รับมือ 7 อาการลูกป่วยบ่อยยามเดินทาง

แม่และเด็ก

รับมือ 7 อาการลูกป่วยบ่อยยามเดินทาง
(modernmom)

          การออกไปนอกบ้านโดยมีลูกเล็กอาจจะไม่ใช่เรื่องสนุก ถ้าเจออุปสรรคระหว่างทางอย่างอาการเจ็บป่วยของลูกเล็ก เพื่อไม่ให้การพาเจ้าตัวเล็กเที่ยวนอกบ้านหมดสนุก แถมยังเป็นตัวขัดขวางโอกาสทองของการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย หากลูกเจ็บป่วยระหว่างทางแล้วล่ะก็คุณแม่สามารถรับมือได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ

เด็กขี้เมา เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน

          หากเป็นครั้งแรกที่ลูกจะได้โดยสารด้วยยานพาหนะเหล่านี้ ลูกอาจเกิดอาการวิงเวียน แล้วตามมาด้วยการอาเจียนได้ ลำดับแรกเลือกตำแหน่งที่นั่ง ควรเลือกตำแหน่งที่ลูกสามารถมองออกไปนอกยานพาหนะได้ง่าย เช่น ที่ริมหน้าต่าง หรือที่นั่งด้านหน้าสุด เพื่อระหว่างการเดินทางจะได้ให้ลูกมองไกล ๆ ไปที่ท้องฟ้า หรือวิวด้านนอกได้ และโดยมาก ที่นั่งด้านหน้ามักจะสั่นสะเทือนน้อยกว่าที่นั่งด้านหลังรถ

          ระหว่างเดินทางอาจจะชวนลูกคุยหรือทำกิจกรรมที่เกิดความสนุกสนาน เช่น ร้องเพลง งดกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาเพ่งมอง หรือไม่ก็ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนไปเลย หากลูกเคยมีอาการเมามากมาก่อน และวิธีดังกล่าวยังใช้ไม่ได้ผล หรือยากินแก้มา (Dimenhydrinate โดยเด็ก 2-5 ปี กินครั้งละ 12.5-25 มิลลิกรัม เด็ก 6-12 ปี กินครั้งละ 25-50 มิลลิกรัม) หรือจะใช้กลุ่มยาลดน้ำมูก ที่มีฤทธิ์ง่วงนอนให้ลูกกินในขนาดที่กินตามปกติก็ได้ค่ะ

ผื่นแพ้ ผื่นผด ผื่นคัน

          เป็นสิ่งที่เจอได้บ่อยเช่นกันค่ะ เวลาที่ลูกมีผื่นขึ้นคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่า ลูกมีอาการผิดปกติอื่น เช่น ตาบวม รอบปากบวม หายใจหอบ เหนื่อย ปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีอาการร่วมด้วยควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลใกล้ๆ เพราะเป็นอาการประเภทผื่นแพ้ ซึ่งมีโอกาสช็อกได้ค่ะ แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าว คุณคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นก่อนได้ เช่น ใช้น้ำเย็นประคบลดอาการคัน ทายาลดอาการผดผื่น (Calamine Lotion หรือ Triamcinolone) กินยาลดอาการคันหรืออาการผดผื่น ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับยาลดน้ำมูก เช่น คลอเฟินิรามิน (Chlorpheniramine) ขนาด 0.1 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อครั้ง

ท้องผูก

          เด็กหลายคนอาจจะมีอาการท้องผูกท้องอืดได้ เพราะช่วงเดินทางท่องเที่ยวจะจำกัดด้วยเวลาที่ต้องเร่งรีบ หรือไม่สะดวกที่จะเข้าห้องน้ำเวลาปวดเด็ก ๆ จึงต้องกลั้นเอาไว้ แล้วตามมาด้วยอาการท้องผูกได้ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกเข้าห้องน้ำเหมือนตอนอยู่บ้าน หรือต้องเตรียมตัวลูก เช่น ตื่นเช้าเข้าห้องน้ำก่อนออกเดินทาง หรือเช้าห้องน้ำช่วงที่เสร็จสิ้นการเดินทางในวันนั้น ระหว่างนี้ควรให้ลูกได้กินอาหารที่มีกากใยมาก ๆ หากลูกยังไม่ยอมถ่ายร่วมกับท้องอืดอาจใช้ยาระบายอ่อน ๆ สำหรับเด็กได้ค่ะ

ท้องเสียและอาเจียน

          ระหว่างการเดินทางบางครั้งลูกอาจกินอาหารผิดสำแดงได้ โดยมากอาการเหล่านี้จะเป็นหนัก 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะทุเลาลง คุณแม่ไม่ควรใช้ยาระงับการถ่าย เพราะจะทำให้สิ่งที่เป็นพิษยังอยู่ในร่างกายลูกนานขึ้น แต่สามารถใช้ยาลดอาการอาเจียนได้

