ลูกตาวาว เสี่ยงมะเร็งจอประสาทตา !

มะเร็งจอตา

          โรคมะเร็งจอตาในเด็ก เสี่ยง ! ในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบ ไปจนถึง 5 ขวบ วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีสังเกตอาการตาวาวในเด็ก และสัญญาณเตือนว่าลูกน้อยอาจมีภาวะเสี่ยงเป็น มะเร็งจอตา มาฝากคุณพ่อคุณแม่ ส่วนอาการแบบไหนถึงเรียกว่าลูกอยู่ในภาวะเสี่ยง เรามีข้อมูลความผิดปกติและวิธีสังเกตอาการลูกน้อยมาแนะนำ ส่วนอาการตาวาวจะเป็นอย่างไรไปดูคำตอบจาก นิตยสารรักลูก กันค่ะ

          ภาวะตาวาวคือ การที่บริเวณจอประสาทตาด้านในมีก้อนสีขาวเกิดขึ้นเมื่อมีแสงไฟมากระทบ จึงทำให้สะท้อนออกมาเป็นลักษณะวาว ๆ ที่ดวงตา ซึ่งเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าลูกเสี่ยงเป็นมะเร็งจอประสาทตา และรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ฉะนั้นหากคุณแม่เห็นความผิดปกตินี้ได้เร็ว ก็จะทำให้คุณหมอวินิจฉัยและรักษาโรคได้เร็วขึ้น

สังเกตลูก ก่อนเป็นมะเร็งจอตา

          โรคตาวาวพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-2 ปี หรือไม่เกิน 5 ปีค่ะ โดยเกิดจากความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด ถ้ามีประวัติทางพันธุกรรมด้วย ลูกก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมากขึ้น อาการตาวาวเป็นอาการแสดงของโรคต้อกระจก น้ำวุ้นตาเสื่อม การอักเสบของจอประสาทตา กระจกตาดำเป็นแผลตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อในลูกตา รวมทั้งเป็นมะเร็งจอประสาทตาทั้งในขั้นเริ่มต้น และขั้นรุนแรงที่เชื้อแพร่กระจายไปยังสมองจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

          การวินิจฉัยแยกแต่ละโรคนั้นขึ้นอยู่กับว่าเด็กมีอาการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคุณแม่จะสังเกตได้จากอาการผิดปกติเหล่านี้ เพื่อรีบพาลูกมาตรวจวินิจฉัยกับจักษุแพทย์ และรักษาตามอาการได้ทันท่วงที

        1. มีลักษณะตาวาว ช่วงแรก ๆ ที่ยังเป็นก้อนขาว ๆ ขนาดเล็กในจอประสาทตา คุณแม่อาจยังสังเกตเห็นไม่ชัด แต่เมื่อก้อนใหญ่ขึ้นก็จะสังเกตเห็นได้ชัดโดยเฉพาะตอนกลางคืน ที่เห็นว่าตาของลูกมีลักษณะวาวเหมือนตาแมว เป็นสีเหลือง ๆ ส้ม ๆ เวลามีแสงไฟมากระทบ เพราะช่วงกลางคืนม่านตาดำจะขยายมากขึ้น แต่ถ้าลูกมีอาการมาก คุณแม่ก็จะสังเกตเห็นได้ทั้งกลางวันและกลางคืนค่ะ

        2. ตาเข หากสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการตาวาวร่วมกับตาเขให้รีบพามาพบคุณหมอ ภาวะตาเขเกิดจากการที่เด็กมองไม่เห็น เพราะก้อนเนื้อในจอประสาทตามีขนาดใหญ่จนบังการมองเห็นส่งผลให้ควบคุมกล้ามเนื้อตาให้ทำงานตามปกติไม่ได้

        3. ตาอักเสบเรื้อรัง หรือมีตาแดงเป็น ๆ หาย ๆ ถือว่าผิดปกติ บางคนอาจมาด้วยอาการตาโปน ซึ่งต้องรักษาด้วยการเอาลูกตาออก แล้วฉายแสงให้เคมีบำบัด แต่โอกาสที่จะหายก็น้อยกว่ามารักษาช่วงที่มีอาการเพียงเล็กน้อย

