x close

คุณพ่อมือใหม่อย่างผม...ก็ซึมเศร้านะ



คุณพ่อมือใหม่อย่างผม...ก็ซึมเศร้านะ
(รักลูก)

          ใครบอกว่าช่วงหลังคลอดคุณแม่เท่านั้นที่ทั้งเครียดและซึมเศร้าคนข้าง ๆ อย่างคุณพ่อเขาก็เครียดและซึมเศร้าได้เหมือนกันนะ

          นักวิจัยของสหรัฐอเมริกาบอกว่าหากคุณพ่อมีอาการซึมเศร้าแล้วล่ะก็ อารมณ์ฉุนเฉียวของคุณพ่อจะรุนแรงพอ ๆ กับพายุได้ฝุ่นเชียวล่ะ โดยเฉพาะช่วงที่ลูกอายุได้ 3-6 เดือนแรก อาการนี้จะกำเริบเป็นพิเศษ บางคนถึงขั้นทำร้ายลูกน้อยได้เลย

รู้ตัวหรือเปล่า...ว่ากำลังซึมเศร้า

          บางครั้งคุณพ่ออาจไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ไหน บางทีแค่เห็นคุณแม่ไม่ใส่ใจเหมือนเดิม ก็พลอยน้อยใจไปถึงไหน หรือเจอปัญหาเรื่องงานแค่นิดหน่อย ก็เครียดเหมือนโลกจะแตก อืมมม ลองทำใจนิ่ง ๆ แล้วเช็กตามอาการเหล่านี้นะคะ

          1.เฮ้อ...ชีวิตนี้มีแต่งาน ๆๆ ชัดแล้วล่ะค่ะ ถ้าในหัวคุณพ่อวนเวียนอยู่แต่เรื่องงานที่ต้องรับผิดชอบ ไม่เครียดก็ให้มันรู้ไป เพราะสาเหตุหลักของอาการซึมเศร้าในช่วงที่คุณแม่คลอดใหม่ ๆ เกิดจากความเครียดเรื่องงาน แถมช่วงนี้คุณพ่อเองมักจะรู้สึกว่าต้องมีความรับผิดชอบเรื่องลูกเพิ่มมาด้วย ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดอาการหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย และแสดงอาการรุนแรงกับคนรอบข้าง

          2.เอ๊ะ...หรือว่าเรายังไม่พร้อมจะมีลูก เพราะการมีลูกคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของคุณพ่อค่ะ ความรู้สึกต่างๆ นานา จึงมารวมกันเฉพาะกิจในช่วงนี้ รวมถึงความรู้สึกว่า “ผมยังไม่พร้อม” นี้ด้วย ยิ่งบวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกลามมาถึงครอบครัวด้วยแล้ว คุณแม่คงจะเห็นหัวหนาคอรบครัวเอามือก่ายหน้าผากหรือนั่งกุมขมับเสียจนชินใช่มั้ยคะ

          3.น้อยใจภรรยาจัง ก็แหม...ภรรยาเคยเอาใจใส่กันมากกว่านี้ แถมเมื่อก่อนยังมีเวลาไปไหนมาไหนด้วยกันสองคนออกจะบ่อย แต่ตอนนี้ กิจกรรมเดิมๆ กลับถูกลดทอนลงก็ต้องมีน้อยใจกันบ้าง เห็นอย่างนี้แล้ว คุณแม่ต้องให้เวลาคุณพ่อมือใหม่ได้รับตัวสักระยะนะคะ

          4.ไม่มีความสุขกับสิ่งที่เคยทำ ถ้าซึมเศร้ามากขึ้นจนสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบเริ่มบกพร่อง อันนี้เริ่มน่าเป็นห่วงแล้วล่ะ เช่น ไม่อยากทำงานที่ทำ ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่เคยทำ ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งรอบตัว อยากเก็บตัวเงียบๆ ไม่ตอบรับความเป็นไปของสังคม

          5.พ่อรักลูกนะ...แต่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่ว่าคุณพ่อไม่รับคุณลูกนะคะ แต่ไม่รู้ทำไมได้ยินเสียงร้องไห้งอแงของลูกทีไร เป็นต้องหงุดหงิดใจทุกที จนบางครั้งอยากจะเข้าไปดีให้เงียบๆ ถ้าแค่รู้สึกหงุดหงิดหรือแค่รำคาญไม่เป็นไรค่ะ แต่ถ้าหากคุณพ่อเริ่มทนไม่ได้จนอยากเข้าไปทำร้ายลูก ต้องรีบหยุดความคิดโดยเร็ว หรือปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อแก้ไขความผิดปกติทางอารมณ์ค่ะ

