x close

8 เทคนิคปรุงอาหารให้วัยซน

อาหารเด็ก

8 เทคนิคปรุงอาหารให้วัยซน (modernmom)
เรื่อง : โชติรส / ภาพ : ธาร ธงไชย

           ช่วงอายุ 1-3 ปี เมื่อเจ้าหนูฟันขึ้น และเริ่มกินอาหารแบบผู้ใหญ่ได้แล้วแต่กลับมีปัญหา เพราะจากที่เคยกินง่ายกลายเป็นกินยาก และห่วงเล่นมากกว่า ครั้งนี้ขอเสนอ วิธีจูงใจให้เจ้าหนูกินได้กินดี มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

1.เติมให้ครบ 5 หมู่ ในหนึ่งมื้อ

           คุณแม่คงเคยเห็นพีรามิดที่พูดถึงสัดส่วนอาหารหลัก 5 หมู่ ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ต่าง ๆ ดูแล้วช่างมากมายเหลือเกิน จะจัดสัดส่วนให้ลูกกินครบทั้งหมดได้อย่างไร อยากบอกว่าไม่ยากเลยค่ะ เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถลดและเพิ่มสัดส่วนเหล่านี้ได้ ในมื้ออาหารของลูกเอง ยกตัวอย่างเช่น แกงจืดเต้าหู้หมูสับใส่ผักหวานกับข้าวสวยร้อน ๆ ลูกจะได้คาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลจากข้าว โปรตีน และไขมันจากหมูสับและเต้าหู้ วิตามินต่าง ๆ จากผักหวาน และควรตบท้ายด้วยผลไม้ 2-3 ชิ้น เช่น แอปเปิ้ล มะละกอ หรือมะม่วงสุกเพื่อเพิ่มวิตามินและเกลือแร่

2.ขนาดอาหารก็สำคัญ

           คุณแม่รู้หรือไม่ว่า การที่ลูกปฏิเสธเมนูที่ทำให้นั้น อาจจะเป็นเพราะเหนื่อยที่จะเคี้ยวอาหารนาน ๆ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นผักบุ้งต้นใหญ่ ๆ ไก่ชิ้นโตหรือว่าข้าวแข็ง ๆ ก็ยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินข้าวมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ หั่นหรือตัดแต่งอาหารให้พอดีคำของลูก อาทิ ปั้นหมูสับเป็นก้อนเล็ก หั่นเนื้ออกไก่ให้เป็นลูกเต๋า หั่นผักต่าง ๆ เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อสะดวกในการบดเคี้ยวและไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปด้วย

           ทั้งนี้ นอกจากขนาดอาหารแล้ว ขนาดของช้อนส้อมก็ควรเป็นของใช้เฉพาะเด็ก เพราะว่าปลายจะมนกลมเข้ากับปากลูก ทำให้กินง่าย พอดีแก้ม และไม่ใหญ่คับลิ้นจนเกินไป

3.รักษาคุณค่าเต็ม ๆ คำ

           การรักษาคุณค่าทางอาหารเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พึงทำค่ะ เพราะว่าแม้เจ้าหนูจะกินข้าวได้มาก แต่ถ้าอาหารเหล่านั้นไม่ได้ถูกรักษาคุณค่าของสารอาหารเลย ก็ถือว่าเจ้าหนูเสียสิทธิ์ในสารอาหารนั้นไปเกือบครึ่ง ดังนั้นเรามาเรียนรู้วิธีปิดประตูไม่ให้สารอาหารรั่วไหลกัน

เริ่มต้นจากการล้างผัก คุณแม่ควรล้างผักด้วยด่างทับทิมหรือปล่อยให้น้ำไหลผ่าน โดยยังไม่จำเป็นต้องหั่นผัก มิฉะนั้น น้ำจะชะเอาวิตามินไหลไปพร้อมกับกระแสน้ำ อีกทั้งการปรุงต้องเน้นให้ไฟแรงเพื่อให้ผักสุกเร็ว และรีบเอาขึ้นคล้ายกับผักบุ้งไฟแดง เพื่อให้วิตามินไม่ถูกความร้อนทำลายไปมากนักด้วย

4.แทนขนมหวานด้วยผลไม้

           เจ้าหนูบางคนติดของหวานเพราะกินขนมตามพี่ ๆ หรือเพราะคนในบ้านตามใจ ขืนเป็นแบบนี้ไม่ดีแน่เพราะผลเสียที่ตามมานั้น มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ โรคเบาหวาน และโรคขาดสารอาหาร เพราะกินของหวานจนอิ่มแล้ว มักไม่มีพื้นที่ในท้องเหลือพอจะเติมอาหารมื้อหลักลงไปได้ ทำให้ร่างกายอ่อนแอเพราะได้รับแต่ของที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากผลกระทบที่เราเห็นตอนนี้แล้ว เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะกลายเป็นคนกินยาก สุขภาพไม่ดี และมีโรคภัยก่อนวัยอันควร

