9 ภัยใกล้ตัวลูกที่ไม่ควรมองข้าม



9 ภัยใกล้ตัวลูกที่ไม่ควรมองข้าม
(Mother&Care)
เรื่อง : ออมจัง

          อุบัติเหตุบางอย่างเรารู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนั่นแสดงว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ประมาทแบบไม่รู้ตัวแล้วนะคะ จะดีกว่าไหมที่เราจะไม่มองข้ามเรื่องอันตรายที่เราคิดว่าไกลตัว เพราะถ้าเกิดขึ้นกับลูกเราคนที่เสียใจที่สุดก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ฉบับนี้เรามาระวังภัย โดยการสอนลูกให้รู้ทันถึงภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้น ด้วยแนวทางการป้องกัน

1. Causes ลานจอดรถยนต์

          ลูกน้อยวัยคลาน วัยซนที่กำลังเดินวิ่งได้ มักจะสนุกกับพื้นที่อิสระ อย่างลานจอดรถในบ้าน โดยไม่สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และหลายครั้งก็เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เกี่ยวกับรถยนต์เป็นอุทาหรณ์สอนพ่อแม่ ฉะนั้น คงมีเพียงคุณและสมาชิกในบ้าน ที่จะช่วยป้องกันปัญหานี้

Cautions

        ก่อนขับรถเข้า-ออก หรือถอยรถในลานจอดรถ ควรตรวจให้มั่นใจ ว่าไม่มีลูกน้อยอยู่บริเวณนั้น

        ไม่ปล่อยลูกอยู่หรือเล่นบริเวณลานจอดรถเพียงลำพัง แม้จะไม่มีรถจอดก็ตาม ควรมีผู้ใหญ่อยู่ดูแลด้วยเสมอ

        จัดพื้นที่เล่นของลูกให้เป็นสัดส่วน เพิ่มความระมัดระวัง และลดความเร็วในการขับขี่ ก็เป็นวิธีลดความเสี่ยงอันตรายจากการขับขี่ของคุณ

        ลานจอดรถนอกสถานที่ เช่น ห้างสรรพสินค้าก็ควรระมัดระวังคุณควรจูงหรืออุ้มลูกตัวเล็กไว้ และสอนลูกคนโต ไม่ให้วิ่งหรือเดินตามลำพัง เพื่อความปลอดภัยจากรถยนต์เฉี่ยวหรือชนได้

2. Causes ของเล่นแขวนคอ

          สด ๆ ร้อน ๆ กับข่าวเด็กน้อยวัย 4 ปี ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำสายที่นอนปิกนิกคล้องคอหมุนเล่นจนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิต เป็นเหตุสลดใจเวลาต่อมานั้น เป็นบทเรียนที่พ่อแม่ คนใกล้ชิด หรือคุณครูจะได้ระมัดระวังกับเรื่องดังกล่าว

Cautions

        เชือกที่เป็นเส้นสาย มีโอกาสที่ลูกตัวเล็ก ๆ เห็นเป็นของเล่น ฉะนั้น คุณต้องจัดเก็บให้ห่างมือไว้ก่อนเป็นดี

          ตรวจเช็กเรื่องความปลอดภัย สภาพแวดล้อมรอบตัวลูก เช่น สายรัดผ้าม่านในห้องนอน หรืออื่น ๆ ที่เป็นอุปกรณ์ภายในบ้านไว้ก่อน

3. Causes รถจักรยาน

          ยานพาหนะสองล้อ ที่พาลูกน้อยโลดแล่นได้ชมนก ชมไม้ เป็นเรื่องสนุกนั้น หากไม่ทันระวังก็กลายส่วนหนึ่งของภัยใกล้ตัวได้ เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เท้าลูกอาจไปติดในซี่ล้อจักรยานเกิดการบาดเจ็บตามมา

Cautions

        ไม่ควรให้ลูกนั่งซ้อนหน้า หรือซ้อนท้ายจักรยาน โดยไม่มีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ลงทุนสักหน่อย ซื้อที่นั่งสำหรับเด็กที่มีคุณภาพ แข็งแรง มีสายคาดกันตกและคาดให้ลูกทุกครั้งที่พาลูกขึ้นรถจักรยาน

