x close

รับมือ 7 ความเปลี่ยนแปลงหลังคลอด



          การดูแลสุขภาพหลังคลอดต้องเตรียมตัวอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับจากนิตยสาร รักลูก ในการรับมือกับอาการต่าง ๆ ที่จะตามมาหลังคลอดอย่างเหมาะสมมาฝากคุณแม่กันค่ะ เพราะหากคุณแม่เครียดอาจเกิดภาวะซึมเศร้า จะส่งผลกระทบต่อลูกในระยะยาวได้ค่ะ ดังนั้นมาวางแผนการเลี้ยงลูกหลังคลอดกันดีกว่าค่ะ


          ทั้งร่างกายและจิตใจคุณแม่จะพบการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลังคลอด จึงต้องรู้จักรับมืออย่างเหมาะสมค่ะ

 1. ปวดมดลูก & อึดอัดจุดซ่อนเร้น

          หลังคลอดมดลูกยังมีขนาดใหญ่อยู่ค่ะ โดยยอดมดลูกจะอยู่ระดับสะดือ เวลาเดินจึงรู้สึกเหมือนมีอะไรโยกเยกในท้อง เจ็บบริเวณเหนือขาหนีบ เพราะเป็นบริเวณที่มดลูกยืดเกาะกับกระดูกเชิงกราน ทำให้ตอนเดินรู้สึกเจ็บลุกเดินไม่สะดวก

          นอกจากนี้มดลูกจะหดรัดตัวเพื่อขับน้ำคาวปลาออกมา ในช่วง 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะมีสีแดงสด ผ่านไป 1-2 สัปดาห์ เป็นสีแดงจาง ๆ ครั้น 1 เดือนไปแล้วจะมีสีใส ๆ โดยน้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาพร้อม ๆ กับที่มดลูกมีขนาดเล็กลง ทำให้ช่วงเดือนแรกหลังคลอด คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัว เฉอะแฉะ อึดอัด ปวดท้องน้อย และกังวลอยู่ตลอดเวลาได้

วิธีรับมือ

         ให้ลูกกินนมแม่ จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ไว เมื่อลูกดูดนมร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยขับน้ำคาวปลาออกมา แม้ปวดท้องน้อยแต่ให้นึกไว้เสมอว่านี่คือการช่วยคุณแม่กลับมาเป็นคนเดิม น้ำหนักลดไว มีรูปร่างเหมือนเดิม

         เอนหลังผ่อนคลาย นอนพักในท่าตะแคงซ้าย เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ดีขึ้น

         ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดอาการปวดท้องน้อยได้

         เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ เนื่องจากน้ำคาวปลาที่ออกมาอาจทำให้บริเวณจุดซ่อนเร้นอับ และคันได้

 2. อ่อนเพลีย เพราะนอนน้อย

          เพราะต้องตื่นมาดูแลลูกกลางดึก เวลาลูกร้องไห้ก็ต้องให้นม และคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย ทำให้นอนน้อย ระแวงว่าลูกจะร้องตอนไหน ขณะช่วงกลางวันก็ต้องทำงานบ้าน เตรียมอาหาร จึงอ่อนเพลียและเครียดได้ง่าย

วิธีรับมือ

          ต้องเข้าใจก่อนว่าลูกน้อยกำลังปรับตัวกับโลกใบใหม่ ไม่ได้รับอาหารจากสายสะดือแล้ว ลูกจะตื่นทุก ๆ 2 ชั่วโมงกลางดึก คุณแม่ควรคิดว่าทุกครั้งที่ตื่น คือเวลากระตุ้นน้ำนม จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น และได้โอบกอดปลอบโยนลูกยามร้อง ได้สร้างความรักความผูกพันระหว่างแม่ลูกด้วย

 3. ถ่ายไม่ออก

          ช่วงหลังคลอดจะยังมีฮอร์โมนช่วงตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อร่างกายอยู่อีก 2 เดือน ทำให้ลำไส้ขี้เกียจทำงาน ทั้งอยู่ในช่วงให้นมลูก ร่างกายเสียน้ำเพื่อไปสร้างน้ำนม ยิ่งคุณแม่ดื่มน้ำน้อยจะทำให้ท้องผูกมากขึ้น

