ข้าวหลากชนิด แบบไหนเหมาะกับเบบี๋

ข้าว

ข้าวหลากชนิด แบบไหนเหมาะกับเบบี๋
(modernmom)
เรื่อง : ซาดา / ภาพ : เอกรัตน์ ศรีพานิชย์

          ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ไม่เว้นแม้แต่เบบี๋ ที่เป็นอาหารนัมเบอร์ 2 รองจากนมแม่ เมนูอาหารเสริมของลูกน้อย ก็เริ่มต้นด้วยข้าวค่ะ เพราะข้าวไม่ได้มีเฉพาะคาร์โบไฮเดรตเท่านั้น เพราะความสนุกของข้าวไม่หยุดอยู่เพียงสีข้าวขาว แต่ปัจจุบันเทรนด์การกินข้าวมีหลายชนิด คุณพ่อคุณแม่คงกำลังสงสัยว่าแล้วเบบี๋จะกินข้าวสีเหล่านี้ได้ไหม ไปดูกันค่ะ

          ข้าวจัดเป็นกลุ่มอาหารธัญพืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเบบี๋ โดยเฉพาะข้าวไทยที่มีโปรตีน ชนิดที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ได้น้อยกว่าธัญพืช ที่นิยมในประเทศแถบตะวันตก เช่น กลุ่มข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ

          ส่วนสารอาหารที่อยู่ในข้าวนั้นจัดเป็นประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน (Complex Carbohydrate) ที่มีการย่อยและดูดซึมอย่างช้า ๆ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสมดุล โดยเฉพาะหากเป็นข้าวที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้องจะดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน มีสารอาหารหลากชนิด ข้าวปัจจุบันที่มีหลากชนิดเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเกรงว่าลูกน้อยจะกินไม่ได้ค่ะ เพราะเด็กสามารถกินได้ทุกชนิด เพียงแต่ต้องคำนึงถึงลักษณะความหยาบ ความละเอียดของข้าวที่จะนำมาทำเป็นอาหารเสริมให้ลูก เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพัฒนาการย่อยของวัยลูกน้อยด้วย ข้าวที่เรามักจะเห็นกันบ่อยตามท้องตลาด มี 5 ชนิดด้วยกัน

          ข้าวมันปู ชาวจีนโบราณเรียก ข้าวแดง หรือชื่อพื้นเมือง "อั้งคั่ก" ด้วยลักษณะข้าวที่มีสีน้ำตาลแดง ไม่ว่าจะผ่านการขัดสีหรือไม่ก็ตาม จึงอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นข้าวกล้อง ดังนั้นหากต้องการได้รับคุณค่าที่มากกว่า ควรเลือกข้าวที่ระบุว่าเป็นข้าวกล้องมันปู เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า จะมีจมูกข้าวติดอยู่ และมีสารแคโรทีนที่เมื่อกินแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกาย

          ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง เจ้าเยื่อหุ้มสีแดงนี้เอง เมื่อกินเข้าไปแล้วจะทำให้ได้รับประโยชน์จากสารแอนโทไซยานิน สารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเป็นข้าวกล้องหอมมะลิแดง จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นเดียวกันค่ะ

          ข้าวเจ้าหอมนิล เมล็ดข้าวมีสีออกม่วงดำ มีธาตุเหล็กสูงและจัดเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง แต่ถ้าต้องการให้มีคุณค่าทางโภชนาการเต็มที่ ก็ควรเป็นข้าวกล้องสีม่วงเข้ม (Cyanidin) สีชมพูอ่อน (Peodinin) และสีน้ำตาล (Pro-cyanidin) ในข้าวคือสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เป็นสารในกลุ่มของแอนติออกซิแดนต์มีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระ

          ข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ เมล็ดข้าวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้ม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของข้าว ด้วยการสีที่เอาเพียงเปลือก (แกลบ) ออกโดยที่ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำ) อยู่ จึงทำให้มีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และสารที่เป็นประโยชน์สูงกว่าข้าวขัดสี

          ข้าวกล้องงอก (Germinated Brown Rice หรือ "GABA-Rice") เมล็ดข้าวสีขาวขุ่น นั้นเพราะกระบวนการที่นำข้าวกล้องมาผ่านกระบวนการงอก ช่วงกระบวนการนี้เองที่จะมีสารอาหารที่ดีเกิดขึ้นมาโดยเฉพาะสารกาบา (GABA) ซึ่งในข้าวกล้องงอกมีมากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า ความสำคัญของสารกาบานั้น ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาททำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ป้องกันอาการนอนไม่หลับ ช่วยรักษาความดันของเลือด ให้ร่างกายสะสมไขมันน้อยลงจากการกระตุ้นฮอร์โมน ที่ช่วยในการเจริญเติบโต มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน

