ในความเป็นจริงทารกมีอาการสะดุ้งตื่นร้องไห้กลางดึกมีหลายสาเหตุ
เบบี้ฝันร้ายได้หรือ ? (รักลูก)
เรื่อง : ศรัญญา เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ พญ.ดลจรัส ทิพย์มโนสิงห์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก
เมื่อทารกมีอาการสะดุ้งตื่นร้องไห้กลางดึก คุณแม่มักเข้าใจว่าลูกน้อยกำลังฝันร้ายแน่ ๆ แต่ในความจริงทารกตื่นร้องให้กลางคืนมีหลายสาเหตุค่ะ ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ลูกหลับสนิทตลอดคืนต่างหาก
ทารกฝันร้ายได้หรือ ?
เจ้าตัวเล็กของคุณพ่อคุณแม่มีประสบการณ์หรือภาพที่เห็นต่าง ๆ ไม่มากพอที่จะทำให้ฝันร้ายตอนนอนกลางคืนได้ค่ะ อาการฝันร้าย มักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 4 ปีขึ้นไป โดยส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่ลูกคิดเอง กิจกรรมที่ลูกเล่น ประสบการณ์ที่ลูกได้รับ สภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งอาการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น
สะดุ้งตื่นร้องตอนกลางคืนไม่ใช่ฝันร้าย
อาการสะดุ้งตื่นร้องในตอนกลางคืนของทารก เป็นเรื่องปกติของวัยนี้ เพราะลูกมักนอนไม่เป็นเวลา และนอนรวมนานวันละ 16-20 ชั่วโมง โดยแบ่งช่วงนอนครั้งละ 3-4 ชั่วโมง จะนอนหลับสลับตื่นเป็นช่วง ๆ จนกระทั่งอายุ 6 เดือน ลูกถึงจะนอนเป็นเวลามากขึ้นนอนราว 13-14 ชั่วโมงต่อวัน โดยช่วงเวลานอนนานขึ้นเป็นครั้งละ 6-8 ชั่วโมง หลังจากอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป ลูกจะสามารถนอนติดต่อกันได้ช่วงหลังเที่ยงคืนถึงรุ่งเช้า โดยไม่ตื่นขึ้นมาร้องงอแงเลย
สาเหตุ
การที่ลูกทารกสะดุ้งตื่นร้องตอนกลางคืน เพราะอาจหิวนม หรือไม่สบายตัวเพราะฉี่แล้วผ้าอ้อมเปียกแฉะ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ตอบสนองแล้ว ก็จะหายและนอนต่อได้
สำหรับเจ้าตัวเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป แล้วยังตื่นกลางคืนบ่อย ตื่นขึ้นมาร้องให้บ่อย ๆ นั้น มักเกิดจากความเคยชินที่ตื่นขึ้นมากินนมตอนกลางคืน หรือตื่นขึ้นให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มกล่อม หรือให้กินนมถึงจะหลับต่อได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ฝึกหัดลูกให้นอนหลับได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ ก่อนนอนมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานมาก หรือเล่นกับลูกแบบเร้าใจมาก ๆ เช่น เล่นสนุกกัน ร้องกรี๊ดกร๊าด หัวเราะเอิ๊กอ๊าก อาจทำให้ลูกสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนได้ หรืออาการเจ็บป่วย ไม่สบายใจ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองได้อย่างถูกต้อง
ผลต่อพัฒนาการ
เมื่อลูกนอนไม่พอหรือนอนไม่ได้คุณภาพ มีผลต่อการทำงานของสมอง ต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาการต่าง ๆ ด้านความจำ ด้านสติปัญญา ด้านอารมณ์ ทำให้ลูกมีอารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย มีอาการด้านลบออกมาได้มากขึ้น ทั้งยังมีผลต่อสมาธิทำให้ซน อยู่ไม่นิ่ง รวมทั้งมีพฤติกรรมความก้าวร้าวเกิดขึ้น ที่สำคัญจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูในแง่ของความสัมพันธ์และอารมณ์ คือ คุณพ่อคุณแม่อาจนอนไม่พอเหมือนลูก ทำให้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด ซึ่งส่งผลต่อการเลี้ยงดูลูก โดยเฉพาะพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของลูกได้
