9 วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง

วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง
พฤติกรรมพี่อิจฉาน้อง แก้ไขได้เพียงคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจ

9 วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

          คงจะเลี่ยงไม่ได้เลย ว่าพี่กับน้องมักมีปัญหาอิจฉากันบ้างไม่มากก็น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแรก ๆ เมื่อคุณแม่มีน้องใหม่ ก็มักทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับน้องน้อย จนไม่มีเวลาดูแลพี่คนโตมากนัก ความอิจฉานั้นเป็นอารมณ์ประเภทหนึ่งของมนุษย์ครับ เวลาเราอิจฉาใคร นั่นคือ อารมณ์ผสมระหว่างเกลียดและโกรธพี่อิจฉาน้อง ก็คือเกลียดและโกรธน้องนั่นเอง

ทำไมพี่ต้องอิจฉาน้องซึ่งเพิ่งเกิดใหม่

          สาเหตุก็เพราะเด็ก ๆ มักมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งอยู่แล้ว เดิมที่ตัวเองเคยได้รับความสนใจจากทุกคนในบ้าน ใครก็ให้ความรักและเอาใจใส่ เรียกว่าเป็นหนึ่งเดียวในบ้าน วันที่พี่เห็นพ่อแม่อุ้มน้องใหม่จากโรงพยาบาลเข้ามาในบ้าน ทุกคนก็มารุมให้ความสนใจกับน้อง พูดถึงแต่น้อง คอยดูแลเอาใจใส่ตลอดเวลาพี่หลายคนจึงรู้สึกว่าน้องมาแย่งความรักของพ่อแม่ แย่งทุกอย่างไปจากตัวเอง ยิ่งเห็นพ่อแม่ป้อนนมให้ อาบน้ำ แต่งตัวให้ จับต้องอย่างทะนุถนอม เลยทำให้พี่บางคนซึ่งอยู่ในวัย 2-3 ขวบแล้ว กลับเริ่มมีพฤติกรรมถดถอย กลายเป็นเด็กกว่าวัย อะไรที่เคยทำได้ ก็กลับทำไม่ได้ ทำไม่เป็น เช่น ปกติกินข้าวเองได้ ก็ต้องการให้ป้อน เคยควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะได้แล้ว ก็กลับไปเป็นเด็กทารก อุจจาระ ปัสสาวะราดอีก บางคนกลับพูดไม่ชัด หรือพูดเหมือนเด็กเล็ก ๆ

          อีกสาเหตุหนึ่งของการที่พี่อิจฉาน้องคือ การที่คุณแม่อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อดหลับอดนอน จากการเลี้ยงดูน้องซึ่งยังเป็นเด็กทารก บางทีงอแง อาจตื่นกลางคืนมากินนมทุก 4 ชั่วโมง นอกจากจะทำให้คุณแม่ไม่มีอารมณ์ ไม่มีเวลามาเล่นกับพี่แล้ว ยังทำให้คุณแม่บางที หงุดหงิดง่าย ทำให้ความสัมพันธ์กับพี่ยิ่งไม่ดีเข้าไปอีก เมื่อพี่อิจฉาน้องแล้ว บางคนก็จะเริ่มแสดงออกทางอารมณ์หรือคำพูดว่าไม่ชอบน้องเกลียดน้อง บางทีแอบทำร้ายน้องก็มี พ่อแม่หันเดินไปหยิบของ ก็ได้ยินเสียงน้องร้องไห้ดังขึ้น กลับมาซักไซ้จึงได้ความว่าพี่แอบหยิกน้องแอบตีน้อง คนในบ้านรู้เข้าก็จะยิ่งไม่ค่อยชอบพี่ อาจมีคำพูดดุว่าพี่ ยิ่งทำให้พี่โกรธและเกลียดน้องมากขึ้น อยากแก้แค้นน้อง แอบทำร้ายน้องเรื่องพี่อิจฉาน้องเรื่องนี้ดูตลก น่ารัก แต่คนที่เป็นพ่อแม่หัวเราะไม่ออก บางทีมันก็รุนแรงกว่าที่เราคิดครับ

