ก่อนตัดสินใจพาลูกไปตัดแว่นสายตา ลูกอาจเป็นแค่สายตาสั้นเทียมก็ได้ค่ะ
แค่...สายตาสั้นเทียมหรือเปล่า? (รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ รศ.พญ.สุตารัตน์ ใหญ่สว่าง จักษุแพทย์โรคตาเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เมื่อเด็ก ๆ บอกคุณพ่อคุณแม่ว่า "ปวดตา มองเห็นอะไรไม่ค่อยชัด" ควรพาลูกไปพบจักษุแพทย์ ก่อนตัดสินใจพาลูกไปตัดแว่นสายตานะคะ เพราะลูกอาจเป็นแค่ "สายตาสั้นเทียม" ที่ต้องดูแลรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
ภาวะสายตาสั้นเทียมไม่ควรมองข้าม
สายตาสั้นเทียมคือ ภาวะสายตาสั้นจากกล้ามเนื้อภายในลูกตา ซึ่งทำหน้าที่เพ่งยามมองใกล้ และเมื่อมองไกลกล้ามเนื้อตาจะต้องคลายตัว แต่เด็กสายตาสั้นเทียม กล้ามเนื้อตัวนี้จะไม่คลายตัว เวลามองไกล ทำให้สายตาสั้นได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่ใช่ต้นเหตุของสายตาสั้นจริง ๆ ค่ะ
ภาวะแบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อ เด็ก ๆ ใช้สายตาเพ่งมากจนเกินไป แม้เวลาที่มองไกล ๆ สายตาของเขาก็ยังคงเพ่งต่อไป ทำให้การมองเห็นของเด็ก ๆ เหมือนคนสายตาสั้นจริง ๆ เมื่อวัดค่าสายตาออกมาก็จะเป็นค่าที่สั้นจริง ๆ ค่ะ แต่ไม่ใช่ค่าสายตาที่ถาวร
สายตาสั้นเทียมจากสมาร์ทโฟน
โดยส่วนใหญ่แล้ว สายตาสั้นเทียมจะเกิดขึ้นในเด็กอายุประมาณ 6 ปีขึ้นไป ถึงช่วงวัยรุ่นจะพบน้อยลง ในผู้ใหญ่ก็จะไม่มี เพราะกลไกการเพ่งของสายตาในเด็ก จะมีแรงกำลังมาก แล้วค่อย ๆ ลดลงตามอายุที่มากขึ้น เช่น คนอายุ 40 ปีจะเพ่งไม่เป็นเราเราจึงต้องใส่แว่นสายตา
อีกทั้งชีวิตประจำวันของเด็กวัยนี้ มักอยู่กับสิ่งรอบตัวใกล้ ๆ และเริ่มเรียนรู้การใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ ถ้าใช้เป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสายตาสั้นเทียมในเด็กได้ อย่างไรก็ตามสายตาสั้นเทียมพบได้น้อยกว่าเด็กที่สายตาสั้นจริง โดยเฉลี่ยพบเด็กที่สายตาสั้นเทียมปีละ 3-4 คน ขณะที่เด็กสายตาสั้นจริง ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ของทรงกระบอกตายาวนั้น พบประมาณ 20-30% ของเด็กทั้งหมดค่ะ
อาการเหมือนสายตาสั้นจริง
เด็ก ๆ มักบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าปวดเมื่อยตา ปวดหัว มองไม่ชัด มองเบลอ เหมือนคนสายตาสั้นจริง แต่มักบอกเป็นพัก ๆ เพราะสายตาสั้นเทียมไม่ได้เป็นตลอดเวลา จะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยเป็นบ่อยในช่วงที่ใช้สายตาเพ่งมองใกล้นาน ๆ ประมาณ 2-3 วันจะมีอาการสักทีค่ะ
รักษาภาวะสายตาสั้นเทียม
เบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ต้องปรับพฤติกรรมการใช้สายตาของลูกไม่ให้เพ่งมากจนเกินไป และหากไม่แน่ใจว่าลูกสายตาสั้นจริงหรือไม่ ควรพาไปพบจักษุแพทย์โรคตาเด็ก คุณหมอจะตรวจวินิจฉัยด้วยการ "หยอดยาขยายม่านตา" ซึ่งยาตัวนี้จะมีฤทธิ์ทำให้ตาเพ่งไม่ได้ ทำให้กล้ามเนื้อสายตาที่ใช้ในการเพ่งเป็นอัมพาตชั่วคราวจากฤทธิ์ยา เมื่อกล้ามเนื้อตาเพ่งไม่ได้ สายตาสั้นเทียมก็จะไม่เกิดจากนั้นจึงไปวัดค่าสายตาอีกทีว่า มีค่าสายตาสั้นเหลืออยู่หรือน้อยลงหรือเปล่า หากเป็นสายตาสั้นเทียม หลังหยอดยาแล้ว ก็จะไม่มีค่าสายตาสั้นเลย หรืออาจจะมีแต่น้อยกว่าเดิมค่ะ
ผลเสียหากลูกใส่แว่น...แต่สายตาไม่สั้นจริง
หากคุณแม่เข้าใจว่าลูกสายตาสั้นจริง ทั้ง ๆ ที่ลูกสายตาสั้นเทียม แล้วรีบพาลูกไปตัดแว่นสายตาสั้น อาจทำให้สายตาของลูกคุ้นชินกับการเพ่งตลอดเวลา เมื่อลูกถอดแว่นจะทำให้มองเบลอจนไม่สามารถถอดแว่นได้ กลายเป็นเด็กติดแว่น ซึ่งอาจทำให้สายตาของลูกสั้นจริง ๆ ได้ แต่ก็สามารถแก้ไขได้ โดยการค่อย ๆ ลดการใส่แว่นลง เพื่อให้สายตาทำงานตามปกติ กระทั่งไม่ต้องใส่แว่นอีกค่ะ
5 วิธีถนอมสายตา
1. หลีกเลี่ยงให้ลูกใช้สายตาเพ่งเป็นเวลานาน ๆ เช่น อ่านหนังสือใกล้ ๆ เพ่งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และการมองสิ่งต่าง ๆ ใกล้ ๆ เป็นเวลานาน
2. พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยการมองไกล ๆ ครั้งละประมาณ 20-30 นาที
3. ขณะที่ใช้สายตาให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีแสงสว่างพอเหมาะ ถ้าอยู่ในที่มืดสายตาจะเพ่งมากขึ้น
4. ใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ให้น้อยลง อาจแบ่งเป็นช่วงเวลาของการใช้งานตามสัดส่วนของวัน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์หลังทำการบ้านครึ่งชั่วโมง เป็นต้น
5. ส่งเสริมกิจกรรมกลางแจ้งให้ลูกได้เรียนรู้มากขึ้น อาทิ เล่นกีฬากลางแจ้ง เดินเล่นในสวนหน้าบ้าน เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 381 ตุลาคม 2557