5 วิธีช่วยลูกหลับสบาย
1. อย่าตกใจ เมื่อลูกตื่นร้องกลางคืน อย่ารีบลุกขึ้นเปิดไฟ เข้าไปอุ้มลูกขึ้นจากที่นอน หรือป้อนนมให้ลูก ปล่อยให้ลูกร้องสักพักประมาณ 1-3 นาที โดยทั่วไปทารกจะหยุดร้องและนอนต่อได้เอง
2. ตอบสนองลูกเพียง "สัมผัส" หากปล่อยลูกร้องผ่านไป 3 นาทีแล้ว ลูกยังไม่หยุดร้อง คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ตอบสนองลูก เช่น ตบก้นเบา ๆ หรือใช้มือแตะตัวลูกเบา ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ข้าง ๆ และเป็นการทิ้งช่วงให้ลูกหลับต่อได้เอง
3. อย่าเพิ่งเปิดไฟ หรืออุ้มลูกทันที ให้สังเกตก่อนว่าที่ตื่นร้อง เพราะหิวหรือเปล่า เพราะฉี่หรือเปล่า แล้วค่อย ๆ ตอบสนองลูกอย่างเบามือ นุ่มนวล และให้เกิดเสียงเบาที่สุด
4. Bed Time Routine ฝึกวินัยการนอน เริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 6-8 เดืนอขึ้นไป จนกระทั่งลูกโตเลยนะคะ โดยให้เข้านอนเป็นเวลาเดิม ตื่นเป็นเวลาและตรงเวลา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวันธรรมดา หรือวันหยุดเป็นอย่างไร เมื่อลูกโตขึ้นหน่อย คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกนอนไม่เกิน 20.00-20.30 น.
5. ฝึกลูกนอนในที่นอนขงเขาเอง ในขณะที่ลูกเริ่มง่วงแต่ยังไม่หลับ สามารถฝึกลูกนอนด้วยตัวเองบนที่นอน โดยเริ่มจากการนำของที่ลูกชอบไปไว้ที่เตียงของลูก แทนการอุ้มกล่อมหลับ แล้วค่อยอุ้มลูกไปที่นอน แต่ต้องดูด้วยนะคะว่า ของชิ้นนั้นไม่ทำอันตรายลูก เช่น ไม่มีสายระเกะระกะที่สามารถพันคอ หรือพันตัวลูกได้ เป็นต้น จะทำให้ลูกได้เรียนรู้ว่าต้องนอนด้วยตัวเอง และหากลูกสะดุ้งตื่นกลางคืน เขาก็จะค่อย ๆ หลับต่อได้เองในเวลาต่อมา
เคล็ดลับช่วยลูกหลับสบาย
จัดบรรยากาศให้น่านอน ก่อนพาลูกเข้านอนประมาณ 20-30 นาที ห้องนอนลูกสะอาดและสบาย ไม่ต้องเปิดไฟจ้าจนเกินไป เปิดไฟสลัวพอมองเห็นทาง ที่สำคัญอากาศต้องไม่เย็นจัด หรือร้อนจนกินไป
อย่าให้ลูกหิวช่วงก่อนเข้านอน สำหรับเบบี้ คุณพ่อคุณแม่จะต้องอดทนตื่นมาให้นมลูก และเมื่อลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรให้กินนมก่อนเข้านอน
เล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ลูกอายุ 6-8 เดือน คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านหนังสือ หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง หรือร้องเพลงเบา ๆ พูดคุยกันเบา ๆ ในห้องที่ลูกนอนได้ เพื่อเป็นสัญญาการเข้านอนที่สำคัญอย่าลืมทำเป็นประจำทุก ๆ คืนนะคะ
ไม่ควรมีโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์อยู่ในห้องนอนของลูก
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงเบาใจลงที่ไม่ใช่อาการฝันร้าย ลองนำเคล็ดลับที่บอกไปใช้ดูนะคะ เพื่อให้เบบี้ของเราหลับสบาย และพัฒนาการดีวันดีคืนค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ปีที่ 32 ฉบับที่ 380 กันยายน 2557