
โรคเด็กเล็กคงหนีไม่พ้นโรคหวัดและตามมาด้วยน้ำมูก หากเป็นในทารกเสี่ยงอุดกั้นทางเดินหายใจ แล้วจะจัดการน้ำมูกให้ลูกน้อยอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร MODERNMOM พร้อมวิธีกำจัดน้ำมูกแบบเบื้องต้นและปลอดภัยต่อลูกน้อยมาแนะนำกันค่ะ
เมื่อทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็กมีน้ำมูกจะไม่สามารถสั่งน้ำมูกหรือบ้วนเสมหะเองได้ จึงอาจแห้งกรังติดบริเวณจมูกหรือไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะเหนียวเคลือบทางเดินหายใจส่วนบน และเมื่อนอนหลับกล้ามเนื้อที่ลิ้นและโคนลิ้นจะคลายตัวลงไปด้วย ลิ้นจึงตกลงไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลูกน้อยหายใจไม่สะดวก มีเสียงดังครืดคราดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูดนมหรืออากาศเย็นในช่วงกลางคืน ซึ่งคุณหมอไม่แนะนำให้ยาลดน้ำมูกนะคะ เพราะจะทำให้น้ำมูกหรือเสมหะเหนียวมากและหายใจลำบากยิ่งกว่าเดิม
คุณแม่สามารถให้การดูแลเบื้องต้นโดยการจัดท่าให้นอนตะแคง หรือนอนคว่ำ ระวังอย่าให้คอพับนะคะ หากน้ำมูกมีปริมาณมากจนมีเสียงดังครืดคราดหรือหายใจลำบาก ให้ใช้ไฟฉายส่องดูว่ารูจมูกมีน้ำมูกอุดตันหรือไม่ ถ้ามีอยู่ตื้น ๆ อาจใช้สำลีพันปลายไม้ขนาดเล็ก ๆ จุ่มน้ำเกลือทางการแพทย์ (มีจำหน่ายในร้านขายยา) เล็กน้อย เพื่อเช็ดน้ำมูกที่เหนียวเป็นก้อน ๆ หรือแห้งกรังออกมา แต่ถ้าน้ำมูกอยู่ลึก หรือมองไม่เห็นทั้งที่มีอาการ ควรทำการดูดน้ำมูกโดยจัดท่าให้ลูกนอนหงาย หยอดน้ำเกลือทางการแพทย์ในจมูกข้างละ 3-5 หยด เพื่อให้น้ำเกลือชะความเหนียวของน้ำมูกออกมา จากนั้นใช้ลูกยางดูดเสมหะโดยการบีบลมออกก่อนแล้วจ่อบริเวณรูจมูก ปล่อยมือเพื่อให้เกิดแรงดูดน้ำมูกออกมา จากนั้นบีบล้างน้ำมูกที่อยู่ในลูกยางลงทิ้งไป แล้วเริ่มทำซ้ำอีกครั้ง หากลูกมีน้ำมูกบ่อยให้ทำเช้า-เย็น และก่อนนอน เพื่อลดการสะสมของน้ำมูก นอกจากนี้อาจเคาะปอดร่วมด้วย จะช่วยให้ลูกสบายขึ้นได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม ควรหาสาเหตุที่ทำให้ลูกมีน้ำมูกและป้องกัน หรือกำจัดเหตุเหล่านั้นด้วยค่ะ เช่น การป้องกันไม่ให้เป็นหวัด โดยดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรง ให้ร่างกายอบอุ่น รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ดื่มน้ำอุ่นให้เพียงพอ จัดที่อยู่อาศัยให้สะอาด ปราศจากผลภาวะทางอากาศ เช่น ควันบุหรี่ พยายามอย่าพาไปใกล้ชิดคนที่เป็นหวัด และหากอาการไม่ดีขึ้น หายใจลำบากมาก หรือมีอาการหอบเหนื่อย ควรพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและให้การดูแลอย่างเหมาะสมค่ะ
ข้อควรระวัง
น้ำเกลือที่ใช้เป็นน้ำเกลือทางการแพทย์ ไม่ใช่น้ำเกลือปรุงอาหารนะคะ และไม่ควรใส่ลูกยางดูดเสมหะเข้าไปในรูจมูกจนลึก เพราะอาจทำให้บาดเจ็บได้ หากลูกน้อยดิ้นมาก ๆ ควรห่อตัวและมีผู้ช่วยขณะดูดเสมหะด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.21 No.242 ธันวาคม 2558