พัฒนาการและสมองของเด็กแต่ละคนต่างกัน คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรเปรียบเทียบลูก วันนี้กระปุกดอมคอมมีเกร็ดความรู้ 4 ประเภท ที่คุณพ่อคุณแม่มีความคิดแตกต่างกันออกไป มาแนะนำกัน อยากให้ลูก ๆ เติบโตสมวัยและประสบความสำเร็จโดยไม่สะสมความเครียดต้องทำอย่างไรไปดูกร็ดความรู้ดี ๆ จากนิตยสาร Mother & Care กันเลยค่ะ ^^
คุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบที่ทำให้ฟังแล้ว จิตตกประเภทนี้ ควรเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะหลีกหนีแต่ก็แปลกที่เรามักพบคนเหล่านี้อยู่ทั่วไป เหตุผลที่ให้หลีกเลี่ยงก็เพราะคนเหล่านี่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ความเครียดที่เป็นตัวการทำลายสมองของลูกเราไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
สมองคนเราพัฒนาในอัตราไม่เท่ากัน
โดยหลักการแล้ว สมองของเราจะพัฒนาตามตารางพัฒนาการของแต่ละคน ของใครของมันไม่เท่ากัน นั่นหมายความว่า เด็กทุกคนไม่ได้มีพัฒนาการเท่ากันหรือเหมือนกันเป๊ะ อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตได้ว่าในแต่ละช่วงพัฒนาการนั้น เราทุกคนจะมีช่วงหนึ่งที่ไปพร้อม ๆ กันบ้างแต่ไม่ได้เป็นเหมือนกันทั้งหมด เด็กที่สามารถบวกลบคูณหารได้ตั้งแต่ 4 ขวบ ก็ไม่ได้แปลว่าจะต้องเก่งเลขตอนอายุ 9 ขวบ ตัวอย่างเช่น ไอน์สไตน์ อัจฉริยะของโลกก็ไม่ได้พูดเก่งตั้งแต่เด็ก แต่พูดเป็นประโยคได้ตอน 3 ขวบ ครอบครัวของเขาเองยังเรียกเขาว่าเด็กงุ่มง่ามเสียด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าเขาเจอกับคุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบเขาอาจจะไม่ได้มาเป็นอัจฉริยะของโลกก็ได้
ความเป็นปัจเจกนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมและอีกส่วนหนึ่งมาจากกลไกของเซลล์ประสาทของสมองที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เซลล์สมองเปลี่ยนรูปแบบในการเชื่อมโยงกันไปมา หรือที่เรียกกันว่า neuroplasticlfy นั่นเอง คุณพ่อคุณแม่บางคนคิดว่า พัฒนาการทางสมองของเด็กนั้นก็เหมือนกับการแข่งโอลิมปิค คืออยากจะให้ลูกตัวเองชนะในทุก ๆ ขั้น ของพัฒนาการ เราจะเห็นคุณพ่อคุณแม่ที่คิดแบบนี้แสดงออกมาก ตอนที่เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัย คุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบมักจะคาดหวังให้ลูกตัวเองเรียนคณะดัง ๆ โดยที่ได้สังเกตถึงความสนใจ หรือความต้องการของลูกตนเองเลยแม้แต่น้อย Prot. David Elkind แห่ง Tufts University จำแนกประเภทของคุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบเหล่านี้เป็น 4 ประเภท
1. แบบสำเร็จรูป : คุณพ่อคุณแม่เหล่านี้มักเป็นพวกที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว และมักอยากให้ลูกประสบความสำเร็จแบบตัวเอง จึงเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกคนที่อยู่ในระดับเดียวกัน
2. แบบนักผจญภัย : คุณพ่อคุณแม่เหล่านี้มักจะมีประโยคเด็ดคือ "โลกนี้ช่างโหดร้าย" ดังนั้น จึงมักจะเลี้ยงลูกให้ต้องต่อสู้หรือให้ขวนขวายหาโอกาสในชีวิตด้วยตนเอง เพื่อที่จะนำไปเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่นที่อาจไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตมากมายอะไรนัก
3. แบบดีกรีเด่น : คุณพ่อคุณแม่เหล่นี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับกลุ่มแรก เพียงแต่กลุ่มนี้จะมีความคิดที่ว่า ยิ่งเรียนเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งดีเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่จึงมักจะเน้นให้ลูกไปเรียนหรือเน้นด้านวิชาการมากกว่าให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ และมักจะยกคนข่มลูกคนอื่นที่ไม่ได้เริ่มอ่าน เริ่มเขียนเร็วเท่าลูกตัวเอง