9 ข้อควรปฏิบัติสำหรับปัญหาพี่อิจฉาน้อง

         1. เตรียมป้องกันปัญหาแต่เนิ่น ๆ โดยควรเตรียมที่สำหรับการมีน้องตั้งแต่น้องยังอยู่ในท้องแม่ โดยการพูดคุยถึงน้องซึ่งกำลังเติบโตอยู่ในท้องแม่ น้องกำลังจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว อาจชวนให้พี่มาคลำที่หน้าท้องแม่ เพื่อสัมผัสน้องที่กำลังดิ้นอยู่ในท้องแม่ และให้พี่ช่วยกอดน้องที่อยู่ในท้อง ให้อ่านหนังสือนิทานให้ฟังเพื่อสร้างความสัมพันธ์ตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้อาจพูดคุยถึงข้อดีของการมีน้องใหม่ เช่น จะได้มีเพื่อนเล่น ไม่เหงา ได้ช่วยเหลือกันเมื่อโตขึ้น

         2. อธิบายและแสดงให้พี่เห็นว่า สิ่งที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อน้องนั้น เป็นเพราะน้องยังเป็นเด็กทารก และตอนพี่เป็นเด็กทารก พ่อแม่ก็ปฏิบัติกับพี่แบบนี้เหมือนกัน ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักถ่ายวิดีโอขณะลูกยังเล็ก เก็บไว้ดูเป็นโอกาสดีครับ ถ้าจะไปค้นเอาวิดีโอสมัยที่พี่ยังเป็นเด็กทารกมาให้พี่ดู แล้วอธิบายว่า เห็นไหม สมัยหนูยังตัวเล็ก ๆ เท่าน้อง พ่อแม่ก็ป้อนข้าว อาบน้ำให้หนู ทะนุถนอมหนู เหมือนที่ทำกับน้องตอนนี้เหมือนกัน พี่ก็จะเข้าใจอะไร ๆ ได้ดีขึ้น และลดความรู้สึกอิจฉาน้องลงได้มากครับ

         3. ป้องกันและหลีกเลี่ยงคำพูดกระทบจิตใจลูก เช่น เมื่อญาติ ๆ มาเยี่ยม อย่าพูดว่ามีน้องแล้ว ไม่มีใครสนใจแล้ว ตอนนี้หนูก็จะเป็นหมาหัวเน่า ไม่มีใครรักแล้ว เพราะจะทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในความรักของคุณพ่อคุณแม่ หากญาติหรือเพื่อนซื้อของมาเยี่ยมน้องควรช่วยเผื่อของเล่นหรือของฝากให้พี่ด้วย

         4. หากเกิดปัญหาพี่อิจฉาน้องไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจกับปัญหา และแสดงความเห็นใจพี่ที่มีความรู้สึกว่าน้องมาแย่งทุกอย่างไป คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับพี่ ให้เขาได้ระบายความรู้สึกอึดอัดใจออกมา ขณะเดียวกันก็ประคับประคองจิตใจ ให้ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจ

         5. หลีกเลี่ยงการพูดเปรียบเทียบน้องกับพี่ และไม่ควรดุว่าหรือลงโทษพี่รุนแรง เนื่องจากที่พี่พูดหรือทำไป ก็เพราะความอิจฉาว่าน้องมาแย่งความรักของพ่อแม่ไปจากตัวเอง การดุว่าหรือทำโทษจะยิ่งทำให้พี่เกลียดน้องมากขึ้น คิดว่าน้องเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่ไม่รักครับ

         6. ให้พี่ได้มีโอกาสช่วยเหลือดูแลน้องอย่างง่าย ๆ โดยให้พี่เป็นผู้ช่วยคุณแม่ หากน้องต้องการอะไรให้ ขอให้พี่เป็นผู้ช่วยหามาให้ แต่อย่าบังคับให้ทำ ตัวอย่างเช่น ช่วยแม่อาบน้ำทาแป้งให้น้อง ช่วยหยิบขวดนมให้น้อง หรืออาจให้พี่ช่วยถือขวดนมขณะน้องดูดนม เปลี่ยนผ้าอ้อม เปลี่ยนเสื้อผ้า พี่จะได้เรียนรู้ทักษะการหยิบ จับของ การหาของ การวางของให้เข้าที่ และยังได้รับคำชมให้เกิดความภาคภูมิใจอีก ตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ต้องการให้พี่หยิบเสื้อให้น้อง คุณแม่อาจขอร้องให้พี่ช่วย โดยพูดว่าช่วยหยิบเสื้อให้น้องหน่อย หากพี่บอกว่า ไม่เอา คุณแม่อาจลองอีกครั้งว่าโดยพูดว่า คุณแม่ต้องการให้หนูช่วยแม่หน่อย เพราะหนูเป็นผู้ช่วยที่ดีจริง ๆ หากลูกยังปฏิเสธอีก อย่าบังคับลูกและว่ากล่าว โดยพูดว่าไม่มีน้ำใจ หรือทำโทษ เพราะจะทำให้ลูกยิ่งอิจฉาน้องมากขึ้น แต่หากพี่ยินดีช่วยเหลือดูแลน้อง คุณพ่อคุณแม่ก็รีบชมเชย เช่น พูดว่า หนูเก่งมาก เป็นผู้ช่วยที่ดีของคุณแม่เก่งมากลูก และอาจให้รางวัล ก็จะยิ่งทำให้พี่รู้สึกดีกับน้องมากยิ่งขึ้น

