หวานธรรมชาติรสอร่อยของเบบี๋

ขนมปังกรอบซอสอโวคาโด

หวานธรรมชาติรสอร่อยของเบบี๋
(modernmom)
เรื่อง : อมยิ้ม / ภาพ : เอกรัตน์ ศรีพานิชย์

          แม้ว่าปัญหาโรคอ้วนของเด็ก ๆ ในบ้านเราจะกลายเป็นเรื่องที่แม่ ๆ หลายคนเป็นกังวลกันมาก ยิ่งเมื่อรู้ว่า สาเหตุหนึ่งของโรคนี้มาจากพฤติกรรมติดหวานตั้งแต่เด็ก ทำให้แม่ ๆ ระวังเวลาจะเลือกสรรของกินให้เจ้าตัวเล็ก การเลี่ยงพฤติกรรมติดหวานของลูกทำได้ไม่ยากค่ะ เพียงแค่เลือกใช้แหล่งความหวานจากธรรมชาติ และให้ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ช่วยลดการติดหวานได้แล้ว

เบบี๋รับรสหวานได้เมื่อไหร่นะ

          รสหวานเป็นรสที่เกิดจากสารเคมีหลายชนิด เช่น กรดอะมิโน แอลกอฮอล์ น้ำตาล น้ำผึ้ง ข้าว แป้ง ฯลฯ เจ้าตัวน้อยได้ลิ้มรสหวานครั้งแรกจากการกลืนน้ำคร่ำในท้องคุณแม่ ซึ่งมีกลูโคส ฟรุกโตส กรดแลกติก เป็นส่วนประกอบหลักเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ เป็นการกระตุ้นตุ่มรับรสของทารกในครรภ์ โดยตุ่มรับรสหวานจะอยู่ส่วนหน้าของลิ้น เบบี๋สามารถรับรู้รสต่าง ๆ ได้ไวมาก โดยเฉพระรสหวานนั่นเอง

รสหวานจำเป็นกับเบบี๋ไหม

          รสหวานจำเป็นต่อเด็ก ๆ เพราะให้ทั้งพลังงานและโปรตีน เนื่องจากกลูโคส ฟรุกโตส เป็นสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ส่วนความหวานจากกรดอะมิโนก็ให้โปรตีนซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต แม้รสหวานจะมีความสำคัญกับเบบี๋ แต่ควรคำนึงถึงปริมาณ และชนิดของวัตถุดิบให้ความหวานที่จะนำมาปรุงเป็นเมนูโปรดของลูก ความหวานตามธรรมชาติมีให้เลือกสรรมากมายในผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเด็ก เพราะให้ใยอาหาร วิตามิน เกลือแร่ ทำให้ลูกเติบโตสมวัย

ทำไมเด็ก ๆ มักติดรสหวาน

          เบบี๋มักเรียนรู้จากพฤติกรรมซ้ำ ๆ และจะทำต่อเนื่อง เมื่อสิ่งนั้นทำให้พอใจ การรับรสหวานอย่างต่อเนื่องทำให้เบบี๋พอใจจนติดรสหวาน และเมื่อกินมากขึ้น ทำให้โอกาสที่เด็กจะยอมรับอาหารเริ่มที่ไม่หวาน หรือรสชาติที่ต่างออกไปน้อยลง ผลเสียที่ตามมาคือ เด็กจะกลายเป็นโรคอ้วน ฟันผุ ไม่ยอมเคี้ยว ชอบอมข้าว เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรรู้เท่าทันความหวาน และไม่หยิบยื่นความหวานจากวัตถุดิบสังเคราะห์อย่างน้ำตาลทราย น้ำหวาน ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงคู่ เมื่อสัมผัสกับลิ้นแล้วผสมกับน้ำลายจะให้กลูโคส ซึ่งเด็กจะรับรู้รสหวานเร็วและดูดซึมง่าย

แหล่งความหวานจากธรรมชาติ

          คุณแม่สามารรถเลือกวัตถุดิบ ที่ให้รสหวานจากธรรมชาติที่เหมาะสำหรับเด็กวัยขวบแรกได้หลากหลาย จากอาหารหลัก 5 หมู่ ทำให้ลูกน้อยได้เรียนรู้การกินอาหารที่นอกเหนือจากนมแม่ ด้วยวิธีการปรุงอาหารด้วยการต้ม ตุ๋น เคี่ยว นึ่ง

