คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่รู้ว่าทารกหรือเด็กมีอาการปวดหัวได้เหมือนกับผู้ใหญ่ แล้วจะสังเกตุอาการได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้เรื่อง อาการปวดหัวในทารก พร้อมสัญญาณเตือนมาฝากกัน เพราะหากปล่อยไว้ไม่ดีแน่ ๆ ค่ะ พร้อมแล้วเราไปสังเกตุอาการปวดหัวจะได้รับมือได้ทันท่วงทีกับนิตยสาร รักลูก กันดีกว่าค่ะ ...
ปวดหัวอาจเป็นอาการเจ็บป่วยธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในผู้ใหญ่ หรือเด็กโต แต่ถ้าเกิดกับทารก พ่อแม่นิ่งนอนใจไม่ได้นะคะเพราะทารกแรกเกิด-1 ปี ระบบภูมิต้านทานยังทำงานไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคได้ง่าย ที่สำคัญบริเวณกระหม่อมหน้ายังไม่ปิด เมื่อลูกเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือมีการติดเชื้อทางเดินหายใจ จะส่งผลให้ส่วนเชื่อมต่อระหว่างคอ จมูกและหู ติดเชื้อต่อ ๆ กันได้ ทำให้ลูกรู้สึกปวดหู และปวดหัวได้ค่ะ
สัญญาณปวดหัวของทารก
เมื่อทารกยังพูดและบอกไม่ได้ว่าปวดหัว จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องคอยสังเกตลักษณะอาการต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณปวดหัวของลูกดังต่อไปนี้
ใช้มือจับ ถู ตี ขยี้ บริเวณศีรษะ หรือใบหน้า ดึงผม หรือดึงหูตัวเอง
งอแง ร้องกวนกว่าปกติ ดูหงุดหงิด
ไม่กินนม ไม่กินอาหาร
สีหน้าไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส ซึม หรือความรู้สึกตัวลดลง
ไม่ค่อยขยับตัว ไม่ค่อยขยับแขนขา หรือขยับได้ไม่เท่ากัน
มีไข้ อาเจียน มีน้ำมูก มีน้ำหรือหนองออกจากหู
กระหม่อมหน้าโป่งนูน แข็งตึง
ปวดหัวอาจพาโรคร้ายมา
อาการปวดหัวของลูกอาจเริ่มต้นจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หูอักเสบ หรือหูน้ำหนวก ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงมากแต่ ถ้ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจเป็นผลมาจากโรคร้ายแรงได้ เช่น
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และสมองอักเสบ จากการติดเชื้อหวัด และหูน้ำหนวก แล้วเชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง สังเกตอาการได้จากกระหม่อมหน้าของลูกจะโป่งตึง ทารกบางคนอาจเกิดน้ำหนองคั่งอยู่ภายใน ทำให้ปวดหัวมากขึ้น มีไข้สูง อาเจียนพุ่ง และระบบประสาทต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ เช่น ซึมลง ไม่ค่อยดูดนม ไม่ขยับตัว ไม่ขยับแขนขา ตาดำมองต่ำลงตลอดเวลา (sunset eyes) ถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่เสี่ยงเสียชีวิตได้
โรคไข้เลือดออก ที่พบบ่อยคือภาวะเลือดออกในสมองจากเส้นเลือดผิดปกติ หรือจากเนื้องอกในสมอง แต่เกิดน้อยมากในทารกแรกเกิดหรือเด็กเล็ก
เรื่องรอบตัวที่ทำให้ทารกปวดหัวได้
ระวังการใส่หมวก ผ้าคาดผม สายรัดศีรษะ อย่าให้รัดแน่นเกินไป หรือมีน้ำหนักมาก จนกดบริเวณศีรษะ รวมทั้งการใส่เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ลูกเจ็บหรือปวดหัวได้
ห้ามอุ้มเขย่า (Baby Shaken Syndrome) การเล่นกับลูกเล็กแรง ๆ ด้วยความรักและมันเขี้ยว หรืออุ้มเขย่า โยน อาจทำให้เส้นเลือดในสมองของลูกฉีกขาด เลือดออกในสมอง และเพิ่มแรงดันในสมอง ทำให้เด็กปวดหัวมากขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้
ระวังอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการตกจากที่สูง เช่น ตกเตียง ตกบันได ตกเก้าอี้ อาจทำให้เลือดออกในสมอง ลูกจะปวดหัวมาก และเสี่ยงเสียชีวิตได้
สิ่งสำคัญที่สุดของการดูแลลูกเล็กคือพ่อแม่รวมทั้งคนใกล้ชิดของลูกจะต้อง "คอยสังเกต" พฤติกรรม และอาการต่าง ๆ ของลูกอย่างใกล้ชิด "ศึกษาหาความรู้" ข้อมูลเรื่องโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูก เพื่อให้รู้เท่าทันอาการเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ และ "เลือกวิธีการดูแลลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม" ลูกน้อยจะได้ห่างไกลโรคและเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมวัยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 33 ฉบับที่ 387 เมษายน 2558