วิธีรับมือ

          ควรดื่มน้ำเยอะ ๆ วันละ 2-3 ลิตร กินผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี และช่วยให้ผิวพรรณดีขึ้นด้วยค่ะ

 4. รูปร่างเปลี่ยนไป

          ทั้งน้ำหนักตัวที่ยังเยอะอยู่ เต้านมก็หย่อนคล้อย ทำให้คุณแม่ขาดความมั่นใจในตัวเองได้ แต่ตามปกติหลังคลอดช่วงสัปดาห์แรก น้ำหนักจะลดลง 7 กิโลกรัมค่ะ และภายในหนึ่งเดือนก็จะลดลงอีกประมาณ 3 กิโลกรัม

วิธีรับมือ

          ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำกัดอาหารกลุ่มแป้งของทอดหรือแกงกะทิ ดื่มน้ำเยอะ ๆ ออกกำลังกายเบา ๆ ช่วยสลายไขมันและเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นส่วน ๆ เช่น หน้าท้อง ต้นขา ช่วงอก และใส่ชุดชั้นในที่ช่วยประคองเต้านม ได้ทั้งน้ำหนักลดและรูปร่างฟิต แอนด์ เฟิร์ม กลับมาค่ะ

 5. ช่องคลอดเปลี่ยนไป

          ขณะตั้งครรภ์ อุ้งเชิงกรานและช่องคลอดต้องรับน้ำหนักทั้งมดลูก น้ำคร่ำ รก และลูกรวมกันกว่า 6-7 กิโลกรัม จึงมีโอกาสหย่อนคล้อยจนคุณแม่บางคนรู้สึกว่ามีลมออกทางช่องคลอดได้

วิธีรับมือ

          เลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายที่หักโหม กระชับช่องคลอดด้วยการขมิบช่องคลอดวันละประมาณ 50 ครั้ง ขมิบนานครั้งละ 5-10 วินาทีจะช่วยให้ช่องคลอดกระชับขึ้น

 6. หน้าบวม ตัวบวม

          อย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมหลังคลอดตัวเองถึงตัวบวมขนาดนั้น จนไม่กล้าพบใคร ไม่กล้าถ่ายรูปกับลูกหรือญาติที่มาเยี่ยม ที่เป็นแบบนี้เพราะมดลูกกำลังลดขนาดลง มีการไหลเวียนของหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะยุบลงเองภายใน 2 สัปดาห์ค่ะ

วิธีรับมือ

          ลองปรับท่านั่งและท่านอน เช่น นั่งพักในท่ายกขาสูง หลีกเลี่ยงการนั่งห้อยขานาน ๆ จะช่วยลดการบวมได้เร็วขึ้น เวลาถ่ายรูปอาจใช้มุมกล้องช่วย เช่น ถ่ายภาพครึ่งตัว เอียงหน้า แต่งหน้านิดหน่อยเพิ่มความสดใส แค่นี้ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองบวมแล้วค่ะ

 7. ซึมเศร้า หดหู่

          ความผิดปกติทางอารมณ์ของคุณแม่อาจเกิดขึ้นเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือเกิดจากความเครียด และอาจส่งผลต่อการเลี้ยงลูกได้ ยิ่งครรภ์แรกด้วยแล้ว การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องใหม่มาก ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ในครอบครัวให้คำแนะนำจะยิ่งเครียดหนัก จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่อยากเลี้ยง และไม่อยากตั้งครรภ์อีกเลยก็ได้

วิธีรับมือ

         กำลังใจสำคัญที่สุดคือคุณพ่อและสมาชิกในครอบครัว คุณพ่อควรอยู่เคียงข้างคุณแม่ คอยช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ของลูก เป็นต้น

         เป็นที่ปรึกษาเวลาคุณแม่เครียด เรียนรู้การเลี้ยงลูกไปด้วยกัน จะช่วยให้คุณแม่คลายซึมเศร้าไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง และมีกำลังใจเลี้ยงลูกน้อยต่อไปค่ะ

          รู้วิธีรับมือแล้ว ต้องปฏิบัติด้วยนะคะ จะทำให้หลังคลอด ร่างกายคุณแม่กลับสู่ปกติเร็วขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 396 มกราคม 2559


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือ 7 ความเปลี่ยนแปลงหลังคลอด อัปเดตล่าสุด 29 มีนาคม 2559 เวลา 10:03:52 6,415 อ่าน
TOP