         7. เพิ่มเวลาส่วนตัวให้พี่มากขึ้น โดยจัดแบ่งเวลา แบ่งงานของคุณพ่อคุณแม่ ธรรมชาติสร้างพ่อและแม่ไว้ให้ช่วยกันดูแลลูกครับ ระหว่างที่คุณแม่กำลังดูแลน้องเล็ก คุณพ่อก็แยกตัวออกมาเล่นกับพี่ บางเวลาก็สลับกัน พ่อมาดูแลน้องเล็กบ้าง แล้วแม่ก็มาอ่านนิทานให้พี่ฟัง เล่นแป้งปั้น ระบายสี ใช้เวลาส่วนตัวกับพี่โดยไม่มีน้องมายุ่งเกี่ยว เป็นเวลาที่อยู่ด้วยกันแบบสองต่อสอง ลูกจะรู้สึกอบอุ่นและไม่รู้สึกว่าถูกแย่งเวลาไป และจะยิ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ตรงกับข้ามกับการที่คุณพ่อคุณแม่บางคนดูแลน้องโดยให้พี่เล่นอยู่ใกล้ ๆ พี่มักจะรู้สึกว่าไม่ได้เวลาและความเอาใจใส่จากพ่อแม่อยู่ดี

         8. หากพี่น้องเริ่มโตขึ้น ลองพยายามให้พี่กับน้องได้เล่นด้วยกัน เช่น เล่นเกมจ๊ะเอ๋ ที่ทั้งคู่จะสนุกด้วยกัน เกมจ๊ะเอ๋จะช่วยเรียกเสียงหัวเราะให้น้องได้ ทั้งยังช่วยกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ให้น้องอีกด้วย เมื่อน้องหัวเราะ พี่มักจะรู้สึกสนุกและภูมิใจตามไปด้วยที่ทำให้น้องหัวเราะออกมาได้

         9. แสดงความรักผ่านสื่อสัมผัสทางกายทั้งกับพี่และน้องพร้อม ๆ กัน เช่นกอดลูกทั้งสองคนพร้อมกัน โดยให้พี่เอามือโอบกอดน้อง เป็นการกอดกันเป็นวงกลม หรือให้ลูกคนโตนั่งตักคุณแม่และอุ้มน้องคนเล็กไว้ด้วย ลูกจะรู้สึกเป็นพิเศษว่าได้นั่งตักคุณแม่ ลูกจะรู้สึกว่าน้องไม่ใช้เวลาของคุณแม่ไปหมดคนเดียว แต่ยังมีเวลา และที่พิเศษกับตัวเองด้วย ลูกจะรู้สึกถึงความรักนั้นได้

          ปัญหาพี่อิจฉาน้องนั้น ถ้าเราพยายามป้องกัน ทำความเข้าใจกับความรู้สึกของพี่ ช่วยประคับประคองจิตใจ ก็จะทำให้ปัญหาลดลงได้มากครับ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติต่อลูกที่เป็นพี่ คือการปลูกฝังให้ลูกรู้ว่า การมีน้องเพิ่มขึ้นเป็นสมาชิกคนใหม่ในครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่น้องจะมาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ในการแบ่งความรัก ความห่วงใย และความเสียสละ อีกทั้งยังเป็นเพื่อนเล่น พูดคุย ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้ทั้งในปัจจุบัน อนาคต และตลอดไป





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 38 ฉบับที่ 513 พฤศจิกายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 วิธีแก้ปัญหาพี่อิจฉาน้อง อัปเดตล่าสุด 1 ธันวาคม 2557 เวลา 11:05:36 31,360 อ่าน
TOP
x close