        เลือกใช้จักรยานมีที่กั้นล้อเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เท้า หรืออุปกรณ์อื่น ๆ เช่น หมวกนิรภัย หรือที่ป้องกันการบาดเจ็บที่ข้อศอก และเข่า

        หมั่นเช็กสภาพรถจักรยานว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ เช่น โซ่ตึงหรือหย่อนเกินไปไหม ที่นั่งสำหรับเด็กขันน็อตแน่นทุกตัวหรือเปล่า เป็นต้น

4. Causes รถโดยสารสาธารณะ

          ในที่นี้หมายถึงรถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถเมล์ หรือบริการรถสาธารณะต่าง ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด เช่น การพลัดหล่นตกไปที่ราง ถูกประตูรถหนีบ เป็นต้น อย่าคิดว่าเกิดขึ้นยากมาก ๆ เชียวนะคะ เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังตกมาแล้วเยอะแยะ

Cautions

        สอนให้ลูกสังเกตพื้นที่การยืนรอ สัญญาณต่าง ๆ เช่น การเดินเข้า-ออก ก่อนจังหวะที่ประตูจะเปิด เป็นต้น เมื่อเข้ารถแล้ว ควรเข้าด้านในรถไม่ยืนขวาง หรือเล่นบริเวณหน้าประตูทางเข้า-ออก

        กรณีที่ลูกยังเล็กมาก จำเป็นต้องใช้รถเข็นก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของคุณ และลูก โดยศึกษาข้อมูลเส้นทางและรายละเอียดการใช้บริการ

5. Causes เทศกาลงานต่าง ๆ

          งานวัด งานบุญ งานรื่นเริง ในสถานที่ที่ผู้คนอยู่มากมีกิจกรรมมากมาย ที่ดูเผิน ๆ อาจไม่มีอะไร แต่เป็นภัยเงียบหากไม่ระมัดระวัง เช่น การพลัดหลง อุบัติเหตุจากเครื่องเล่น หรือลูกหลงผลข้างเคียงจากเสียง ควันพลุหรือประทัดในงานที่คุณพาลูกไปด้วย

Cautions

        สอนลูกป้องกันตัวเองจากคนแปลกหน้า แก้ปัญหากรณีพลัดหลง เช่น จดจำเบอร์โทรฉุกเฉิน หรือเดินหาคุณตำรวจ เพื่อขอความช่วยเหลือ เป็นต้น

        ยิ่งเด็กเล็ก ๆ คุณควรอยู่ใกล้ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมด้วยกันแล้ว และเพิ่มความปลอดภัยด้วยการเขียน ชื่อ เบอร์โทรติดต่อไว้ในกระเป๋าลูก

        เลี่ยงการเล่นพลุ ประทัดช่วงเทศกาล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น กระเด็นหรือระเบิดใส่ตาหรือนิ้วมือ (ก็เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นได้ทุกปี) หากจะเล่นก็ควรอยู่ในสายตาผู้ใหญ่

6. Causes อุปกรณ์เครื่องเขียน

          เด็กชายวัย 6 ปี ทำขาตุ๊กตาพลาสติกตัวเล็ก ๆ หลุด พี่ชายแสนดีวัย 9 ปี เดินไปหยิบกาวตราข้างที่ห้องเก็บของมาซ่อมตุ๊กตา ขณะที่ออกแรงบีบ แทนที่น้ำกาวจะพุ่งออกทางหัวหลอด ดันทะลุออกมาทางก้นหลอด และหนำซ้ำกระเซ็นเข้าตา

          เด็กหญิงวัย 7 ปี กำลังทำงานศิลปะสร้างบ้านด้วยไม้ไอติม โดยใช้กาวเชื่อมต่อ ระหว่างการบีบ กาวก็พุ่งเข้าสู่รูจมูกอย่างคาดไม่ถึงและไหลลงไปในคอ

Cautions

        อุปกรณ์ที่มีความเสี่ยง เช่น กรรไกร กาว เข็ม ฯลฯ ควรเก็บให้พันมือ โดยคุณคอยดูแล หยิบให้เด็ก ๆ ใช้จะดีกว่า