          เมื่อสารอาหารมากมี คุณพ่อคุณแม่คงต้องการให้เมนูข้าว บรรจุอยู่ในมื้ออาหารของลูกน้อย ไปดูกันว่า Rice’s Menu มีอะไรกันบ้าง

มากประโยชน์จากข้าวกล้อง

         ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงกว่าข้าวขาว 20-30% และไขมันชนิดดี

         วิตามินบี 1 ป้องกันโรคเหน็บชา มีวิตามินบี 1 มากกว่าข้าวขาว 3-4 เท่า

         วิตามินบี 2 ป้องกันโรคปากนกกระจอกข้าวกล้องมีวิตามินบี 2 มากกว่าข้าวขาว 60%

         วิตามินเอ ช่วยเรื่องการมองเห็น

         วิตามินอี สำคัญต่อสุขภาพผิว หัวใจ และระบบการหมุนเวียนโลหิต และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

         ธาตุเหล็ก ป้องกันโรคโลหิตจาง ข้าวกล้อง มีธาตุเหล็กมากกว่าข้าวขาว 2 เท่า ซึ่งดีกับเด็กที่ขาดธาตุเหล็ก

         แคลเซียมและฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่ใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน โดยเฉพาะวัยทารก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในกระเพะปัสสาวะ

         ซีลีเนียม จำเป็นสำหรับกล้ามเนื้อที่แข็งแรง เกี่ยวข้องกับระบบสายตา รวมทั้งการมีสุขภาพผิวและผมที่ดี และทองแดงช่วยสร้างเม็ดโลหิตและฮีโมโกลบิน

         แมกนีเซียม จะป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เกี่ยวข้องกับสมดุลแคลเซียม จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมให้กระดูกและฟันแข็งแรงด้วย และโพแทสเซียมช่วยลดความดันโลหิต ช่วยในกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อและเซลล์ประสาท

         ใยอาหาร ช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ ลดการท้องผูก ป้องกันโรคเกี่ยวกับลำไส้ และโรคมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจึงเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ข้าวกล้องมีใยอาหารสูงกว่าข้าวขาว 1.5 เท่า

         สารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น แอนโทไชยานิน ไฟโตสเตอรอล โทโคเฟอรอล ออริชานอล กรดโฟลิก

นอกจากอาหารกลุ่มข้าวแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถเลือกใช้ธัญพืชอื่น ๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย มาปรุงอาหารเสริมได้เช่นกัน เพราะอาหารแต่ละชนิดให้คุณค่าที่แตกต่างกัน เพียงแต่ให้สังเกตอาการ ที่อาจบ่งบอกถึงปฏิกิริยาการแพ้อาหารชนิดใหม่ ทุกครั้งที่เริ่มให้กิน และต้องได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วน

Modern Mom’s Tips

          สังเกตอาการแพ้ทุกครั้งที่เริ่มอาหารชนิดใหม่ โดยให้อาหารชนิดนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3-5 วัน ก่อนเปลี่ยนชนิดใหม่ ไม่ควรให้อาหารชนิดใหม่พร้อมกัน เพราะจะทำให้สังเกตอาการแพ้ได้ยาก อาการแพ้ได้แก่ มีผื่นตามผิวหนัง ท้องเสีย น้ำมูกไหล เป็นต้น

          ความหยาบและลักษณะเหมาะกับวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการที่ดี กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และช่วยให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อ

          สร้างความเคยชินให้ลูกด้วยการฝึกให้กินผัก และผลไม้ เป็นการสร้างนิสัยที่ดีกับลูกน้อย

เมนูอาหาร - อาหารเด็ก

ข้าวกล้องครูด

For Baby 6 เดือนขึ้นไป

ส่วนผสม

         ข้าวสวยกล้องหุงสุก 2-3 ช้อนโต๊ะ

         น้ำต้มผัก 1 ถ้วยตวง

         กระชอนหรือช้อน เพื่อบดข้าว

วิธีทำ

          1.นำข้าวสวยกล้องมาบดด้วยช้อน หรืออาจจะครูดผ่านกระชอน (ความหยาบของข้าวขึ้นอยู่กับอายุของลูกน้อย)

          2.นำข้าวสวยที่ครูดละเอียดแล้ว เติมน้ำต้มผักเล็กน้อย แล้วนำไปตุ๋นจนข้าวเปื่อย

          3.ก่อนนำไปป้อนลูกน้อย หากคุณแม่เห็นว่าข้าวข้นเกินไป อาจจะเติมน้ำต้มผักเพิ่ม เพื่อเพิ่มความคล่องคอเวลาลูกน้อยกินค่ะ

Tips

          อาจจะใช้กระชอนตาห่างขึ้น หรือบดหยาบ จะทำให้ได้ข้าวที่ไม่ละเอียดเกินไปเหมาะกับเด็กอายุประมาณ 1 ขวบ

