โรคแผลในปากจากเชื้อไวรัส อันตรายแค่ไหน มาศึกษากันเลย
โรคแผลในปากจากเชื้อไวรัส หรือโรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina) ส่วนใหญ่มักจะพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ และสามารถดูแลให้หายได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็ไม่ควรที่จะละเลยเกี่ยวกับโรคนี้นะคะ เพราะถ้าหากลูกน้อยของคุณเกิดมีอาการของโรคแผลในปากจากเชื้อไวรัสขึ้นมาวันใด ถ้าไม่รีบรักษาให้หายขาดอาการก็อาจจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ลูกน้อยของคุณเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ เช่น สมองอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือปอดอักเสบ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้คุณแม่ทั้งหลายต้องกังวลเกี่ยวกับโรคนี้ กระปุกดอทคอมมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคแผลในปากจากเชื้อไวรัสจากนิตยสารรักลูกมาฝากกันค่ะ มาศึกษาข้อมูลเอาไว้เพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันให้กับลูกน้อยของคุณกันเลย
สาเหตุหลักมาจากติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส คอกแซกกี A16 รวมทั้งมีข้อมูลว่าเกิดจากเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) เป็นเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับการเกิดโรคมือ เท้า ปากได้ด้วย โรคนี้ติดต่อโดยตรงจากมือที่เปื้อนน้ำมูกแล้วหยิบอาหารเข้าปากติดต่อผ่านทางน้ำลาย อุจจาระของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ รวมถึงการติดเชื้อโดยการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายในอากาศจากการไอและจามของผู้ป่วย
หลังรับเชื้อจะมีระยะฟักตัว 3-6 วัน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการดังต่อไปนี้ เพื่อแยกว่าลูกมีอาการแสดงถึงโรคแผลในปากจากการติดเชื้อไวรัส หรือมีอาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงโรคมือ เท้าปากหรือไม่ เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้องต่อไป
1. อาการของแผลในปากจากการติดเชื้อไวรัส หากเป็นมากจะเกิดแผลกระจายอยู่ทั่วปากมากกว่า 5-10 ตำแหน่ง เช่น เป็นแผลบริเวณเหงือก ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และคอหอยลักษณะของแผลเป็นสีขาวเหลืองอยู่บนฐานสีแดงโดยรอบ ทำให้เด็กเจ็บคอและเจ็บปาก กลืนอาหารไม่ค่อยได้ มีน้ำลายไหลยืดอ่อนเพลีย ที่สำคัญคือจะมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส
2. อาการของโรคมือ เท้า ปาก เด็กจะมีลักษณะแผลในปากจากการติดเชื้อไวรัส แต่หากสังเกตว่าลูกมีผื่นเป็นจุดแดงหรือเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามแขน ขา หรือลำตัว ร่วมกับมีไข้ขึ้นสูง และมีประวัติว่าลูกอาจได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 จากโรงเรียน หรือมีเพื่อนในห้องเป็น คุณแม่ต้องเฝ้าดูอาการของลูกอย่างใกล้ชิด แล้วรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะโรคอาจทวีความรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้
3. อาการรุนแรงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน มากกว่า 95% ของเด็กที่เป็นแผลในปากจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มคอกแซกกีไวรัส 16 มีอาการไม่รุนแรง และหายได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่ 1-5% ที่เหลืออาจมีอาการรุนแรง และมีโรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้ โดยมีปัจจัยจากพันธุกรรม หรือรับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีการรายงานการเสียชีวิตมากกว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่น ๆ
อาการรุนแรง คือลูกมีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง อาจพบภาวะขาดน้ำร่วมด้วย เพราะกินไม่ได้ เบื่ออาหาร ปากแห้ง ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม ปัสสาวะมีสีเข้ม มีอาการซึมและอ่อนเพลียมาก ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกมีอาการรุนแรงนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น ไข้สมองอักเสบ ปอดอักเสบ มีอาการทางระบบประสาท หรือชัก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาและป้องกัน
ถ้าอาการไม่รุนแรงใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ก็รักษาแผลในปากให้หายได้ แต่เนื่องจากติดเชื้อไวรัสจึงไม่มียาต้านเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ คุณหมอจึงใช้วิธีรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้ก็จะให้กินยาลดไข้ และเน้นการหยอดยาชาในปากเพื่อให้เด็กไม่เจ็บแผล ให้กินอาหารและน้ำได้ ยกเว้นมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงก็จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ในความดูแลของคุณหมอ
วิธีดูแลและป้องกันมีดังนี้
1. นอนให้เพียงพอและกินอาหารอ่อน ๆ หากลูกมีแผลในปากจากการติดเชื้อไวรัส ควรให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ กินอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก และให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ สามารถให้ดื่มน้ำเย็น น้ำหวาน กินไอศกรีม หรือกินน้ำแข็งได้เพื่อจะได้ชุ่มคอ ลดอาการเจ็บแผลในปาก เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้จะเจ็บคอมาก
2. รักษาสุขอนามัย ทั้งตัวคุณแม่และลูกด้วยการล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนกินอาหาร รวมถึงดูแลความสะอาดของภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ช้อนส้อมให้สะอาด เพราะเชื้อไวรัสจะฟักตัวในลำไส้ ในอุจจาระได้นาน 6-8 สัปดาห์ การรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ ช่วยป้องกันการแพร่เชื้อได้ดี
3. ดูแลเรื่องการใช้ของส่วนรวม การป้องกันที่ดีคือต้องไม่ไปสัมผัสกับผู้ที่ได้รับเชื้อ หลีกเลี่ยงให้ลูกเล่นในแหล่งสาธารณะ เช่น บ้านบอล หรือเล่นในสนามเด็กเล่น รวมถึงต้องดูแลสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้สะอาด ปลอดเชื้อโรคอยู่เสมอ
4. โรงเรียนต้องใส่ใจ คุณครู และเด็กนักเรียนทุกคนต้องใส่ใจดูแลตัวเอง รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ หมั่นทำความสะอาด หรือนำไปผึ่งแดดให้แห้ง หากเป็นของใช้ส่วนตัวของเด็กก็ควรแยกของเด็กแต่ละคน ไม่ให้ปะปนกัน เพราะของเล่นและของใช้เหล่านี้อาจปนเปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือสิ่งขับถ่ายของเด็กอันนำมาสู่การติดเชื้อโรคได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 384 มกราคม 2558