         หมู่ที่ 1 ข้าว ธัญพืช เช่น ข้าวกล้องงอก ข้าวซ้อมมือ ถั่วเขียว ถั่วแดง ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง ฯลฯ รสหวานจากกลุ่มนี้เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจากเม็ดแป้งที่สะสมอยู่ เมื่อนำมาต้มจนเปื่อยหรือตุ๋นจะได้แป้งที่แตกตัว ทำให้ย่อยง่าย ให้วิตามินบี 1 บี 3 บี 6 และวิตามินอีจากจมูกข้าว

         หมู่ที่ 2 เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น อกไก่ สันในหมู ปลาน้ำจืด ปลาทะเล กุ้ง ปลาหมึก ฯลฯ รสหวานจากเนื้อสัตว์ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะกรดกลูตามิก

         หมู่ที่ 3 ผักหลากชนิด เช่น ฟักทอง แครอต มันแกว แห้ว ยอดข้าวโพด ดอกกะหล่ำ ถั่วแขก ผักบุ้ง ผักกาดขาว หัวผักกาด ฟักเขียว ฯลฯ เป็นกลุ่มผักให้ความหวานจากคาร์โบไฮเดรตและเกลือแร่

         หมู่ที่ 4 ผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิ้ล มะละกอ มะม่วง แตงโม แคนตาลูป ขนุน เงาะ ฯลฯ ความหวานของผลไม้เหล่านี้ให้คาร์โบไฮเดรตเชิงคู่จากฟรุกโตส มอลโตส และซูโครส

         หมู่ที่ 5 ไขมัน เช่น ถั่วอัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ งา เนื้อมะพร้าว ฯลฯ ซึ่งให้น้ำมัน และมีความหวานจากคาร์โบไฮเดรต

            คุณแม่บางคนสงสัยว่า "รสหวานจากธรรมชาติจะทำให้เด็กติดรสหวานได้หรือเปล่า" แหล่งความหวานจากธรรมชาติจำพวกธัญพืช ผัก ผลไม้ นอกจากจะให้รสหวานแล้ว ยังให้เส้นใยอาหาร ทำให้ลูกรู้สึกอิ่ม โดยธรรมชาติเมื่อเด็กอิ่มจะไม่กินอาหารอย่างอื่น ดังนั้น ความหวานจากพืชผัก จึงไม่ทำให้เด็กติดรสหวาน แต่ควรระวังผลไม้รสหวาน มีข้อสังเกตว่าผลไม้มีความหวานไม่เหมือนกัน คือ หวานมาก หวานปานกลาง และหวานน้อย เด็ก ๆ มักชอบผลไม้ที่มีรสหวานมาก เช่น กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก องุ่น ดังนั้นคุณแม่ควรจัดสมดุล และสัดส่วนอาหารผักและผลไม้ให้พอเหมาะกับลูก ก็สามารถช่วยให้ไม่ติดผลไม้รสหวานอย่างเดียว เช่น ลูกชอบมะม่วง มะละกอ ก็จัดให้ปริมารมากเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับฝรั่งหรือชมพู่ บางครั้งการให้ผลไม้ทีหลัง จะทำให้เด็กได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสม

            นอกจากนี้ความหวานจากธรรมชาติที่ได้สัดส่วนพอเหมาะ ต่อความต้องการของลูกน้อย ยังสามารถควบคุมน้ำหนักลูกได้ดี ป้องกันไม่ให้หนูน้อยเป็นโรคอ้วนในอนาคตลดภาวะไขมันในเลือด ป้องกันและควบคุมเบาหวานได้ แถมยังช่วยระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้ดี อาจช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย

            รสหวานไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ แต่มีผลต่อสุขภาพร่างกายและพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของเจ้าตัวเล็กอีกด้วย นอกจากเลือกแหล่งความหวานจากธรรมชาติให้ลูกแล้ว ความเหมาะสมของปริมาณก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืม ใส่ใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วยนะคะ

อาหารเด็ก - ซุปข้าวกล้อง

เมนูรสหวานจากธรรมชาติ

ซุปข้าวกล้อง

6-8 month

เครื่องปรุง

            ปลายข้าวกล้อง ¼ ถ้วยตวง

            ฟักทองหั่นชิ้นสี่เหลี่ยม ¼ ถ้วยตวง

            ผักกาดขาว 1 ใบตัดเป็น 4 ท่อน

            น้ำเปล่า 2 ถ้วย

วิธีทำ

            ซาวปลายข้าวกล้องใส่ในหม้อตุ๋น ใส่ฟักทอง ผักกาดขาวเติมน้ำ ปิดฝาตุ๋นข้าวประมาณ 1-2 ชั่วโมง หมั่นคนเพื่อไม่ให้ข้าวไหม้ติดก้นหม้อ เมื่อข้าวเปื่อยดีแบ่งตักป้อนหนูน้อย