          หากลูกมีอาการท้องเสียหรืออาเจียนจากอาหารเป็นพิษ สิ่งที่คุณแม่ต้องระวังคือภาวะขาดน้ำ ดังนั้นในช่วงที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน จึงควรให้ลูกกินน้ำหรือของเหลวกลับเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอ โดยสามารถซื้อผงเกลือแร่สำเร็จรูปชงให้ลูกกินทดแทน หากหลัง 24 ชั่วโมงไปแล้ว ลูกยังถ่ายหรืออาเจียนเยอะอยู่ หรือถ่ายมีมูกเลือดปน ปัสสาวะไม่ออกภายใน 6 ชั่วโมง ดูซึมลง หายใจหอบ ตาโหลลึกมากกว่าปกติ หรือกินน้ำเกลือแร่ไม่ได้เลย ควรรีบพาไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

ตัวร้อนหรือเป็นหวัด

          อาการนี้จะคาดเดาหรือป้องกันยาก หากสภาพร่างกายลูกแข็งแรงดีอยู่ก่อน ก็อาจจะไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าลูกมีแนวโน้มป่วยง่ายอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเตรียมตัวเยอะหน่อย พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปรวมกลุ่มกับคนอื่นในที่แออัด หาหมวกหรือร่มให้ลูกใส่หากลูกต้องอยู่กลางแดดนาน ๆ ถ้าลูกเริ่มมีอาการตัวร้อน ควรหาที่พักระบายอากาศดี แล้วเช็ดตัวลดความร้อนให้ลูกดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ ถ้ายังไม่ดีขึ้นสามารถใช้ยาลดไข้ Paracetamol ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ช่วงนี้ควรลดการท่องเที่ยวลง และให้พักผ่อนเยอะขึ้น ถ้าลูกมีน้ำมูกมาก สามารถใช้ลูกยางดูดน้ำมูกหรือไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดโพรงจมูกให้ลูกเบา ๆ ได้ ถ้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ก็ควรไปพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

ปวดหูระหว่างนั่งเครื่องบิน

          หากลูกยังเล็กมากไม่สามารถบอกคุณพ่อคุณแม่ได้ว่ารู้สึกอย่างไร ในช่วงจังหวะเครื่องขึ้นและลง จะมีการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบตัว คุณพ่อคุณแม่ควรใช้นิ้วมืออุดรูหูลูกให้สนิทก่อน เมื่อเครื่องได้ระดับคงที่แล้ว จึงค่อย ๆ ปล่อยมือออก หากลูกไม่รู้สึกดีขึ้นให้ลูกกินน้ำหรือกินนม เพื่อจะได้มีการขยับหู ให้ปรับระดับความดันระหว่างด้านในและด้านนอกหู หากลูกเป็นเด็กโตที่สามารถทำตามคำสั่งได้ อาจใช้การกินน้ำหรือให้ขยับกรามไปมาซ้าย-ขวา หรือใช้วิธีบีบจมูกแล้วให้ลูกทำท่าเป่าลูกโป่งแรง ๆ ก็จะช่วยปรับความดันด้านในและด้านนอกหูให้เท่ากันได้ค่ะ

แมลงสัตว์กัดต่อย

          เมื่อโดนสัตว์กัดต่อย สิ่งที่ต้องระวังคือลูกแพ้สัตว์นั้นหรือไม่ ถ้าแพ้ลูกจะมีอาการเหมือนคนเป็นผื่นแพ้ค่ะ ต้องไปโรงพยาบาลทันที ระหว่างไปสามารถให้ลูกกินยาแก้แพ้ก่อนได้ หากลูกโดนมด แมลง ผึ้งต่อต่อย สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบเพื่อลดการปวดบวม แล้วกินยาแก้ปวดหรือยาแก้แพ้ตามอาการค่ะ แต่ถ้าไปทะเลโดนแมงกะพรุน ลูกจะมีอาการปวดแสบ มีผื่นบวมแดงบริเวณที่โดน ให้ล้างพิษด้วยน้ำทะเลมาก ๆ แล้วทาโลชั่น หรือใช้ใบผักบุ้งทะเลขยี้ผสมน้ำส้มสายชูมาประคบบริเวณที่เป็นได้ค่ะ

          มีความรู้ให้พร้อมรับมือความเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้ว ก็ขอให้ทุกครอบครัวเดนิทางท่องเที่ยวกันอย่างสนุกสนานนะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.186 เมษายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือ 7 อาการลูกป่วยบ่อยยามเดินทาง อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2554 เวลา 15:18:02 1,418 อ่าน
TOP
x close