โอ๊ะ ! ลูกเป็นหนุ่ม-สาว ก่อนวัย

ลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย
ภาวการณ์เมื่อลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยเป็นอย่างไร ไปหาคำตอบกัน

โอ๊ะ! ลูกเป็นหนุ่ม-สาว ก่อนวัย
(รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.อนุรา โพธิกำจร กุมารแพทย์ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต่อมไร้ท่อในเด็ก) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

          เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีพัฒนาการด้านสรีระร่างกายค่อนข้างเร็ว เด็กผู้หญิงหน้าอกขยาย มีทรวดทรงองค์เอวชัดเจน เด็กผู้ชายเสียงแตก และโตเร็วเกินเด็กวัยเดียวกัน ลูกอาจกำลังเข้าสู่ "ภาวการณ์เป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย" ได้ค่ะ

เป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย ?

          การเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย คือการที่เด็กหญิงอายุต่ำกว่า 8 ปี และเด็กชายอายุต่ำกว่า 9 ปี เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและอารมณ์อย่างชัดเจน

          เด็กผู้หญิงจะเริ่มมีหน้าอกขึ้นมาบ้าง เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ มีสิว มีกลิ่นตัว รวมทั้งมีประจำเดือน เด็กผู้ชาย เสียงเริ่มแตก เป็นสิว มีกลิ่นตัว เริ่มมีขนบริเวณอวัยวะเพศ และลูกอัณฑะโตขึ้นกว่า 3 cc ซึ่งเป็นขนาดตามเกณฑ์ปกติของเด็กในวัยเดียวกัน

          นอกจากร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกันแล้ว ฮอร์โมนในร่างกายก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย อารมณ์ซึมเศร้าได้ง่าย บุคลิกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เช่น จากที่เคยว่านอนสอนง่าย กลายเป็นไม่ฟัง และมีอารมณ์โกรธ เมื่อคุณพ่อคุณแม่อบรมหรือสั่งสอน เป็นต้น

 "ความอ้วน" สาเหตุหลักของภาวะหนุ่ม-สาวก่อนวัย

          การกินอาหารของเด็กเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อร่างกายของพวกเขาค่ะ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะการกินอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนและไม่มีประโยชน์ตั้งแต่ขวบปีแรก ปัญหานี้เกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ฝึกเรื่องการกินให้ลูก หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูกพาไป เช่น เลือกกินขนมขบเคี้ยว ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง หรืออาหารมื้อหลักและมื้อว่างที่ไม่มีประโยชน์ รวมทั้งไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การมีเนื้องอกบริเวณรังไข่ เนื้องอกบริเวณบางส่วนของสมอง โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง แต่จากสาเหตุเหล่านี้มีน้อยค่ะ

          เมื่อรูปร่างภายนอกเปลี่ยน แต่อายุสมองยังคงพัฒนาเท่าอายุจริง วุฒิภาวะยังไม่มากดังที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อพวกเขา ทำให้เด็กเกิดความสับสน ขาดความมั่นใจในตัวเอง

ผลกระทบจากภาวะหนุ่ม-สาวก่อนวัย

          สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กอันดับต้น ๆ คือ เรื่องความสูง การที่อายุกระดูกของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้กระดูกปิดตัวเร็วส่งผลให้เด็กไม่สูง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็วมาก ๆ ส่วนเด็กผู้ชายจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวหงุดหงิดง่าย

          โดยทั้งเด็กชายและเด็กหญิง เมื่อรูปร่างภายนอกเปลี่ยน แต่อายุสมองยังคงพัฒนาเท่าอายุจริง วุฒิภาวะยังไม่มากดังที่ผู้อื่นปฏิบัติต่อพวกเขาจากการที่เห็นแค่เพียงรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้เด็กเกิดความสับสนในจิตใจ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่รู้จะจัดการกับตัวเองอย่างไร เป็นต้น

          แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือเด็กผู้หญิง เพราะภาวะนี้มักเกิดขึ้นกันเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย รูปร่างภายนอกที่เป็นสาวมากขึ้น ตกเป็นเป้าสายตาได้ง่าย เด็กผู้หญิงบางคนอาจไม่เข้าใจในการดูแลจุดซ่อนเร้น วิธีการดูแลตัวเองเวลามีประจำเดือนรวมทั้งการโดนเพื่อนล้อ อาจส่งผลให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้

การรักษาฉีดยาควบคุมฮอร์โมน

          หากหมอวินิฉัยว่า เด็กมีภาวะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย ที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุอาการเนื้องอกในสมอง หรือความผิดปกติที่รังไข่ และมดลูก หมอจะพิจารณาการรักษาโดยฉีดยาระงับฮอร์โมนโดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง โดยจะฉีดทุก ๆ 4 สัปดาห์ จนกว่าจะอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นอายุปกติของการมีประจำเดือน เพื่อช่วยชะลอกระดูกไม่ให้ปิดเร็ว และทำให้ค้างอยู่อย่างนั้นจนกว่าอายุจริง จะมาถึง แต่สำหรับเด็กบางคนที่กระดูกปิดบางส่วนแล้ว จะได้ไม่ปิดมากกว่าเดิม ร่วมกับการปฏิบัติตัวของเด็กเองด้วย ทั้งอาหารการกิน การออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ ในขณะที่เด็กผู้หญิงบางคนหน้าอกขยายเร็ว หรือประจำเดือนมาเร็ว แต่ส่วนสูงได้ตามเกณฑ์ คุณหมอก็จะพิจารณาไม่ฉีดยาระงับฮอร์โมน ให้เด็กพัฒนาความสูงไปตามธรรมชาติค่ะ

 ป้องกันภาวะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย

         1. ส่งเสริมด้านโภชนาการที่เหมาะสม อาหารมื้อหลักทุกมื้อควรมี คาร์โบไฮเดรต 25% โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดหนัง ไม่ติดมัน และไม่ผ่านการแปรรูป 25% ผักครึ่งจาน และดื่มนม วันละ 2-3 แก้ว มื้อว่างคือ ผลไม้และนม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง และฝึกให้ลูกดื่มน้ำเปล่าเป็นประจำ

         2. ให้ลูกออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่องอย่างจริงจัง

         3. หมั่นเช็กและดูแลน้ำหนัก-ส่วนสูงของลูก ให้เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ

         4. สังเกตพฤติกรรมและร่างกายของลูก หากคุณพ่อคุณแม่เห็นความผิดปกติของลูก สามารถพาลูกไปตรวจภาวะเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัยได้ โดยทั่วไปแล้วเวลาที่พาลูกไปรับวัคซีน คุณหมอเด็กจะตรวจเบื้องต้นให้ และถ้าเห็นว่าเด็กมีภาวะนี้ ก็จะส่งให้คุณหมอด้านต่อมไร้ท่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ

          สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับสถานการณ์นี้ได้คือ การพูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าลูกจะอยู่ในภาวะการเป็นหนุ่ม-สาวก่อนวัย หรืออยู่ในระหว่างการรักษา การอธิบายจะทำให้ลูกเข้าใจและเตรียมรับมือกับภาวะที่ตัวเองเป็นในอนาคตได้ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 32 ฉบับที่ 382 พฤศจิกายน 2557


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โอ๊ะ ! ลูกเป็นหนุ่ม-สาว ก่อนวัย อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 16:28:49 4,143 อ่าน
TOP
x close