การรักษา

          เมื่อพบว่าเด็กมีอาการตาวาว คุณหมอจะวินิจฉัยด้วยการขยายม่านตาเพื่อดูจอประสาทตาด้านใน ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ นอกจากนี้อาจอัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคก่อนนำไปถึงการรักษาตามอาการ แต่ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งจอตา คุณหมอจะรักษาดังนี้

          1. ทำเลเซอร์ ในกรณีที่พบว่าก้อนที่จอประสาทตามีขนาดเล็ก ๆ คุณหมอจะรักษาด้วยการทำเลเซอร์ เพื่อสลายให้ก้อนมีขนาดเล็กลงอีก

          2. ใช้เคมีบำบัด ปัจจุบันมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยกว่าสมัยก่อน ที่ให้ยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบกับเซลล์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่เซลล์มะเร็งจอตาด้วย แต่ปัจจุบันเริ่มนิยมใช้วิธีฉีดยาเคมีบำบัดไปที่บริเวณลูกตาและใกล้ ๆ บริเวณก้อนที่เกิดความผิดปกติเพื่อให้ก้อนเล็กลง และป้องกันไม่ให้มีการควักลูกตาเด็กออก

          3. ฉายแสง คือการรักษาด้วยรังสีเหมือนการรักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ซึ่งใช้ในกรณีที่ก้อนโต แล้วตรวจพบว่าอาจจะมีการแพร่ของเซลล์มะเร็งไปนอกจอประสาทตา

          หลังจากนั้นคุณหมอจะรอดูอาการประมาณ 4 สัปดาห์ เพื่อดูผลตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งผลการรักษาของโรคนี้ค่อนข้างดี หากเด็กมาตรวจได้เร็วและรักษาอย่างถูกต้อง ผลการรักษาก็มีโอกาสหายได้ถึง 95%

ดูแลระยะยาว โรคหายขาด

         มะเร็งจอตาเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีน แต่คุณแม่ดูแลและติดตามผลการรักษาเพื่อให้เกิดผลดีกับลูกในระยาวได้ ดังนี้

          1. ดูแลด้วยการให้กำลังใจ การให้กำลังใจของคุณแม่ สำคัญไม่แพ้การรักษาที่ดีของคุณหมอ นอกจากนี้ควรจัดพื้นที่ในบ้านให้เป็นระเบียบ ให้ง่ายต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูกขณะรักษาตา ที่สำคัญควรดูแลไม่ให้ลูกกระโดด หรือเล่นผาดโผนที่อาจกระทบกระเทือนแรง ๆ หรือเสี่ยงที่จะโดนดวงตา

          2. ตรวจหลังการรักษาอย่างเคร่งครัด ในช่วง 2 ปีแรก คุณหมอจะนัดมาตรวจทุก 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะนัดทุก 6 เดือน จนถึง 5 ขวบ และปีละครั้งนานตลอดชีวิต ซึ่งยิ่งโตขึ้นโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกก็น้อยลง แต่ในกรณีที่กลับมาเป็นอีกคุณหมอจะได้รักษาได้ทัน

          3. ตรวจสุขภาพตาประจำปี แม้จะไม่มีความผิดปกติ แต่คุณแม่ก็ควรพาลูกมาตรวจสุขภาพตาในช่วง 2 ขวบปีแรกค่ะ เพื่อให้คุณหมอขยายม่านตาตรวจดูความผิดปกติของจอประสาทตา และตรวจเช็กความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ

         เมื่อเห็นความผิดปกติเพียงเล็กน้อย ควรรีบพาลูกมาพบจักษุแพทย์ เพราะยิ่งตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว ก็ยิ่งช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ และลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดได้มากขึ้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 388 พฤษภาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกตาวาว เสี่ยงมะเร็งจอประสาทตา ! อัปเดตล่าสุด 6 กรกฎาคม 2558 เวลา 16:27:38 9,766 อ่าน
TOP
x close