           หากเจ้าหนูติดกินขนม คุณแม่ต้องใช้ผลไม้เป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยแทน โดยเปลี่ยนเป็นผลไม้รสชาติอร่อย เช่น มะละกอ มะม่วงสุก แตงโม ชมพู่ เป็นต้น กำจัดขนมภายในบ้าน และปรับนิสัยให้กินเป็นเวลา รวมทั้งไม่กินของว่างหรืออาหารหลักหน้าทีวีอีกด้วย

5. คุ้นลิ้นหวานธรรมชาติ

           อาหารรสหวานกับเด็ก ๆ ย่อมเป็นของคู่กัน เพราะเด็กนิยมชมชอบอาหารรสหวานมากกว่ารสชาติอื่น ๆ ซึ่งมีผลให้เด็กกินง่ายและกินในปริมาณมากทีเดียว แต่เมนูรสหวานที่กำลังแนะนำนี้ ไม่ใช่ของหวานอย่างขนมหรือลูกอม แต่สิ่งที่จะแนะนำนั้นคือ วัตถุดิบที่มีรสหวานอร่อยที่ปลายลิ้นมาประยุกต์เป็นเมนูต่าง ๆ โดยไม่ต้องเติมน้ำตาลจนทำให้ลูกติดหวานค่ะ

           วัตถุดิบที่พูดถึงเหล่านั้น ได้แก่ หัวหอม มันเทศญี่ปุ่น มะเขือเทศ แครอต ถั่วหวาน ข้าวโพด ผักหวาน ฟักทอง ฯลฯ โดยนำมาต้ม ผัด หรือนึ่งประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ ก็ทำให้เขาติดใจในรสชาติที่เป็นธรรมชาติ โดยมิได้เติมแต่งรสชาติใด ๆ

6.แก้ท้องผูกด้วยอาหาร

           เรื่องท้องผูกนั้น เกี่ยวข้องกับอาหารการกินและความเจริญอาหารของเจ้าหนูโดยตรงเลยค่ะ เพราะเมื่อเจ้าหนูเกิดอาหารท้องอืดหรือท้องผูกปุ๊บก็จะมวนท้อง และไม่รู้สึกอยากอาหาร อ่อนเพลีย และเมื่อไม่ยอมกินอาหารที่มีกากใยเพิ่มเติม อาการท้องผูกก็จะทวีความรุนแรงขึ้น จนกลายเป็นโรคประจำตัวไป

           หนทางแก้ไขนั้นไม่ยาก เริ่มต้นจากการดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้อุจจาระนิ่ม จากนั้นต่อด้วยการกินอาหารที่มีกากใยสูง หรือถ้าลูกยังไม่อยากกินอาหารหนัก ก็ให้เสริมด้วยน้ำผลไม้ต่าง ๆ อย่างเช่น น้ำลูกพรุน น้ำมะเขือเทศ น้ำมะขาม เป็นต้น ก็จะช่วยลูกในการถ่ายท้องให้ง่ายขึ้นได้ค่ะ

7.เมนูหลากหลาย

           เจ้าหนูวัยนี้ค่อนข้างขี้เบื่อ และต้องการแสวงหารสชาติที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ถ้าคุณแม่ต้มแกงจืดหม้อเดียวกินทั้งสัปดาห์ เจ้าหนูอาจจะปฏิเสธเอาง่าย ๆ ควรมาปรับเมนูให้หลากหลาย ทำเมนูที่ไม่ซ้ำเดิม อย่างเช่น นำแกงจืดมาทำเป็นน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า เกี๊ยวน้ำ ข้าวต้ม เพิ่มคุณค่าด้วย หมูทอดหรือไก่ทอดอร่อย ๆ แทน แค่นี้ก็เรียกน้ำย่อยให้คืนกลับมาได้แล้ว

8.ปลาทูแหล่งโอเมก้า 3

           โอเมก้า 3 จากปลาแซลมอลถือเป็นเมนูที่ราคาไม่เบาเลยนะคะ ใครเลยจะรู้ว่า ปลาทูที่นอนตัวอวบอยู่ในเข่งก็มีโอเมก้า 3 ไม่แพ้ปลาแซลอล เช่นกัน แถมราคาไม่แพงด้วย ทั้งนี้ ปลาทูยังมีโปรตีนสูง กินง่าย ไม่คาวจัด ในเนื้อปลาทู 100 กรัม จะมีโอเมก้า 3 ประมาณวันละ 2-3 กรัม ซึ่งแต่ละวันร่างกายจะต้องการโอเมก้า 3 ประมาณวันละ 3 กรัม เพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง กลวิธีการปรุงก็คุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ ทอด ต้มยำน้ำใส หรือต้มเค็มแสนอร่อย ดังนั้น ปลาทูก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่อร่อยได้สุขภาพที่เด็ก ๆ ปฏิเสธยากค่ะ

           เห็นหรือไม่คะว่า การทำเมนูให้ลูกกินได้กินดีนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจกับเรื่องพื้นฐานในตัวลูก และใช้เวลาเตรียมอาหารและพิถีพิถันในการกินของลูกอีกนิด ลูกก็จะมีน้ำหนักตัวขึ้นตามเกณฑ์และมีสุขภาพดีจากภายในด้วยค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.187 พฤษภาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
8 เทคนิคปรุงอาหารให้วัยซน อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2554 เวลา 11:35:56 2,047 อ่าน
TOP