6 วิธีสอนลูกให้คิดบวก (Mother & Care )
Growing up Tanny
เมื่อถามพ่อแม่ว่า คาดหวังอนาคตลูกไว้อย่างไร เราคงได้คำตอบที่หลากหลาย แต่ทุกคำตอบก็น่าจะอยู่บนเส้นทางเดียวกัน คือ เก่ง ดี มีความสุข เราก็อยากจะต่อท้ายให้อีกหนึ่งคำคือ "คิดเป็น" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง คิดเลขได้ ภาษาดี วิทยาศาสตร์คล่อง แต่หมายถึง ความคิดในเชิงการใช้ชีวิต การรู้จักอยู่ในสังคม โลกปัจจุบัน ซึ่งเราจะอยู่อย่างเป็นสุข ยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงแทนจะทุกวินาทีให้ได้ดีนั้น ต้องอาศัยการคิดเชิงบวก
ผลลัพธ์ของเด็กที่คิดบวกไม่เป็น
โดยปกติผลลัพธ์ต้องอยู่ในส่วนสรุป แต่ต้องนำมาขึ้นต้น ก็เพราะผลลัพธ์ที่เกิดจากการคิดไม่เป็น ร้ายแรงเกินกว่าจะให้เป็นบทสรุป
เด็กที่คิดบวกไม่ได้ คิดไม่เป็น สามารถทำร้ายตัวเองถึงขั้นฆ่าตัวตายได้ จริงอยู่ว่าตอนนี้ลูกเราอาจจะแค่ 2 ขวบ ไม่มีทางมีความคิดแบบนั้นแน่นอน แต่อย่าลืมทักษะความคิดเป็นสิ่งที่สะสม พัฒนามาตั้งแต่วัยเด็ก
จิตแพทย์กล่าวว่า ก่อนที่เด็กวัยรุ่นหรือก่อนวัยรุ่นตัดสินใจทำร้ายตัวเอง ต้องเกิดความเครียดขึ้นมาก่อน ซึ่งความจริงแล้วความเครียดระดับต่ำ ๆ อาจจะเป็นผลดีในการผลักดันการทำงานให้ประสบความสำเร็จบางอย่างได้ดี แต่ถ้าเครียดมาก ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดข้อ ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ หัวใจทำงานไม่ปกติ ภูมิต้านทานต่ำลง เจ็บป่วยง่าย พฤติกรรมเปลี่ยนไป จากเด็กร่าเริงก็กลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ผลการเรียนตก ไม่มีสมาธิ ปฏิสัมพันกับคนรอบข้างน้อยลง
ไม่เพียงแต่เด็กโตเท่านั้นที่เครียดเป็น มีการประเมินว่า เด็กแรกเกิดก็สามารถเครียดเป็นแล้วเช่นกัน คำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกที่ทุกคนต้องพูดถึง คือ การให้ความอบอุ่น ให้ความรัก และการโอบกอดลูกมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพราะลูกจะเกิดความไว้วางใจ ผ่อนคลาย ปลอดภัย ก็จะไม่เกิดความเครียดขึ้นนั่นเอง
เริ่มปลูกฝังความคิดบวกให้ลูกตั้งแต่วันนี้
1.เข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก
ข้อนี้สำคัญมาก ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่อยากส่งเสริมลูกเรื่องใดก็ตาม ถ้าเข้าใจพัฒนาการและลักษณะเฉพาะตัวของลูก ก็จะเข้าใจพฤติกรรมและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงกับลูกได้ ถ้าลูกมีการทำผิด ก็ใช้วิธีการทำผิดก็ใช้วิธีการลงโทษออย่างสร้างสรรค์ เช่น ใช้วิธี time out หักคะแนนความดี หรืองดของบางอย่างที่ลูกควรจะได้ เป็นต้น
2.เน้นให้ลูกยอมรับความแตกต่าง และสิ่งที่เกิดขึ้น
ก็คือสอนในเรื่องธรรมชาติของการมีชีวิตอยู่ เมื่อลูกรู้จักยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นไม่มีอคติ เมื่อต้องพบเจอกับสิ่งที่ผิดหวัง ความคิดในด้านลบไม่เกิดขึ้น ก็ไม่เป็นตัวขัดขวางของความคิดสร้างสรรค์
3.สอนให้ลูกรู้จักแสดงความคิดเห็น
วัยนี้เป็นวัยช่างซัก ช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเด็กช่างสงสัยให้มากที่สุดจนกลายเป็นนิสัย และไม่จำเป็นที่พ่อแม่ต้องตอบคำถามลูกได้หมดทุกข้อ เราสามารถตอบว่าไม่รู้ แล้วมาช่วยกันหาคำตอบได้ เปิดโอกาสให้ลูกหาคำตอบเอง โดยมีพ่อแม่คอยถามนำส่งเสริม ช่วยเหลือ และที่สำคัญต้องเปิดใจกับคำถาม คำตอบ และเหตุผลของลูก เพราะคำตอบไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว แต่พ่อแม่ก็ต้องสอดแทรกความคิดเห็นของตัวเองด้วย เหมือนกัน หรืออธิบายในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักคุณธรรม ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้ลูกน้อยรู้จักคิด และค้นหาคำตอบในชีวิตของตัวเองต่อไป ผลพลอยได้ที่เพิ่มขึ้นคือ ลูกจะรู้จักแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยใช้เหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ และรู้จักรับฟังเหตุผลของคนอื่นเช่นกัน
4.ไม่ปิดกั้นจินตนาการลูก
เริ่มง่าย ๆ จากการอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง เมื่อมีความคิดอะไรแปลก ๆ พ่อแม่ต้องรับฟัง และพูดคุยกับลูก สอนให้ลูกรักการอ่าน เมื่อลูกต้องการรู้สิ่งใด ก็สอนการค้นหาความรู้ไม่ว่าจะอ่านจากหนังสือ ออกไปเห็นของจริง ถามไถ่จากผู้อื่น เป็นการสะสมข้อมูลในสมองลูก เมื่อโตขึ้นมาอีกนิด ต้องสอดแทรกการคิดวิเคราะห์ ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่ความคิดที่ตกผลึกต่อไป
5.อย่าปกป้องลูกมากจนเกินไป
ต้องให้ลูกได้เผชิญปัญหาเองบ้างบางครั้ง อย่ากลัวว่าจะเห็นลูกผิดหวัง หรือล้มเหลว เพราะบทเรียนเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อลูกโตขึ้น แต่ที่สำคัญพ่อแม่ต้องคอยอยู่ใกล้ ๆ ให้คำแนะนำ สิ่งที่สำคัญคือ ให้ลูกเชื่อมั่นในตนเอง
6.เพิ่มแรงจูงใจ
การสอนให้ลูกรู้จักสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอ งให้เรียนรู้ถึงความรู้สึกดี ๆ เมื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จ เช่น ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ให้ลูกที่ไม่ยากเกินไป (ตามวัย) เมื่อลูกทำสำเร็จก็ได้รับกอดจากพ่อ จูจุ๊บจากแม่ แล้วก็ค่อย ๆ ตั้งเป้าหมายใหม่ จะทำให้ลูกรู้สึกดีถึงสิ่งที่ได้ทำไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.16 No.186 เมษายน 2554