          ใช้เครื่องบด บดข้าวสารกล้อง นอกจากจะช่วยผ่อนแรงแล้ว ยังทำให้ได้ข้าวที่นิ่ม และมีความละเอียดเหมาะสำหรับลูกน้อยวัยเริ่มอาหารเสริม

เมนูอาหาร - อาหารเด็ก

โจ๊กข้าวกล้องใส่ไข่ให้พลังงานสูง

For Baby 8-9 เดือน

ส่วนผสม

         ข้าวกล้องหุงสุก 3-4 ช้อนโต๊ะ

         น้ำซุป 1 ถ้วยตวง

         ตำลึงสับละเอียด 2-3 ช้อนโต๊ะ

         ไข่ไก่สด ½ ฟอง

วิธีทำ

          1.นำข้าวกล้องที่หุงสุกแล้วมาต้มในน้ำซุป

          2.เติมผักตำลึง ผักคะน้า ที่สับละเอียดลงไป แล้วเคี่ยวจนเปื่อยเป็นเนื้อเดียวกัน

          3.ใส่ไข่ แล้วคนให้ไข่กลืนเป็นเนื้อเดียวกับข้าว

          4.คนให้ทั่วจนไข่สุก จนผสมกลายเป็นเนื้อเดียวกัน หากข้นเกินไปอาจจะเติมน้ำซุปลงไปเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกน้อยกินง่ายขึ้น

Tips

          ตับและไข่ โดยเฉพาะไข่ขาวควรเริ่มหลังลูกน้อยอายุ 7 เดือนขึ้นไป

          แต่ละมื้ออาจจะเปลี่ยนเป็นเต้าหู้สลับกับผักหลากชนิด อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เริ่มอาหารชนิดใหม่นั้น ควรเริ่มทีละอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าลูกแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่ค่ะ

เมนูอาหาร - อาหารเด็ก

ข้าวต้มหลากสี

For Baby 9-10 เดือน

ส่วนผสม

         ข้าวกล้องหอมมะลิ, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องมันปู อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ

         แครอตหั่นเป็นลูกเต๋าเล็ก ๆ 1-2 ช้อนโต๊ะ

         เนื้อไก่หรือเนื้อหมูสับละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

          1.นำข้าวกล้องหอมมะลิ, ข้าวกล้องหอมนิล, ข้าวกล้องมันปู ผสมรวมกัน แล้วต้มในน้ำสะอาดจนข้าวสุก

          2.ใส่แครอตที่หั่นเป็นลูกเต่า เคี่ยวจนข้าว และแครอตเปื่อย เป็นเนื้อเดียวกัน

          3.เติมเนื้อไก่หรือหมูสับละเอียด

          4.คนให้ทั่ว แล้วต้มจนเนื้อสุก

Tips

          ผักที่เลือกมาใส่อาจจะเปลี่ยนเป็นผักที่มีสีสันสดใส เพื่อเพิ่มให้หน้าตาข้าวต้มดูน่ากินขึ้น เช่น มะเขือเทศสีส้มสดใส หรือบร็อกโคลี่

เมนูอาหาร - อาหารเด็ก

ข้าวกล้องมากเบต้า (แคโรทีน)

For Baby 10-12 เดือน

ส่วนผสม

         ข้าวสวยกล้อง 3-4 ช้อนโต๊ะ

         ฟักทองนึ่งบด 1-2 ช้อนโต๊ะ

         น้ำซุป 1 ถ้วยตวง

         เนื้อปลากะพงต้มสุก ยีละเอียด 1-2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ

          1.นำข้าวสวยกล้องผสมกับฟักทองนึ่งบดแล้วยีให้เข้ากัน

          2.เติมน้ำซุปลงไปเล็กน้อย จากนั้นนำไปนึ่งหรืออบต่ออีกประมาณ 5 นาที

          3.เมื่อสุกแล้ว ยีเนื้อปลาโรยหน้าข้าว

          4.เพิ่มความคล่องคอด้วยน้ำซุปผักเปื่อย ๆ หรือจะใส่ผักสับละเอียดเข้าไปด้วยก็ได้ จะทำให้ได้สารอาหารจากผักใบเขียวดียิ่งขึ้น

Tips

          สามารถใช้เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ได้ในวัยนี้ ยกเว้นอาหารทะเลประเภทมีเปลือก เพราะอาจจะทำให้ลูกแพ้อาหารได้

          การเริ่มปริมาณข้าวขึ้นกับอายุของเด็ก 6-7 เดือนเริ่มที่ข้าวสุกประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ จากนั้นจึงเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 ช้อนโต๊ะในช่วงอายุ 8-9 เดือน รวมถึงต้องแบ่งเป็น 2 มื้อ เมื่อเข้าสู่ช่วง 10-12 เดือนให้ได้ประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ แต่อาจจะแบ่งเป็น 3 มื้อค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข้าวหลากชนิด แบบไหนเหมาะกับเบบี๋ อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2554 เวลา 15:59:23 54,593 อ่าน
TOP
x close