        การเก็บให้เป็นที่และถูกวิธี ก็มีส่วนป้องกันอุบัติเหตุ เช่น เก็บกาวในตู้เย็นหรือในขวดควรเขียนชื่อและแยกออกจากของอื่น ๆ ป้องกันลูกเข้าใจผิดหยิบไปกินได้

        สอนลูกเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้อง และศึกษาวิธีการดูแลอาการเบื้องต้น กรณีที่เกิดปัญหา ก็เป็นแนวคิดการหาวิธีลดความรุนแรงของปัญหาไว้ก่อน

7. Causes ของเล่น

          สิ่งของบางชิ้นบางอย่างอาจใช้ด้วยกันได้สบาย ๆ ระหว่างพี่กับน้องและของเล่น ก็เป็นสิ่งของตกทอดจากพี่ถึงน้องได้ ทว่า เมื่อผ่านการใช้งานมาแล้ว เช่น หุ่นยนต์รถบังขับ จากการเล่นของพี่บางส่วนอาจหักจนมีเหลี่ยม มีมุมแหลม เมื่อน้องนำมาเล่นก็เลยเกิดเป็นอุบัติเหตุให้เจ็บตัว เป็นแผล

Cautions

          ความปลอดภัยเรื่องเล่นของลูกยังต้องดูแลตลอดเวลา และจะให้ดีก่อนส่งต่อให้น้องได้เล่น ควรตรวจดูความเรียบร้อย ทำความสะอาด หรือซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพพร้อมเล่นอย่างสนุกและปลอดภัย

8. Causes เม็ดโฟม

          เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า พบเด็กชายวัย 13 ปี จากรัฐเท็กชัส และเด็กหญิงวัย 3 ปี จากรัฐเคนตั๊กกี้ เสียชีวิตอยู่ภายในเก้าอี้เม็ดโฟม เนื่องจากเก้าอี้ชนิดนี้ มีซิปที่เปิดได้ จึงอาจทำให้เด็กเปิดซิปแล้วคลานเข้าไปด้านในจนขาดอากาศ และเสียชีวิตในที่สุด

Cautions

        สอนวิธีการใช้งาน การดูแลข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกวิธีกับลูก ๆ ของคุณ

        ลดความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ อาจต้องใส่ใจรายละเอียดเรื่องความปลอดภัยในสิ่งของนั้น ๆ เช่น เก้าอี้เม็ดโฟม ควรมีถุงเก็บโฟมป้องกันลูกรูดซิป หยิบเม็ดโฟมเข้าปาก จนติดคอ ขาดอากาศหายใจ เป็นต้น

        การดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้คลาดสายตา ยังเป็นหลักการดูแลเด็กที่ใช้ได้ดีเสมอมาค่ะ

9. Causes เสื้อผ้า

          ก็ไม่มีอะไรมาก แค่อยากจะบอกว่า เพียงแค่คุณตรวจเช็กความเรียบร้อย เช่น ตะเข็บ เส้นด้ายต่าง ๆ ที่อาจหลุดลุ่ย ทำให้ไปพันหรือรัดนิ้วมือ นิ้วเท้าของลูกก็เท่านั้นเองค่ะ

Cautions

          เน้นที่เด็กเล็ก ๆ นะคะ เพราะเส้นด้ายจากการตัดเย็บเสื้อผ้า หรือผ้าห่มผืนเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ นี่แหละ ที่ทำร้ายเจ้าหนูลูกรักของคุณจนเป็นแผลเลือดออก ร้องไห้โยเยมาแล้ว

          อย่างที่กล่าวว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่จะดีกว่าหากเราป้องกันโดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมที่นอกจากเอื้อต่อการเรียนรู้ของลูกแล้ว อย่าลืมนึกถึงการจัดสภาพแวดล้อมเรื่องความปลอดภัยของลูกไปพร้อม ๆ กัน





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.118 ตุลาาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
9 ภัยใกล้ตัวลูกที่ไม่ควรมองข้าม อัปเดตล่าสุด 13 พฤศจิกายน 2557 เวลา 14:57:23 2,127 อ่าน
TOP
x close