กำจัดอาการซึมเศร้า...ตั้งแต่ตอนนี้

          แค่ "รู้สึกซึมเศร้า" แต่ความเสียหายที่ตามมาอาจไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ฉะนั้น คุณพ่อจึงต้องเร่งกำจัดอารมณ์ไม่พึงประสงค์ให้หมดไปโดยเร็ว ด้วยวิธีต่อไปนี้

          1.งานเยอะ...ก็หาผู้ช่วยสิ คุณพ่อมือใหม่ที่รู้ตัวว่ามีเรื่องต้องรับผิดชอบหลายอย่าง การหาผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงในการเลี้ยงลูกก็เป็นทางออกที่ดีค่ะ อาจจ้างพี่เลี้ยงเด็กที่มีประสบการณ์และไว้ใจได้หรือเป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ท่านก็น่าจะยินดีค่ะ แล้วให้แบ่งสลับกันเลี้ยงกับคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อน หรือมีเวลาส่วนตัวกับคุณพ่อบ้าง อย่างน้อยๆ ความเครียดเรื่องการเลี้ยงลูก ก็สามารถถูกจัดการได้ระดับหนึ่ง

          2.เปิดใจคุยกันดีกว่านะ ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทางออกที่ดีที่สุดก็คือการเปิดใจคุยกันค่ะ เพราะหากเรารับรู้ปัญหาของอีกฝ่าย ก็จะได้ช่วยกันแก้ปัญหาให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ขอเพียงแค่ไม่ยืดติดหรือเก็บปัญหาไว้เพียงลำพัง จนเกิดความเครียดสะสม แล้วกลายเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรงในที่สุด ถึงตอนนั้นผลที่ตามมา อาจร้ายแรงเกินกว่าจะแก้ได้

          3.หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำดูบ้าง ก็ลองหาอะไรใหม่ๆ ทำดูสิคะ หากเป็นกิจกรรมที่ให้คุณแม่และคุณลูกได้มีส่วนร่วมด้วยก็ยิ่งดี หรือลองหาโอกาสไปข้างนอกกับภรรยาบ้าง (โดยฝากลูกไว้กับญาติผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ) เช่น ไปทานอาหารที่ร้านบรรยากาศดีๆ จากนั้น ก็ไปเลือกซื้อชุดสวย ๆ ให้ลูก ทำแล้วความรู้สึกดีๆ ของการเป็นครอบครัวและความเป็นคุณพ่ออาจกลับมาก็ได้

          4.ลองใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้น เข้าใจค่ะว่าบางครั้งคุณพ่อก็กล้าๆ กลัวๆ ที่จะเข้าใกล้ลูก อยากอุ้มก็กลัวลูกเจ็บ คุณพ่ออาจเริ่มจากไปนั่งให้กำลังใจอยู่ข้างๆ คุณแม่ตอนให้นม ลองช่วยคุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อม หรืออาบน้ำให้ลูกด้วยตัวเองดูบ้าง ค่อยๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เชื่อเถอะค่ะ ว่าแววตาใสๆ ของเจ้าตัวน้อยที่ส่งมาถึงคุณพ่อซึ่งจะช่วยดับความแข็งกร้าวทั้งหลายให้หายไปได้ไม่ยาก

          5.มองโลกแง่บวกเข้าไว้ ให้เราบอกกับตัวเองเสมอนะคะว่า จะต้องเข้มแข็งเพื่อลูกให้ได้ เพราะหากคุณพ่อมีจิตใจที่เข้มแข็ง ก็จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญ ที่ช่วยคุณแม่เลี้ยงเจ้าตัวเล็กให้เติบโตแข็งแรง และได้รับความรักจากคุณพ่อคุณแม่อย่างเต็มที่ค่ะ

          ขอส่งกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนผ่านช่วงเวลาเหน็ดเหนื่อยเคร่งเครียดนี้ไปอย่างราบรื่น และมีความสุขกับการเลี้ยงลูกให้มากที่สุดนะคะ


            


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 347 ธันวาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณพ่อมือใหม่อย่างผม...ก็ซึมเศร้านะ อัปเดตล่าสุด 26 ธันวาคม 2566 เวลา 16:24:42 4,888 อ่าน
TOP