแข็ง หรือเป็นเม็ด ๆ หรือมีความหนืด
- อุจจาระเหลว เป็นเมือก ซึ่งอาจเป็นอาการท้องเสีย
- อุจจาระมีสีแดงหรือดำ ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีเลือดออก
- อุจจาระมีสีขาวหรือสีนวล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเกี่ยวกับตับ