TIP :

            เมนูนี้ให้ความหวานธรรมชาติจากข้าว ฟักทอง ผักกาดขาว เหมาะสำหรับให้ลูกน้อยในมื้อแรก เพราะย่อยง่าย สำหรับมื้อที่สองคุณแม่ผสมไข่แดงต้ม ¼ ลูก เพิ่มคุณค่าโปรตีน ผักกาดขาวตุ๋น เพื่อให้ความหวาน หรืออาจใส่แครอตร่วมด้วย เมื่อเด็กกินได้ดีขึ้น สามารถตักผักที่ตุ๋นยีผสมในซุป 1-2 ช้อนชา สร้างความคุ้นเคยในการกินเส้นใยอาหาร นอกจากนี้การใช้เครื่องปรุงไม่กี่อย่าง ทำให้ง่ายต่อการสังเกตเรื่องการแพ้อาหารได้ด้วย

อาหารเด็ก - มันบดซอสถั่วลันเตา

มันบดซอสถั่วลันเตา

8-10 Month

เครื่องปรุง

            มันฝรั่งต้มบด 1/3 ถ้วย

            แครอตนึ่งหั่นสี่เหลี่ยมเล็ก 1 ช้อนโต๊ะ

            ไก่สับ 2 ช้อนโต๊ะ

            ถั่วลันเตากระป๋องยีด้วยส้อมพอหยาบ 1 ช้อนโต๊ะ

            น้ำมันถั่วเหลือง 1 ช้อนชา

            แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ

            หอมใหญ่สับ 1 ช้อนชา

            น้ำต้มกระดูก 1 ถ้วย

วิธีทำ

            1.รวนไก่สับ หอมใหญ่กับน้ำมันถั่วเหลืองด้วยไฟอ่อนพอสุกใส่มันบดคลุกให้เข้ากัน ใช้ช้อนเล็กตักแบ่งเป็นคำเล็ก ๆ เรียงใส่ถ้วย

            2.ต้มแครอต ถั่วลันเตากับน้ำต้มกระดูกด้วยไฟอ่อน ละลายแป้งข้าวเจ้ากวนใส่ซุปถั่วลันเตา เคี่ยวด้วยไฟอ่อนให้เปื่อย ตักราดมันบด

TIP :

            เมื่อลูกกินได้ดีขึ้นสามารถเพิ่มผักกาดขาวหั่นฝอยดอกกะหล่ำหั่นเล็ก ๆ ใส่ลงเคี่ยวในซอสถั่ว ช่วยเพิ่มใยอาหารรสหวานจากผักและยังสามารถใส่รวมกับน้ำต้มกระดูก ต้มเคี่ยวกรองเอาน้ำสต๊อกเพื่อนำมาปรุงซุปได้อีกด้วย

ขนมปังกรอบซอสอโวคาโด

ขนมปังกรอบซอสอโวคาโด

10-12 Month

เครื่องปรุง

          ขนมปัง 1 แผ่น

          ฟักทองนึ่ง ¼ ถ้วย

          อโวคาโด ¼ ถ้วย

          ไข่แดงต้ม ½ ฟอง

          อกไก่รวนสุก 30 กรัม

          มะม่วงสุก ¼ ถ้วย

วิธีทำ

          1.ขนมปังหั่นเป็นแท่งยาวเรียงใส่จานอบในเตาไมโครเวฟ 2 นาที กลับด้านขนมปังแล้วอบต่อ 2 นาที พักไว้

          2.บดฟักทองนึ่ง อกไก่รวน ไข่แดงรวมกันในเตาไมโครเวฟ 1 นาที

          3.ยีมะม่วงสุก อโวคาโดด้วยส้อม จนเนื้อเนียนเข้ากันเสิร์ฟกับขนมปังอบกรอบ

TIP :


          วัย 10-12 เดือน หนูน้อยเริ่มหยิบของ โดยกำทั้งมือขนมปังกรอบ ช่วยทำให้เจ้าหนูเพลิดเพลินกับการเรียนรู้รสชาติอาหาร ที่แปลกใหม่ได้ดี เมนูนี้อโวคาโดและมะม่วงเป็นผลไม้สด แนะนำให้ทำแล้วเสิร์ฟเลย ไม่เก็บแช่ค้างไว้




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.189 กรกฎาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หวานธรรมชาติรสอร่อยของเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 10 สิงหาคม 2554 เวลา 15:56:53 12,457 อ่าน
TOP
x close