x close

แม่ท้อง...ระวัง! ไตรกลีเซอไรด์สูง

ตั้งครรภ์



แม่ท้อง...ระวัง! ไตรกลีเซอไรด์สูง
(รักลูก)
เรื่อง : ก้านแก้ว

          คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันในเลือดสูง จะทำให้หลอดเลือดอุดตัน เกิดการหดรัดตัวของหลอดเลือด อาจอันตรายจนถึงขั้นหัวใจขาดเลือด แต่คุณแม่สามารถควบคุมไตรกลีเซอไรด์นี้ได้นะคะ

ลดไตรกลีเซอไรด์ด้วยยาลดไขมันได้หรือไม่?

          จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาลดไขมันนั้นเป็น teratogen คือ เป็นสารที่ส่งผลต่อความพิการส่วนระบบประสาท สมอง และแขน ขาของทารกในครรภ์ จึงไม่แนะนำให้ใช้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ และถ้าคุณแม่เคยทานยาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ควรงดการทานยาลดไขมันก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน

3 ปัจจัยเสี่ยงไตรกลีเซอไรด์สูง 

          ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่เกิดขึ้นได้จาก อาหารที่คุณแม่กิน และร่างกายสร้างขึ้นเอง โดยค่าไตรกลีเซอไรด์ในเลือดไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการมีไตรกลีเซอไรด์สูงมักจะเกิดจากปัจจัย ดังนี้

          กรรมพันธุ์ คือจากประวัติของคนในครอบครัวมีแนวโน้มที่ไตรกลีเซอไรด์สูงอยู่แล้วหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ และโรคอ้วน 

          พฤติกรรมกินอาหารไม่เหมาะสม เช่น ชอบทานอาหารรสหวาน อาหารจำพวกแป้ง ไขมัน ขนมเค้กไอศกรีมมากเป็นพิเศษ จะมีส่วนทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ค่ะ

          ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเกี่ยวกับไขมันอุดตันในเลือด โดยเฉพาะเมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ หลอดเลือดในส่วนล่างบริเวณขา อุ้งเชิงกราน และทวารจะไหลกลับสู่หัวใจได้ช้าและน้อยลง เนื่องจากมดลูกที่ขยายใหญ่ และเอียงมากดทับหลอดเลือดคำใหญ่ คุณแม่จะรู้สึกชาตามอวัยวะต่าง ๆ และมีอาการเป็นลมได้ง่ายค่ะ

ไตรกลีเซอไรด์สูงทำลูกตัวเล็ก

          คุณแม่ที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง โดยเฉพาะตั้งครรภ์ตอนอายุมาก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อตัวเองจากการอุดตันของหลอดเลือดและเส้นเลือดทั่วร่างกาย จนเกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้น้อยลง ส่งผลไปถึงอวัยวะที่จะนำอาหารและออกซิเจนไปสู่ลูกน้อยในท้องอย่างรกและสายสะดือด้วย เมื่อมีการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณนี้จะทำให้ลูกได้รับอาหารน้อยลงเป็นจำนวนมาก จากที่เคยได้รับจากแม่ 80% ก็อาจจะลดลงเหลือเพียงแค่ 40% ส่งผลให้ลูกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ได้ค่ะ

          ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์อายุไม่มาก แต่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง อาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีปัญหาบริเวณหลอดเลือดด้วย คุณแม่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษร่วมกับคุณหมออายุรกรรม เพื่อตรวจเช็กระดับไขมันและระดับความดันโลหิตอยู่เสมอ พร้อมทั้งทำอัลตราซาวด์ตรวจดูหลอดเลือดและดูการเจริญเติบโตของลูกน้อยเป็นระยะ โดยระยะแรกจะอัลตราซาวด์ทุก 1 เดือน ระยะที่ 2 ทุก 2 สัปดาห์และ 1 สัปดาห์ตามลำดับค่ะ

5 วิธีควบคุมไตรกลีเซอไรด์

          เนื่องจากไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่เกิดขึ้นได้จากการกินอาหาร วิธีควบคุมไขมันชนิดนี้ก็สามารถทำได้ผ่านการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้

          1.หากคุณแม่อยากกินอาหารรสหวาน ควรเลือกผลไม้รสหวานที่มีการดูดซึมน้อยกว่าผลไม้ชนิดที่ฉ่ำน้ำมาก เช่น เลือกแอปเปิ้ล เชอร์รี่ มะละกอ และส้ม แทนการทาน แตงโม ทุเรียน สับปะรด ขนุน และเงาะ เป็นต้น

          2.ควรงดดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน เปลี่ยนเป็นดื่มน้ำสมุนไพรอย่าง น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำมะตูม หรือน้ำผลไม้ที่ไม่หวานมาก เช่น น้ำฝรั่ง

          3.ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มันหรือหวานจัด ใช้น้ำตาลทรายในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มให้น้อยที่สุด รวมทั้งงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

          4.ออกกำลังกายที่เน้นการบริหารหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดบริเวณอุ้งเชิงกรานและขา เช่น ว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะในท่าที่ช่วยบริหารขาและอุ้งเชิงกรานค่ะ

          5.หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งห้อยขานาน ๆ เมื่อกลับถึงบ้านหลังเลิกงานควรพักขาในท่าพาดขาสูง เช่น พักขาไว้กับเก้าอี้หรือโต๊ะเตี้ย ๆ และนอนในท่าหนุนขาสูงด้วยหมอน เพื่อทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เป็นต้น
เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร หมั่นออกกำลังกายและตรวจเช็กระดับไขมันอยู่เสมอ ไตรกลีเซอไรด์ก็จะไม่มาอุดตันอยู่ในเส้นเลือดของคุณแม่ค่ะ



              
   
 คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 30 ฉบับที่ 360 มกราคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แม่ท้อง...ระวัง! ไตรกลีเซอไรด์สูง อัปเดตล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 13:58:41 20,136 อ่าน
TOP