4. แบบนักวางแผน : คุณพ่อคุณแม่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกคนมีฐานะที่เสาะแสวงหาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ จากแหล่งภายนอก มักจะพบคุณพ่อคุณแม่กลุ่มนี้ตามโรงเรียนพิเศษ หรือกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ ที่คิดว่าสามารถเพิ่มศักยภาพของลูกตนเองได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่นักเปรียบเทียบประเภทไหนก็ตาม การเปรียบเทียบมักมาพร้อมกับความคาดหวังเสมอ ที่สำคัญคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการเปรียบเทียบคุณพ่อคุณแม่กำลังขัดขวางพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย ในหลายประเด็นนั่นก็คือ ยิ่งคาดหวังกับลูกเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับขัดวางกระบวนการคิดของลูกมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อพูดถึงเรื่องของความคาดหวังแล้ว เด็ก ๆ มักจะมีวิธีการรับมือกับเรื่องนี้โดยที่จะพยายามเติมเต็มความคาดหวังของคุณพ่อคุณแม่เมื่อตอนยังเล็ก แต่มักจะต่อต้านและไม่ทำตามเมื่อโตขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเล็ก ๆ รู้สึกได้ว่าคุณพ่อคุณแม่ของตนกำลังคาดหวังอะไรบางอย่าง สมองจะสร้างกลไกบีบตัวเองให้คิดถึงวิธีการอะไรก็ได้เพื่อให้เป็นไปตามสิ่งที่ถูกคาดหวังนั้น เช่น คุณพ่อที่มีลูกอายุ 2 ขวบ อาจจะบอกเพื่อนว่าลูกของเขาสามารถคูณเลขได้สิ่งที่เด็กแสดงออกจะไม่ใช่เรื่องของความเข้าใจว่าการคูณมีหลักการว่าอย่างไร แต่เป็นการท่องจำที่จำได้ว่า ตัวเลขอะไรคูณกับอะไรแล้วได้อะไรเท่านั้น ในท้ายที่สุด สิ่งที่เด็กคิดได้จริง ๆ จะลดน้อยลง แต่กลับมีสิ่งที่ถูกป้อนข้อมูลเยอะมากขึ้น
ความเครียดและความกดดันทำให้ไม่อยากตั้งคำถาม
เด็กเกิดมาพร้อมกับความสนใจใคร่รู้ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่คอยแต่ยัดเยียดเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการเรียนให้แล้วนั้น ความสนใจที่จะหาข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ จะค่อย ๆ ลดลง แทนที่เด็กจะถามตัวเองว่า "ฉันอยากรู้เรื่องนี้จริงหรือเปล่า ?" กลับเปลี่ยนเป็นคำถามที่ว่า "ทำอย่างไรถึงจะได้เกรดดี ทำให้แม่ภูมิใจ ทำให้แม่สบายใจ" อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วสมองมีหน้าที่หลักคือ การเอาตัวรอด ในกรณีนี้การเอาตัวรอดคือ การทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจมากกว่าที่จะเป็นความสนใจของตัวเอง เมื่อถูกกดดันจนทำให้ไม่อยากตั้งคำถามแล้วความสนใจใคร่รู้ก็จะค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วย
ความผิดหวังสะสมทำให้เกิดความเครียด
ต้องยอมรับว่า คุณพ่อคุณแม่ช่างเปรียบเทียบนั้นคงไม่ได้สมหวังในสิ่งที่คาดหวังในตัวลูก 100% ตลอดเวลา ย่อมมีเวลาที่ลูกทำให้ผิดหวัง ซึ่งจะว่าไปการที่ลูกไม่สามารถทำตามที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังนั้นก่อให้เกิดสถานะที่เรียกว่า learned helplessness ซึ่งทำร้ายสมองโดยตรง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า เด็กไม่สามารถควบคุมตัวกระตุ้นในแง่ลบ หรือก็คือความผิดหวังหรือความโกรธของพ่อแม่ได้ และจะเก็บสะสมความผิดหวังนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กจะไม่เหลือความพยายามที่จะทำตามที่คุณพ่อคุณแม่คาดหวังอีก จะให้เปรียบเทียบเหมือนกับเด็กชั้น ป.3 ที่ต้องกลับบ้านมาเจอพ่อขี้เมาทำร้ายร่างกายทุกวัน จะไม่กลับบ้านก็ไม่ได้ แต่การกลับบ้านกลายเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากทำ เมื่อเป็นอย่างนี้ ใจหนึ่งเด็กก็อยากจะหนีออกจากบ้าน แต่เมื่อเขาถูกทำร้ายมาก ๆ เข้า สมองจะเริ่มส่งสัญญาณว่าไม่มีทางเลือก นอกจากจะกลับบ้านไปแล้วโดนทำร้าย และท้ายที่สุดเด็กคนนี้ก็จะเลิกที่จะหนีถึงแม้จะมีทางหนีก็ตาม
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งปณิธานไว้ในใจว่า การเป็นพ่อแม่ไม่ใช่การแข่งขัน เด็กไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จของผู้ใหญ่ การแข่งขันอาจมีบ้านที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับพ่อแม่ที่จะเลี้ยงหรือสอนให้ลูกเป็นไปทิศทางที่ตนเองคิดว่าดี แต่ในท้ายที่สุดคุณพ่อคุณแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกตนเองกับลูกบ้านอื่นก็คือ การเพิ่มยาพิษลงไปในความคิดของลูกแล้วยังทำให้สมองทำงานได้แย่ลง ซึ่งไม่ได้ช่วยให้ลูกหรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ประสบความสำเร็จตามฝั่งฝัน
อยากให้ลูกฉลาดจริง ๆ แล้วเริ่มได้ง่ายมาก อย่างที่เกริ่นไปเมื่อฉบับที่แล้วคือ ให้กินนมแม่ ให้ทำกิจกรรมใหม่ ๆ พูดด้วยให้มาก ให้คำชมอย่างจริงใจ แค่นี้ก็เพียงพอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.11 No.125 พฤษภาคม 2558