สารพันปัญหา เมื่อถึงเวลาหม่ำ ๆ (Mother & Care)
Toddler health มิมิจัง
ถึงเวลาหม่ำ ๆ ของเจ้าหนูวัยเตาะแตะ เห็นลูกเจริญอาหารดี คุณพ่อคุณแม่ก็เบาใจ ในขณะที่อีกหลายครอบครัว ก็อดกังวลใจไม่ได้ กับพฤติกรรมการกินอาหารที่มักจะเป็นปัญหาทุกครั้งของลูกน้อย เด็กๆ บางคนชอบกินอาหารแต่แบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ บางคน ก็ร้องโยเยไม่ยอมกินข้าว บางทีกินไม่กี่คำก็บอกว่าอิ่ม ผักผลไม้ก็ไม่ยอมกิน เจ้าหนูบางบ้านกินได้กินดีแต่สิ่งที่กินเข้าไปถ้าไม่ใช่ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ขนมหวาน ก็ต้องเป็นอาหารประเภททอดทั้งหลาย หรืออาหารจานด่วนที่เราเรียกกันติดปากว่า ฟาสต์ฟู้ด สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นความกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่ก็จริง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นส่งตรงถึงตัวลูกน้อยไปเต็ม ๆ
โรคทางโภชนาการที่พบบ่อยครั้ง
โรคอ้วน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อใดที่เห็นเด็กน้อยแก้มยุ้ย ๆ ตัวกลม ๆ จ้ำม่ำ ๆ ผู้ใหญ่อย่างเรามักจะอมยิ้มกับความตุ้ยนุ้ยน่ารัก และจะรู้สึกเอ็นดูทุกครั้งเวลาได้เห็นเขามีความสุขกับการหม่ำ อีกทั้งเรามักจะคิดว่าเดี๋ยวโตขึ้นเด็กตัวยืดแล้วก็จะผอมเอง แท้จริงแล้วเรากำลังส่งเสริมให้เด็กน้อยติดอยู่กับความอ้วน ซึ่งถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ซึ่งส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่อตัวเด็ก ดังนี้
ขาดความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว ชักช้า อืดอาด จึงส่งผลให้เด็กหลีกเลี่ยงการเล่น การออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่เน้นการเคลื่อนไหว
เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และความผิดปกติของการหายใจ เป็นต้น
ผลกระทบทางด้านจิตใจและสังคม ซึ่งเกิดจากการถูกล้อเลียน หรือการที่เพื่อนไม่ชอบเล่นด้วยเนื่องจากความชักช้า อืดอาด อยากให้ลูกห่างไกลจากโรคอ้วน ก็ต้องให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ฝึกให้กินอาหารที่มีกากใย ผักและผลไม้หลีกเลี่ยงของหวาน ขนมกรุบกรอบ ลูกอม หรือดื่มน้ำอัดลม แม้แต่การดื่มนมก็ควรให้ดื่มในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกันนี้ควรส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่ได้ขยับเคลื่อนไหว และสนับสนุนให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
โรคขาดสารอาหาร
สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
โรคขาดโปรตีนและพลังงาน เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันในปริมาณที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพดีพอ ส่งผลให้เด็กที่ขาดจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีภูมิต้านทานโรคต่ำ รวมทั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย และสมองก็ไม่ดีเท่าที่ควร
โรคขาดวิตามินเอ อาการที่เห็นได้ชัดคือ การเจริญเติบโตหยุดชะงัก ภูมิต้านทานโรคต่ำ มีปัญหาด้านสายตาการมองเห็นอาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอดได้ ผิวหนังจะแห้งเป็นเกล็ด และมีตุ่มสาก ๆ ขรุขระคล้ายหนังคางคกป้องกันได้โดยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอสูง เช่น ตับ ไข่ นม ผักใบเขียวหรือ ผลไม้ที่มีสีเหลือง สีส้ม (ผักคะน้า ตำลึง ผักบุ้ง แครอต ฟักทอง มะละกอ มะม่วงสุก ฯลฯ)
โรคขาดธาตุเหล็ก ส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง ตัวซีด ตาซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เล็บเปราะบาง ลิ้นเรียบไม่มีตุ่ม และอักเสบ ป้องกันได้โดยการกินอาหารที่อุดมไปด้วย ธาตุเหล็กสูง ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ ตับ ไข่แดง เลือดหมู เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว เป็นต้น
อยากให้ลูกน้อยกินอย่างเป็นสุข และสนุกกับการกินขอแนะนำวิธีง่าย ๆ ที่จะเปลี่ยนมื้ออาหารแสนยุ่งยากให้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติของลูก เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบอิสระ และรักที่จะปฏิเสธหากรู้สึกว่าถูกบังคับหรือควบคุม
ชักชวนให้ลูกเข้าครัวช่วยจัดเตรียมอาหาร หรือจัดโต๊ะอาหารเพื่อให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม และให้ความสนใจ ใส่ใจในการกินอาหารมากยิ่งขึ้น
ควรกำหนดเวลากินอาหารในแต่ละมื้อให้ชัดเจน
จัดให้ลูกได้กินอาหารร่วมโต๊ะเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเดินป้อน และไม่ควรมีสิ่งอื่นใดมาดึงดูดความสนใจในขณะกินอาหาร เช่น ของเล่น หรือโทรทัศน์ เป็นต้น
ปล่อยให้เด็กตักข้าวกินเอง โดยคุณพ่อคุณแม่คอยดูและช่วยเหลือบ้างตามสมควร ทั้งนี้พยายามให้ลูกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย
ต้องเข้าใจว่าลูกยังเล็ก ดังนั้นระเบียบต่าง ๆ บนโต๊ะอาหาร ก็ต้องสอนต้องปรับทีละน้อย
สร้างบรรยากาศในการกินอาหารให้ผ่อนคลาย สนุกสนานพูดคุยกันแต่เรื่องดี ๆ
หากลูกเลือกไม่กินอาหารบางอย่าง เช่น ผัก หมู เต้าหู้ ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรบังคับ เพราะอาจทำให้เกลียดอาหารประเภทนั้นไปเลย ลองดัดแปลงเปลี่ยนเป็นเมนูต่าง ๆ และชักชวนกันกินก็น่าจะได้ผลดีขึ้น
หากลูกชอบอมข้าว ใช้เวลาในการกินช้า คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลา เช่น ไม่กินเกินครึ่งชั่วโมง เมื่อถึงเวลาก็ต้องเก็บลูกกินได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น และในระหว่างมื้อก็ไม่ควรให้กินอะไรจุบจิบ ยกเว้นน้ำได้อย่างเดียว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและใจแข็งมาก ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Vol.7 No.78 มิถุนายน 2554